












ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 21 กันยายน ที่รัฐสภา มีการประชุมตัวแทนพรรคการเมือง ที่มี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม เพื่อจัดสรรโควต้าคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ว่า พรรคการเมืองใดจะได้ประธาน กมธ.ชุดใด โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุมจัดสรรโควต้า กมธ.นั้น มีการพิจารณามาแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้ต้องมีการพิจารณาครั้งที่ 3 ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการเตรียมกล่องสี่เหลี่ยมใส บรรจุไข่สีทอง จำนวน 35 ใบ และสีน้ำเงินจำนวน 8 ใบ
วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวก่อนเริ่มการประชุมว่า อยากให้แต่ละพรรคถอยคนละก้าว เพื่อจะได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ ซึ่งในฐานะที่พรรค พท. เป็นพรรคอันดับ 2 และได้ กมธ. 10 คณะ แต่พรรค พท.ขอ กมธ.หลักๆ 2 คณะ ที่เหลือ 8 คณะเรายอมก็ได้ ก็ขอให้ถอยกันมาแล้วดูว่าหลักๆ เราจะเอาอะไร และที่เหลือจะตกลงกันได้ ซึ่งก็ถือว่า เราใจกว้างมากแล้ว และคิดว่า แต่ละพรรคต้องถอย ไม่เช่นนั้นการเจรจาวันนี้ก็จะไม่สำเร็จ
ขณะที่ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า การเจรจาที่ผ่านมา เรามีการถอยให้กันบ้าง และเห็นด้วยกับวิสุทธิ์ว่า วันนี้ภายในห้องต้องมีการจบกันให้ได้ และวันนี้ ส.ส.ระยอง พรรค ก.ก.ได้ปฏิญาณตนแล้ว โดยรวม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งยังคงสถานะ ส.ส.อยู่ จะทำให้สถานะประธาน กมธ.ของพรรค ก.ก.จากที่ได้ 10 คณะ เพิ่มมาเป็น 11 คณะ ดังนั้น ยืนยันว่า ต้องได้ 11 คณะ ตามจำนวนที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคำนวณมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมผ่านไปเพียง 30 นาที ที่ประชุมได้สั่งพักการประชุมเพื่อให้ทุกพรรคไปพูดคุยตกลงกันให้เรียบร้อยก่อน แล้วกลับเข้าที่ประชุมอีกครั้ง เนื่องจากเหลืออยู่ 3 คณะที่ยังตกลงกันไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมได้ถกเถียงเรื่องจำนวน ส.ส.ของพรรค ก.ก.ที่ได้เพิ่มจากระยอง ทำให้พรรค ก.ก. จะได้ กมธ.เพิ่มมา 1 คณะ และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ลดลงไปเหลือ 2 คณะ
ทำให้อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี โฆษกพรรค รทสช. ได้หยิบยกกรณีของพิธา ที่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ว่า ไม่ควรนำมารวมด้วย แต่ฝ่ายกฎหมายยืนยันว่า แม้พิธาจะหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่ยังเป็น ส.ส.อยู่ จึงสามารถนำมาคิดคำนวณ กมธ.ได้ แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงทำให้พรรค ก.ก.ได้ กมธ. 11 คณะ พรรค รทสช.ได้ กมธ. 2 คณะ
ระหว่างที่พักการประชุม กลุ่มสส.ใช้เวลาร่วมชั่วโมงออกมาจับกลุ่มคุยในวงเจรจาวงเล็ก ก่อนที่จะออกมาด้วยสีหน้าเคร่งเครียด และระบุว่า ตกลงกันไม่ได้ วันนี้อาจจะไม่จบ และยืนยันว่า จะไม่จับฉลาก
มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึง การพูดคุยกัน ว่า บรรยากาศในการพูดคุยเป็นไปอย่างเรียบร้อย ซึ่งมีกมธ. 2 คณะที่ยังตกลงกันไม่ได้ระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคภูมิใจไทย คือ กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ กมธ.แรงงาน ส่วนกมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้แสดงเจตจำนงว่าต้องการที่จะได้ประธานในกมธ.นี้
ทั้งนี้ เมื่อ สส.พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย ได้กลับเข้าไปคุยในวงเล็กอีกครั้ง ก่อนจะเดินออกมาจากเคียงข้างกัน เพื่อเข้าไปยังห้องประชุมวงใหญ่
จากนั้น พิเชษฐ์ กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า ที่ประชุมจบด้วยดี ทุกพรรคถอยคนละก้าว โดยวันที่ 27 กันยายนนี้ ทุกพรรคจะเสนอรายชื่อทั้ง 35 คณะ และวันที่ 28 กันยายน จะประชุมคณะกรรมาธิการนัดแรก เพื่อเลือกประธานกรรมาธิการ และตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งทุกพรรคได้ประธานกรรมาธิการตามสัดส่วน แต่จะเปลี่ยนชื่อกรรมาธิการบางคณะ เช่น กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ และกมธ.การแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตเกษตรกรรม เพื่อเปลี่ยนเป็นภารกิจอื่นที่สำคัญกว่า ทั้งนี้ มองว่าความสามัคคีได้กลับมาแล้วและหลังจากนี้ก็ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน พรรคใหญ่ยอมถอยให้
ขณะที่ อัครเดช กล่าวว่า ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ 2 คณะครึ่ง คือกมธ.พลังงาน และกมธ.อุตสาหกรรม ส่วนอีก1 กมธ.คือ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน ซึ่งต้องแบ่งกับพรรคก้าวไกล คนละครึ่ง เนื่องจากติดในเรื่องข้อกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม คือจะเป็นกมธ.คนละ 2 ปีหรือปีเว้นปี ซึ่งจะต้องมาพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับการแบ่งเก้าอี้ประธาน กมธ.ของแต่ละพรรคมีดังนี้
พรรคก้าวไกล ได้แก่
1.กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ
2.กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน
3.กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ
4.กมธ.การสวัสดิการสังคม
5.กมธ.การทหาร
6.กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย
7.ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ
8.กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
9.กมธ.การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม
10.กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน
11.กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค
พรรคเพื่อไทย ได้แก่
1.กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ
2.กมธ.การคมนาคม
3.กมธ.การท่องเที่ยว
4.กมธ.การสาธารณสุข
5.กมธ.การต่างประเทศ
6.กมธ.การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
7.กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร
8.กมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
9.กมธ.ป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด
10.กมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน
พรรคภูมิในไทย ได้แก่
1.กมธ.การศึกษา
2.กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ
3.กมธ.การปกครอง
4.กมธ.การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย
5.กมธ.การแรงงาน
พรรคพลังประชารัฐ ได้แก่
1.กมธ.การกีฬา
2.กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ
3.กมธ.แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม
พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้แก่
1.กมธ.การพลังงาน
2.กมธ.การอุตสาหกรรม
พรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่
1.กมธ.การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา
2.กมธ.การตำรวจ
พรรคชาติไทยพัฒนา ได้แก่
1.กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ
พรรคประชาชาติ ได้แก่
1.กมธ.การกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน