อ่านความคิด ‘ผู้นำเทรนด์ นศท.’ ต่อ ‘นโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหาร’ ชิมลางสมรภูมิเลือกตั้ง

20 เม.ย. 2566 - 04:20

  • ‘กิตติภัทร ภูศิริ’ เจ้าของ ฉายา ‘ราชา นศท.’ กับบทสนทนา ว่าด้วยเรื่องมุมมอง ‘นโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหาร และ ‘การปฏิรูปกองทัพ’

  • ‘ปิยะภพ เอนกทวีกุล’ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชี้ ‘การลดขนาดกองทัพ’ เคยเกิดขึ้นมาแล้วแต่ไม่สำเร็จ เพราะทหารไม่ปรับตัว

Military-students-with-the-idea-of-abolishing-forced-conscription-SPACEBAR-Thumbnail
โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ถือเป็นช่วงที่บรรดาพรรคการเมืองเร่งรัดออกนโยบายเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก ราวดอกเห็ดผุดหน้าฝน เรียกได้ว่าไม่มีใครยอมใคร กล่าวถึงห้วงเวลาหน้าหาเสียงซึ่งตรงกับ ฤดูจับใบดำ-แดง เข้ากรมกันเป็นแถบ ดังนั้นนโยบายการปฏิรูปกองทัพ โดยเฉพาะประเด็น ‘การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร’ จึงกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึง มีวิวาทะทางการเมืองเกิดขึ้นมากมายแทบทุกวัน  

อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่พูดกันวันสองวันไม่มีทางจบหาข้อสรุปได้ยาก แต่หากฟังความจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะได้แนวคิดเห็นที่น่าสนใจ จริงๆ คน 70 ล้านคนคงเป็นเรื่องยากที่จะซาวด์เช็กครบถ้วน แต่หากเลือกพลเรือนแต่มีหลักนิยมกองทัพ อาจเป็นมุมมองใหม่ที่หลากมิติ ผู้เขียนชวน ‘กิตติภัทร ภูศิริ’ เจ้าของ ฉายา ‘ราชา นศท.’ นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 5 ผู้ถูกพูดถึงบนโลกโซเชียล ครบแง่มุมทั้งวิพากษ์วิจารณ์  

ในฐานะ นศท. ผู้คลั่งไคล้เครื่องแบบทหาร และนำหลักปฏิบัติกองทัพมาใช้ในชีวิตประจำวัน อย่าง ‘กิตติภัทร’ อนาคตว่าที่ร้อยตรี ทหารปืนใหญ่ ในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ความเห็นว่า จากปรากฏการณ์สังคมทุกวันนี้ต้องยอมรับสถาบันความมั่นคงและการทหารมีเกณฑ์ความนิยมต่ำ เพราะมีประชาชนบางส่วนไม่เข้าใจกระบวนการการจัดการของกองทัพ โดยเฉพาะประเด็นการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ที่ส่วนตัวมองว่ายังสำคัญ ภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศของเมืองไทย มีพื้นที่ติดขอบชายแดนทุกภูมิภาค ต้องมีบุคลากรความมั่นคงดูแลอย่างทั่วถึง  

ในส่วนกรณีที่พรรคการเมืองฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยหลายพรรค พยายามผลักดันเรื่องปฏิรูปกองทัพในแง่มุมต่างๆ กิตติภัทร เชื่อว่าทางกองทัพเองมีหลายอย่างต้องปรับเพื่อพัฒนา ซึ่งนโยบายต่างๆ ของพรรคฝ่ายค้านมีความน่าสนใจ ซึ่งมีหลายเรื่องที่เห็นด้วย แต่ยังคิดภาพไม่ออก ว่าจะสามารถทำได้อย่างที่นำเสนอหรือไม่ ต้องมีแผนการรับรองเตรียมความพร้อมว่าหากยกเลิกการเกณฑ์ทหาร จะหาอัตรากำลังพลจากไหนมาช่วยปกป้องประเทศยามคับขัน 

