Padipat-refuse-to-conprise-his-position-SPACEBAR-Photo00.jpg
Padipat-refuse-to-conprise-his-position-SPACEBAR-Photo01.jpg
Padipat-refuse-to-conprise-his-position-SPACEBAR-Photo02.jpg
Padipat-refuse-to-conprise-his-position-SPACEBAR-Photo03.jpg

Photo Story: ‘ปดิพัทธ์’ ปัดฮั้ว! สมคบคิดพยุง ‘เก้าอี้’

29 ก.ย. 2566 - 06:17

  • ‘ปดิพัทธ์’ น้อมรับ ‘มติก้าวไกล’ ขับพ้นพรรค ยันขอทำหน้าที่-ดันสารพัดงานรองประธานสภาฯตามสัญญาที่ให้ไว้กับปชช. ต่อ

  • ปัดฮั้วสมคบคิดพยุงรักษาตำแหน่ง อ้างเจอข้อจำกัดรธน. ลั่นซบ ‘มุ้งใหม่’ ต้องอุดมการณ์เดียวกัน ไร้ข้ามขั้ว แย้มคุย ‘ไทยสร้างไทย-เป็นธรรม’ แบบไม่เป็นทางการ ยังมีเวลา 30 วันตัดสินใจ

  • ชี้เป็นสิทธิ์วิจารณ์ ปมครหาตั้งมาตรฐานการเมืองใหม่ แต่กลับใช้วิธีเก่า เมินถูกการเมืองกดดัน

Padipat-refuse-to-conprise-his-position-SPACEBAR-Photo00.jpg
Padipat-refuse-to-conprise-his-position-SPACEBAR-Photo01.jpg
Padipat-refuse-to-conprise-his-position-SPACEBAR-Photo02.jpg
Padipat-refuse-to-conprise-his-position-SPACEBAR-Photo03.jpg

ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 แถลงภายหลังพรรคก้าวไกลมีมติขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรค โดยได้อ่านแถลงการณ์ส่วนตัวระบุโดยสรุปว่า ขอน้อมรับมติดังกล่าวของพรรคก้าวไกล ซึ่งจากการที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดทางที่ประชุมใหญ่ เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ เพื่อที่จะได้ทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยเงื่อนไขนี้ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่รองประธานสภาฯ ในฐานะสมาชิกพรรคก้าวไกลได้ แม้อีกทางเลือกคือการลาออกจากรองประธานสภาฯเพื่อกลับไปทำหน้าที่สส. แต่หลังจากการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน หากลาออกรองประธานสภาฯจะส่งผลกระทบ ต่อการขับเคลื่อนวาระที่ได้ให้สัญญากับประชาชน และสภาฯ จึงตัดสินใจหลังจากที่พรรคก้าวไกลได้มีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยแสดงความจำนงต้องการทำหน้าที่รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ต่อ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะไปสังกัดพรรคการเมืองใด จะผลักดันการทำงานสภาฯ อย่างเต็มที่

“เหตุผลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจมี 3 ส่วน 1.ผมต้องใช้วาระที่เหลือของสภาฯ นี้ขับเคลื่อนโยบายยกระดับการทำงานสภาฯ ให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพสูง และเป็นของประชาชน โดยเฉพาะการจัดเคลื่อนให้สภาฯ ยึดโยงประชาชน ฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการเมืองไทยในระบบรัฐสภา การเปิดใช้พื้นที่รองรับกิจกรรมหรือแสดงออกทางการเมืองผ่านลานประชาชนที่จะเปิดใช้ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ รวมถึงการจัดสภาฯ สัญจรใกล้ชิดประชาชนทุกพื้นที่ และเดินหน้าการตรวจรับการก่อสร้างอาคารรัฐสภา ให้ไม่มีทุจริต รับผิดชอบต่อความล่าช้า ให้รู้ว่าภาษีประชาชาเป็นประโยชน์ใคร 2.ผมต้องการฏิบัติหน้าที่รองประธานสภาฯ อย่างเป็นกลาง ต่อทุกพรรคการเมือง และประชาชนทุกชุดความคิดไม่ว่าจะสังกัดพรรคใด การที่ผมต้องเปลี่ยนสังกัดจะไม่ส่งผลกระทบต่อหน้าที่ แผนงานรองประธานสภาฯ และ3.มั่นใจว่าพรรคก้าวไกลจะมีบุคลากรพร้อมดูแลความทุกข์ร้อนประชาชนชาวพิษณุโลกเขต 1 ได้ ผมยังเป็นสส.พิษณุโลก การตัดสินใจครั้งนี้ได้สอบถามประชาชนในเขตตัวเอง และทั่วประเทศคร่าวๆแล้ว มั่นใจว่าการทำหน้าที่รองประธานสภาฯจะเป็นประโยชน์กับประชาชน” ปดิพัทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ได้คุยกับทางพรรคก้าวไกลแล้วหรือไม่ว่าจะไปสังกัดพรรคใด ปดิพัทธ์ กล่าวว่า การตัดสินใจของพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นระยะสั้น ก่อนหน้านี้มีการพูดคุยถึงทางเลือกต่างๆ ร่วมกัน แต่การพูดคุยสิ้นสุดแล้ว เพราะได้มอบฉันทามติให้ว่า พร้อมน้อมรับมติของพรรคก้าวไกล หลังจากนี้จะเป็นการตัดสินใจว่าจะไปอยู่พรรคใด แต่แน่นอนว่าต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับอุดมการณ์ของตัวเอง ไม่สามารถข้ามขั้วไปอยู่กับพรรคที่มีอุดมการณ์ขัดแย้งได้

