มีความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ‘คนเดือนตุลา’ ที่จะจัด ‘เลี้ยงรุ่น’ ครบ 50 ปี นักศึกษา มธ. รุ่น 16 ที่เข้าเรียน มธ. เมื่อปี 2516 ที่ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 มาด้วยกัน มีทั้งที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ ‘สังหารหมู่’ และที่หนีเข้าป่าจับปืนต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ ดังกล่าว ทำให้ ‘คนเดือนตุลา’ กระจัดกระจายไปตาม ‘วิถีทาง’ ของตัวเอง หรือตาม ‘อุดมการณ์’ ของตัวเอง มาถึงยุคนี้ก็อยู่ใน ‘วัยเกษียณฯ’ เกือบทั้งสิ้น หลายคนเติบโตในแวดวงวิชาชีพ-วงการต่างๆ บางคนตำแหน่งใหญ่โต บางคนเป็นปุถุชนธรรมดา บางคนยังคง ‘ต่อสู้เชิงความคิด’ เรื่อยมา ที่สำคัญในรุ่นเพื่อน มธ.16 ก็มีที่อยู่ ‘คนละขั้ว’ ในเรื่องอุดมการณ์การเมืองในปัจจุบัน ที่แบ่งตาม ‘พรรคการเมือง-ขั้วการเมือง’ ในปัจจุบัน
การนัด ‘รวมรุ่น’ ของ ‘คนเดือนตุลา มธ.16’ ครั้งนี้ จึงถูกจับตาว่าจะนำไปสู่ปรากฏการณ์ใดในทางการเมืองหรือไม่ ? โดยรวมรุ่นจะจัดวันที่ 18 พ.ย.นี้ ที่สมาคมธรรมศาสตร์ ซอยงามดูพลี
สำหรับ มธ.16 ที่มีชื่อเสียง เช่น ดร.นริศ ชัยสูตร , ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ , ดร.ชัยพัฒน์ สหัสกุล , อ.สุดสงวน สุธีสร , สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย , คำนูณ สิทธิสมาน , ชวน ชูจันทร์ , กนกพันธุ์ จุลเกษม , ประภา ปูรณโชติ , สุภี พงษ์พานิช , พวงเดือน ยนตรรักษ์ , ปารเมศร์ รัชไชยบุญ เป็นต้น
ย้อนไป 2 ปีก่อนกลุ่ม ‘คนเดือนตุลา’ ที่ยังต่อสู้เชิงความคิด ได้ตั้ง "กลุ่มคนเดือนตุลาเพื่อประชาธิปไตย" (Octoberists for Democracy-OCTDEM) ขึ้นมา นำโดย เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ , จาตุรนต์ ฉายแสง , ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ , นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช , สมศักดิ์ ปริศนานันนทกุล , นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี เป็นต้น
โดยได้เลือกวันที่ 6 ต.ค. เมื่อ 2 ปีก่อน เปิดตัวกลุ่มที่ มธ. ท่าพระจันทร์ ก่อนเดินเท้าไปศาลฎีกา (สนามหลวง) เพื่อยื่นหนังสือถึง ‘ประธานศาลฎีกา’ เรียกร้องให้ ‘สถาบันตุลาการ’ ยึดมั่นในหลักนิติธรรมนิติรัฐอันเป็นสากล และเคารพในสิทธิการประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีทางการเมือง โดยมีเป้าหมายสำคัญไม่ต้องการให้ ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ เฉกเช่นยุค ‘คนเดือนตุลา’ เกิดขึ้นอีก
ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในยุค ‘รบ.ประยุทธ์’ ที่มีการจับกุม ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ออกมาชุมนุม เคลื่อนไหวต่างๆ ที่มี 1 ใน 3 ข้อการเคลื่อนไหวคือการ ‘ปฏิรูปสถาบัน’ มีการจับกุมแกนนำดำเนินคดี ม.112 ในช่วงเวลานั้น
แต่บทบาทกลุ่ม ‘OCTDEM’ ก็หายไปเรื่อยๆ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จนมาถึงการเลือกตั้งใหญ่ ปี 2566 ที่กลายเป็นว่าพรรคการเมือง ขั้วตรงข้าม ‘อำนาจ 3ป.’ ชนะการเลือกตั้ง นำโดย ‘พรรคก้าวไกล’ ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ จนนำมาสู่การที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ นำจัดตั้งรัฐบาลชนิด ‘ข้ามขั้ว-ไฮบริด’
บรรดา ‘คนเดือนตุลา’ ที่อยู่ใน ‘พรรคเพื่อไทย’ ต่างมีบทบาทนำในรัฐบาล และมี ‘อำนาจรัฐ’ ในมือ เช่น ‘อ้วน’ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ‘หมอมิ้ง’นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ‘หมอเลี้ยบ’นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่เป็นคีย์แมนหลักของเพื่อไทย ส่วน ‘อ๋อย’จาตุรนต์ ฉายแสง ได้กลับเข้าสภาฯ ในรอบ 17 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เป็นต้น
บทบาทของ ‘คนเดือนตุลา’ จึงถูกจับตาอีกครั้ง หลังมี ‘อำนาจรัฐ’ ในมือ โดยเฉพาะ ‘อ้วน-ภูมิธรรม’ ที่เป็น ปธ.คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ แม้จะเชิญพรรคก้าวไกลให้มาร่วมคณะฯ แต่พรรคก้าวไกลไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย ‘หมอเลี้ยบ’นพ.สุรพงษ์ ที่เป็นคีย์แมนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นโยบายที่ถูกจับตาว่าจะเอามาสู้กับ ‘พรรคก้าวไกล’ และ ‘หมอมิ้ง’นพ.พรหมินทร์ ที่มาเป็น ‘นายกฯน้อย’ ข้างกาย ‘เศรษฐา’
สุดท้ายบรรดา ‘คนเดือนตุลา’ ที่มีอำนาจรัฐในมือ จะกลายเป็น ‘ขั้วตรงข้าม’ กับบรรดา ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ส่วนใหญ่สนับสนุน ‘พรรคก้าวไกล’ หรือไม่ ? หรือในอีกแง่อาจเป็นการช่วยให้ ‘ระยะห่าง’ ทางอุดมการณ์การเมือง กลับมาสมานกันมากขึ้น ผ่านมือ ‘คนเดือนตุลา’ ที่กลายสภาพเป็น ‘ลูกผสม-ไฮบริด’ ไปแล้ว