“ยกเลิกคงทำได้แค่ชั่วคราว เพราะอย่าลืมว่าเมืองไทยไม่ใช่เกาะแบบญี่ปุ่น แต่มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน กำลังพลจึงเป็นเรื่องสำคัญในการรักษาอธิปไตย หากยกเลิกประเทศก็ต้องดึงกำลังพลสำรองเข้ามาทดแทน แต่สำหรับ รด. บางคนไม่มีความพร้อม โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในชั้นปีที่ 1 – 3 อันเป็นกำลังสำรองส่วนมาก ดังนั้นการเกณฑ์ทหารยังคงสำคัญ และผมมองว่ากองทัพมีระบบจัดการที่ดีพอ และเปิดโอกาสให้ผ่อนผัน มีอีกหลายเรื่องมันทำวันนี้ไม่ได้ คงต้องใช้เวลาศึกษาเพื่อความเข้าใจ” กิตติภัทร กล่าว
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5jGttva8VrgJHnmm2Qp879/c89730f3341833bdd5981872d3ee1d80/Military-students-with-the-idea-of-abolishing-forced-conscription-SPACEBAR-Photo01
Photo: ‘กิตติภัทร ภูศิริ’ เจ้าของ ฉายา ‘ราชา นศท.’
อนาคตว่าที่ร้อยตรีหนุ่ม กล่าวต่อว่า หากรัฐบาลคือกลุ่มพรรคการเมืองที่สนับสนุนการปฏิรูปกองทัพก็ต้องมีการส่งเสริมเรื่องงบประมาณด้วย เพราะหากลดจำนวนกำลังพลเเล้ว และยังมีการปรับลดงบประมาณอีก อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคง ซึ่งแนวทางที่คิดว่าควรจะทำคือเพิ่มงบกองทัพในส่วนของเทคโนโลยีอาวุธยุธโธปกรณ์ เพื่อจูงใจให้มีผู้มาสมัครเป็นทหารอาชีพเต็มอัตราที่เพียงพอ  

อย่างไรเสีย กิตติภัทร ได้ฝากข้อความไว้ว่า อยากให้ประชาชนเข้าใจบริบทของการทำหน้าที่และความสำคัญของทหารเกณฑ์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อสังคมหลายมิติ มากกว่าการฝึกซ้อม หรือการปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่นคง ยังมีมุมอื่นๆ ที่ทหารเข้ามาส่วนพัฒนาชาติหลายประการ แต่ขณะเดียวกันกองทัพเองก็ต้องพัฒนาความมั่นคงให้กับบุคลากรรากหญ้า โดยเฉพาะการฝึกทักษะด้านต่างๆ เพื่อให้มีอาชีพรองรับหลังปลดราชการไปแล้ว 

“คุณต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการรับประกันด้วย ว่าการลดขนาดกองทัพหรือยกเลิกการเกณฑ์ทหารจะไม่ส่งผลต่อความมั่นคง ส่วนประเด็นที่ถามว่าหากมีการจัดสรรตามกระบวนการครบแล้วจะเปลี่ยนใจมากาบัตรหรือไม่ เรื่องนี้ผมไม่ตอบครับ” กิตติภัทร กล่าวทิ้งท้าย 

จริงๆ แล้วบทสนทนาระหว่างผู้เขียนกับ ‘ราชา นศท.’ ยังมีอีกมากที่ยังไม่กล่าวถึง โดยเฉพาะประเด็นความชอบส่วนตัวและไลฟ์สไตล์การแต่งเครื่องแบบทหาร ขอให้ผู้อ่านอดใจรอบทความชิ้นต่อไปของสื่อออนไลน์ SPACEBAR เร็วๆ นี้ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5ZCJqu9oPvLTsy12SARBFb/f958477b58395aa7b78864a891882ef7/Military-students-with-the-idea-of-abolishing-forced-conscription-SPACEBAR-Photo02
อย่างไรเสีย เมื่อพูดถึงกองทัพและการเมืองแล้ว หากไร้ซึ่งการกล่าวข้อมูลทางด้านรัฐศาสตร์คงไม่ครบรส ผมจึงชวน ‘ปิยะภพ เอนกทวีกุล’ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มาพูดคุยต่อเพื่อความกลมกล่อมของประเด็น 