เมื่อถามถึงความรู้สึกขณะนี้ยังมีความเป็นพรรคก้าวไกลหรือไม่ ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ความรู้สึกมันห้ามกันไม่ได้ แต่ด้วยพฤตินัย ไม่ได้เกี่ยวกับพรรคก้าวไกลตั้งแต่มารับตำแหน่งรองประธานสภาฯแล้ว ดังนั้นความรู้สึกมันถูกเตรียมการมาตั้งแต่ตอนนั้น

เมื่อถามว่า ถ้าเปรียบเทียบกับอดีตสส.ในพรรคก้าวไกล ที่ไปทำกิจกรรมกับพรรคการเมืองอื่น แต่ทางพรรคก้าวไกลก็ไม่ขับออก ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ต้องให้ทางพรรคก้าวไกลตัดสิน ไม่สามารถตัดสินใจหรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องในอดีตได้ 

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายมองว่าเป็นการสมคบคิดเพื่อที่จะรักษาตำแหน่งรองประธานสภาฯ ปดิพัทธ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ที่จะวิจารณ์ การขับออกครั้งนี้ครั้งนี้พรรคก้าวไกลก็ตัดสินใจลำบาก และรอบคอบ ถามว่าจะสมคบคิดเพื่อผลประโยชน์ใคร คงไม่ใช่ แต่ด้วยข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญ เราจำเป็นต้องหาทางที่ดีที่สุด ถ้าตัดสินใจจะมีมติแบบนี้ทางพรรคก้าวไกลก็ไม่มีโอกาสเลือกทางอื่น ส่วนจะเป็นเกมการการเมืองแบบไม่ตรงไปตรงมา ทั้งที่พรรคก้าวไกลพยายามตั้งมาตรฐานมาก่อนหน้านี้หรือไม่นั้น ก็เป็นสิทธิ์ที่จะวิจารณ์

“ยืนยันว่าไม่มีเงื่อนงำใดๆ พูดกันแบบตรงไปตรงมาด้วยเหตุผลการทำงาน หลังจากนี้ขอให้อนาคตเป็นบทพิสูจน์ ที่มีการวิจารณ์ว่าพรรคก้าวไกลเล่นการเมืองแบบเก่า ไม่ใช่สร้างการเมืองใหม่นั้น ขอให้ไปถามพรรคก้าวไกลเอง ผมตอบแทนพรรคไม่ได้” ปดิพัทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ได้หารือส่วนตัวกับพรรคไทยสร้างไทย กับพรรคเป็นธรรมแล้วหรือไม่ในการตัดสินใจจะไปร่วมงาน ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้หารืออย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ระยะเวลาที่ต้องหาสังกัดพรรคใหม่ เป็นไปตามกฎหมายคือ 30 วัน ขณะนี้เป็นวันแรก ขอกลับพื้นที่ไปอยู่กับครอบครัว สำหรับพรรคที่จะเลือกสังกัดนั้น ยืนยันอีกครั้งว่า ต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ไม่สามารถข้ามขั้วได้ 

เมื่อถามว่า กรณีที่ถูกพรรคก้าวไกลขับออกและต้องหาสังกัดใหม่ กังวลว่าจะไม่ได้รับการยอมรับในสภาฯ ในฐานะรองประธานสภาฯ หรือไม่ ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะที่ผ่านมาพรรคชนะอันดับหนึ่งไม่ได้เป็นฝ่ายบริหาร หรือได้ประธานสภาฯ ถือเป็นเค้าลางของความไม่ปกติพอสมควร ดังนั้นมองว่าหากสิ่งใดที่เป็นไปตามหลักการทุกคนต้องปฏิบัติตามไม่มีเกมการเมืองใดๆ

เมื่อถามว่ามีการกดดันจากสส.ฝั่งรัฐบาลหรือไม่ ปดิพัทธ์ กล่าวว่า “มีแต่ให้กำลังใจให้ปฏิบัติหน้าที่ให้ดี” 

เมื่อถามว่าขณะนี้ถูกมองว่าเป็นนอมินีของพรรคก้าวไกล เหมือนที่มีการกล่าวหาว่าวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นนอมินีของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ปดิพัทธ์ กล่าวว่า “แบบนี้จะไม่เป็นธรรมกับพรรคอื่นที่มีผู้นำมีศักดิ์ศรีได้” 

ทั้งนี้ภายหลังการแถลงผู้สื่อข่าวถามว่า จะติดใจหรือไม่  หากพรรคก้าวไกลส่งคนไปดูแลพื้นที่พิษณุโลกเขต 1 แทน ปดิพัทธ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยระบุเพียงว่า “ไม่ให้สัมภาษณ์แล้วนะครับ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ปดิพัทธ์ จะแถลงว่าน้อมรับมติพรรคก้าวไกลที่ขับออกจากสมาชิกพรรค และกลายเป็นสส.พิษณุโลก ไร้สังกัด แต่พบว่า ปดิพัทธ์ยังได้ติดบัตรประจำตัว สส.พิษณุโลก ในสังกัดพรรคก้าวไกลในช่วงการแถลงข่าวด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์