‘ประยุทธ์’ ปลื้มพื้นที่ศูนย์ข่าวสีเขียว APEC ศูนย์สิริกิติ์ ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

18 พ.ย. 2565 - 04:33

  • นายกฯ ปลื้มข้อมูลเผยรายงานพื้นที่ ศูนย์ข่าวสีเขียว APEC 2022 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

  • ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 14,969.02 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์

  • เทียบเท่าการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 1,663 ต้นต่อปี

PM-Prayut-delights-in-APEC-green-news-center-area-to-reduce-greenhouse-gas-emissions-SPACEBAR-Thumbnail
อนุชา บรูพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานประเมินปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก ณ พื้นที่ ‘ศูนย์ข่าวสีเขียว’ ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2565 

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า การจัดการประชุมเอเปคของไทยในปีนี้ เน้นความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญญาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่เกี่ยวโยงกับภาวะโลกร้อน โดยมีรายงานระบุว่า ในพื้นที่บริเวณ ‘ศูนย์ข่าวสีเขียว’ ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2565 นั้น เมื่อประเมินปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ไทยสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 14,969.02 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่ากับ การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ถึง 1,663 ต้น ต่อปี (APEC 2022 Thailand | Bangkok | Facebook) 

อนุชาฯ กล่าวว่า “รัฐบาลต้องการให้การจัดการประชุมครั้งนี้เป็น showcase ส่งข้อความถึงโลกว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดเพียงหนึ่งประเทศ แต่เป็นปัญหาสังคมของโลก และเราจะบรรเทาปัญหานี้ได้หากทุกประเทศทุกเขตเศรษฐกิจในโลกร่วมมือกัน”  

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ไทยในฐานะเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคในปีนี้ ได้ผลักดันการตระหนักรู้เกี่ยวกับ โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) เพื่อความยั่งยืนมาตลอดการเตรียมการจัดการ และประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้จะรวมอยู่ใน Bangkok Goals on BCG Economy ซึ่งมี 4 เป้าหมาย คือ 1.การจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเป็นกลางทางคาร์บอน 2.การค้าการลงทุน ส่งเสริมการลงทุนภาคสีเขียว 3.การจัดทรัพยากรที่ยั่งยืน และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ  และ 4.การบริหารจัดการขยะ 

“นายกรัฐมนตรี ตระหนักถึงประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ และทราบในหลักการว่าไม่มีประเทศไหนต่อสู้กับความท้าทายเรื่องสิ่งแวดล้อมได้เพียงลำพัง การพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีต้องควบคู่ไปกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ไทยจึงมุ่งหวังว่า Bangkok Goals on BCG Economy ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ เรื่องเศรษฐกิจ BCG’ จะเป็นเข็มทิศให้กับการทำการค้าการลงทุนระหว่างกันของ 21 เขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกเอเปคนับจากนี้ไป และจะมีการรับรองในปลายสัปดาห์นี้” โฆษกรัฐบาล กล่าว 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์