นักวิชาการผู้สนใจประวัติศาสตร์กองทัพและการเมือง ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมแสดงให้เห็นถึงความนิยมที่ลดลง ในการสนับสนุนพรรคการเมืองที่ผลักดัน ‘ทหารจำแลง’ ขึ้นไปมีอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลที่อยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาว ที่ได้รับผลพวงจากการรัฐประหารและต้องอยู่ภายใต้การปกครองของคณะก่อการมาหนึ่งถึงสองสมัย  

ดังนั้นกระแสความนิยม ‘3 ป.’ ไม่ว่าจะเป็น ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ที่ชู ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ หรือกระทั่ง ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ที่สนับสนุน ‘พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ’ ขึ้นเป็นรัฐมนตรี อาจจะได้เสียงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่น้อยมาก อาจน้อยกว่าการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2562 ด้วย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3uVPffGROQR52MVPIDnHVn/fe6d6aa2e81c92a6fb1c45893be75b3e/Military-students-with-the-idea-of-abolishing-forced-conscription-SPACEBAR-Photo04
กระนั้น ก็ยังมีฐานกองเชียร์ที่คอยร่วมผลักดันอยู่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม และอาจมีผู้ที่คลั่งไคล้วงการทหารเข้ามาเป็นกำลังสำคัญ อย่างกรณี ‘ราชา นศท.’ เองก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ยังเชื่อเรื่องความสำคัญกับกองทัพอยู่แม้กระแสการต่อต้านนี่จะมีอิทธิพลกับคนรุ่นใหม่มาตั้งแต่การถือกำเนิดของ ‘พรรคอนาคตใหม่’ เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 ก็ตามที  

สำหรับเหตุผลประการสำคัญ ที่ทำให้มีคนรุ่นใหญ่ส่วนหนึ่งยังให้การสนับสนุนกับกองทัพ เป็นเพราะคือ ความชื่นชอบทหารมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัย ‘จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม’ ที่มีการจัดตั้ง ‘ยุวชนทหาร’ ส่งผลให้มีพลเรือนหลายคนสนใจศึกษาเรื่องความมั่นคง จนกลายเป็นการถูกกล่อมเกลาทางการเมือง (Political Socialization) โดยไม่รู้ตัว  

“เขาได้รับการปลูกฝังไปโดยปริยาย ผ่านการศึกษาและการเสพสื่อ ส่งผลให้น้องคนนั้นกล้าแต่งเครื่องแบบทหาร ซึ่งไม่ผิดคนเรามีความชื่นชอบแตกต่างกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลด้านความคิดความอ่านทางการเมืองด้วย จะคนรุ่นใหม่รุ่นเก่าก็เป็นได้ทั้งนั้น” ปิยะภพ กล่าว
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5TKeglcCO9PNqN7OY07aFE/325df41182c393cbbca4a616677d0126/Military-students-with-the-idea-of-abolishing-forced-conscription-SPACEBAR-Photo02
Photo: ‘ปิยะภพ เอนกทวีกุล’ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ทั้งนี้ ปิยะภพ ได้ย้อนเกล็ดประเด็นที่มาที่ไปของแนวทางการปฏิรูปกองทัพไว้ว่า ในอดีตเรื่องนี้เคยถูกพูดถึงมาแล้วตั้งแต่อปี 2531 ในสมัย ‘พลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธ’ เป็นผู้บัญชาการทหารบก มีแนวทางปรับขนาดกองทัพให้เล็กลง เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการทางทหารที่ดีขึ้น ตามแบบแผนการจัดการของชาติตะวันตก ภายใต้แนวคิด ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’  

