‘ก้าวไกล’ จวกนโยบาย ‘สิ่งแวดล้อม’ มีแต่วาทกรรม

12 ก.ย. 2566 - 11:10

  • ‘ก้าวไกล’ อัดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม มีแต่วาทกรรม ติงหา ‘นโยบายกำจัดขยะ’ ไม่เจอ

  • ด้าน ‘ศนิวาร’ งง! ‘เอญนีโญ’ ไม่อยู่ในวาระเร่งด่วน

MFP-criticizes-environmental-policy-only-rhetoric-SPACEBAR-Hero
พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลว่า ไม่มีการกำหนดขั้นตอน และกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นนโยบายสิ่งแวดล้อมที่มีแต่วาทกรรม ปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่มีการพูดถึงแทบทุกวัน คือปัญหาการจัดการขยะ ที่รัฐบาลที่แล้วพยายามซุกไว้ใต้พรม ซึ่งดูแล้วรัฐบาลใหม่กำลังจะเดินตามรอยนั้น ที่น่ากังวลคือท่านจะเอาพรมมาวางทับไปอีกชั้นหนึ่ง  

“หาข้อติติงนโยบายการจัดการขยะไม่ได้เลย เพราะไม่มีคำว่าขยะอยู่ในนโยบายเลย ซึ่งในรัฐธรรมนูญระบุว่า รัฐบาลต้องจัดการให้มีการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น” พูนศักดิ์ ระบุ 

นอกจากนี้ ขอฝากการบ้านให้นายกรัฐมนตรี ช่วยกันคบคิดแก้ปัญหา เพราะนโยบายที่ออกมานั้นจับต้องไม่ได้ ทำให้ไม่เชื่อว่าจะจัดการปัญหาขยะได้ ซึ่งรัฐบาลจะมีมาตรฐานการดำเนินงานในการควบคุมบ่อขยะอย่างไร จะมีระบบอย่างไรที่จะทำให้บ่อขยะเหล่านี้มีระบบควบคุม บำบัด และจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  

“รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้ขยะเป็นวาระแห่งชาติ ในปี 2557 ต่อมาปี 2559 มีนโยบายเมืองไทยไร้ขยะ โดยมีแผนแม่บทจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ แต่เราจ่ายเงินไปมากกว่า 3,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2562 ในการติดตั้งระบบจัดการขยะให้กับเทศบาลใหญ่ๆ ของประเทศ แต่จากการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ น่าเศร้าว่า กว่าครึ่งของระบบที่ติดตั้ง ใช้ไม่ได้ หรือหยุดดำเนินการ” พูนศักดิ์ ระบุ     

พูนศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ท่านจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ของรัฐบาลชุดก่อนอย่างไร เพราะหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบการจัดการขยะขณะนี้มี 16 กระทรวง ซึ่งต่างพอใจที่จะจัดการขยะที่ตัวเองรับผิดชอบ ขณะเดียวกัน อัตรารีไซเคิลของประเทศไม่เพิ่มขึ้นมากว่า 10  ปีแล้ว ซึ่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมากว่า 10 ปี โดยที่รัฐบาล คสช. เคยผ่านวาระที่หนึ่งมาแล้ว แต่จากนั้นถูกปัดตก จนปัจจุบัน รัฐบาลหมดวาระไปแล้ว ยังไม่พบว่ามีการนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กลับมายังกระบวนการของรัฐสภาอีกเลย จึงขอใช้โอกาสนี้ ตามหาร่างกฎหมายดังกล่าว 

จากนั้น ศนิวาร บัวบาน สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายว่า น่าแปลกใจที่ปรากฏการณ์เอญนีโญ ไม่ได้ถูกบรรจุในวาระเร่งด่วน ทั้งที่เอญนีโญ เป็นที่มาของภัยแล้ง อาจสร้างความเสียหายถึง 5.0-7.8 หมื่นล้านบาท เพราะ 3 ใน 4 ของพื้นที่การเกษตรอยู่นอกเขตชลประทาน ทำให้การเพาะปลูกในปีหน้า มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ เชื่อว่าประชาชนยังอยากเห็นแนวทางป้องกันปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ  

“สุดท้าย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ครม.เศรษฐา 1 จะเป็น ครม.ที่คิดถึงประชาชน รุก รับ ปรับตัวได้ไว และมีธรรมาภิบาล” ศนิวาร ระบุ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์