แม้จะมีแนวทางเรื่อยมาตลอดแต่กองทัพไม่สามารถสร้างเป็นรูปธรรมได้ สืบเนื่องจากการเติบโตของหน่วยทหารยังเกิดขึ้นอยู่ มีตัวอย่างที่น่าสนใจ คือการขยายและยกระดับหน่วยงาน กอ.รมน ประจำภาค หรือสำนักปฏิบัติการความมั่นคงของกองทัพบก ที่กระจายไปทั่วประเทศ อีกสาเหตุคือการขยายตัวของ ‘กองทัพน้อย’ ซึ่งเป็นหน่วยที่ไม่จำเป็น เพราะมี ‘กองทัพภาค’ อยู่แล้ว รวมไปถึงการมีจำนวนทหารชั้นสัญญาบัตรมากมายในกองทัพ ทำให้การปฏิรูปไม่สำเร็จสักที 

“สามอย่างนี้เป็นภาพสะท้อนว่าการลดขนาดกำลังพลของกองทัพบกยังไม่ได้ทำอย่างเท่าที่ควร นายทุนหนุนกองทัพก็ยังเห็นอยู่ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทัพไม่สามารถทำได้ เพราะการเติบโตของทหารสัญญาบัตรมีจำนวนอัตราสูง ดูจากโรงเรียนนายร้อยรับ 200 กว่าคนทุกปีๆ หมายความว่าจะมีนายพลจำนวนมาก ตราบใดยังรับเยอะอยู่สุดท้ายอัตราลดขนาดกำลังพลก็ทำได้ยาก และอย่างกองทัพน้อยมันไม่จำเป็นแล้วเพราะทับซ้อนกับกองทัพภาค มีแค่ไว้ให้นายพลไปรอ เพื่อที่จะขึ้นกองทัพภาคในตำแหน่งอื่น” ปิยะภพ กล่าว 

อย่างไรก็ตาม ทางส่วนวิชาการและบุคคลากรทางกองทัพ เคยมีข้อเสนอมีให้ลดจำนวนอัตรารับสมัครนักเรียนเตรียมทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ไม่ทราบว่าทางกองทัพจะทำได้หรือเปล่า เพราะขึ้นอยู่กับนโยบายเป็นหลัก  

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และการทหาร กล่าวต่อว่า ในส่วนประเด็นนโยบายปฏิรูปกองทัพจากอดีตพรรคฝ่ายค้าน แม้ได้เป็นรัฐบาลก็ทำได้ยาก ตามหลักความเป็นจริงเหมือนเป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น หากกองทัพไม่เห็นด้วยก็ทำอะไรไม่ได้ แม้จะมีการแก้กฎหมาย ดูจากอดีตวันวานที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ชัดเจน กรณีที่รัฐบาลไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันกับกองทัพมักถูกยึดอำนาจ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3pRYAmERnUnCEXsMB5DvEJ/7d0a5e8284efae941b56b090dc085312/Military-students-with-the-idea-of-abolishing-forced-conscription-SPACEBAR-Photo05
“รัฐบาลพลเรือนไม่กล้ายุ่งกองทัพมาก เพราะยุ่งมากเดี๋ยวโดนอำนาจแม้แต่พรรคก้าวไกล ที่นำเสนอเรื่องนี้ กองทัพบกแตะได้ยาก ดูจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2535 การยึดอำนาจส่วนใหญ่มาจากการไม่ลงรอยระหว่างรัฐกับสถาบันความมั่นคง สำหรับกรณีของเพื่อไทยเอง แม้อดีต ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะไม่ยุ่งกับกองทัพแถมให้การสนับสนุนก็ยังถูกรัฐประหาร ฉะนั้นยิ่งดูแล้วหากเพื่อไทยเป็นรัฐบาลคงไม่แตะกองทัพเพราะกลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” 

ผู้เขียนขอส่งท้ายให้คิดกันต่อ หากการปฏิรูปกองทัพซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีทั้งกำลังพล - อำนาจล้นมือ ไม่สามารถทำได้ด้วยกฎหมายแล้วไซร้ แล้วอะไรคือกุญแจดอกสำคัญในการสร้างเสถียรภาพที่ยั่งยืนระหว่าง ‘รัฐบาลพลเรือน’ กับ ‘ทหาร’ ชวนอ่านต่อในบทความฉบับหน้า...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์