มหากาพย์ ‘รัฐสภา’ สร้างไม่เสร็จสักที!

20 ก.ย. 2566 - 08:06

  • การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เกียกกาย เป็นมหากาพย์อันยาวนานที่ยังไม่มีใครรู้ว่า จะไปจบที่ตรงไหน แม้ว่า จะเตรียมรับมอบแบบ 100 เปอร์เซ็นต์เร็วๆ นี้ แต่ก็ยังมีเสียงคัดค้านจาก 2 คู่หู ‘วัชระ เพชรทอง’ และ ‘วิลาศ จันทร์พิทักษ์’ หลังพบความผิดปกติในการก่อสร้างมากมาย

Parliament-building-when-will-it-be-finished-SPACEBAR-Hero.jpg

เป็นมหากาพย์ที่ไม่สิ้นสุดเสียที สำหรับการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมานาน 10 ปี แต่ยังไม่สามารถส่งมอบได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยปัญหาและอุปสรรคมากมายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นจนถึงช่วงที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ

แม้ว่า ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ในฐานะประธานกรรมการขับเคลื่อนนโยบายรัฐสภาโปร่งใส และสมรรถนะสูง จะยืนยันว่า หากไม่พบข้อบกพร่องใดๆ ก็สามารถส่งรับงานได้ภายในปลายเดือนกันยายนนี้ แต่ก็พบข้อท้วงติงจาก 2 คู่หู อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ‘วัชระ เพชรทอง-วิลาศ จันทร์พิทักษ์’ ที่พบพิรุธและความผิดปกติมากมาย จนถึงขั้นยื่นหนังสือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ 

แล้วพิรุธที่ว่านั้น มีอะไรบ้าง?

วัชระ ย้ำว่า มีหลายอย่างในการก่อสร้างที่ไม่ตรงกับสัญญาและยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เช่น ‘ไม้ปูพื้น’ ซึ่งกรมป่าไม้ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ที่อ้างว่าเป็นไม้ตะเคียนทองนั้น กลายเป็นเพียงแค่ ‘ไม้พะยอม’ โดยสังเกตได้ว่า หากเป็น ‘ไม้ตะเคียนทอง’ จริง เมื่อใช้การในระยะเวลานาน จะมีความแวววาว แต่ไม้ที่เห็นในความเป็นจริงกลับเป็นสีหม่น ไม่แวววาว นอกจากนี้ ไม้ตะเคียนทองตามแบบกำหนดความยาว 3 เมตร แต่ไม้ที่นำมาใช้ในงานก่อสร้างมีความยาวส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 เมตร 

ขณะที่ผนังห้องประชุม กมธ. 113 ห้อง ฝั่ง สว.สร้างถูกตามแบบคือผนังกันเสียง 2 ชั้น แต่ฝั่ง สส.กลับสร้างผนังกันเสียงแค่ 1 ชั้น ซึ่งไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญา แต่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกลับบอกว่า ใช้การได้ ทำให้ ‘วัชระ’ เห็นว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จึงเสนอให้ ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ตั้งคณะกรรมการสอบโดยลงนามเห็นชอบ แต่ต่อมามีการลบลายมือชื่อของ ‘ชวน หลีกภัย’ ทิ้ง จึงไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบเรื่องดังกล่าวจนถึงวันนี้ 

นอกจากนี้ ยังมีหินส้มวิทิตาบริเวณลานรอบนอกอาคารไม่ตรงแบบและปัจจุบันยังไม่ปรับแก้ไขให้ถูกต้อง รวมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า หินทราโวทีนที่ปูมีขนาดความหนาของหินที่ถูกต้องตามข้อกำหนดของสัญญาหรือไม่ 

ค่าปรับการก่อสร้างล่าช้า ต้องจ่ายอย่างไร?

ข้อกำหนดของสัญญา ระบุว่า หากยังส่งมอบไม่แล้วเสร็จ จะต้องเสียค่าปรับให้กับหน่วยราชการวันละ 12.28 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามสัญญาจ้างก่อสร้าง ข้อ 20 ค่าปรับและค่าเสียหาย กำหนดให้ ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.10 ของราคางานจ้างก่อสร้างทั้งหมดตามสัญญา รวมถึงต้องชำระค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ควบคุมงานและที่ปรึกษาบริหารโครงการ วันละ 332,140 บาท รวมแล้ววันละ 12.61 ล้านบาทเศษ

เรื่องนี้ วัชระ เล่าว่า นับตั้งแต่การมีความพยายามต่อสัญญาครั้งที่ 5 เขาได้ทำหนังสือคัดค้านไปแล้ว และคณะกรรมการตรวจการจ้างก็ลงมติไม่เห็นชอบกับการต่อสัญญาครั้งที่ 5 แต่ทราบว่า มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนในสภากล่าวว่า จะช่วยเหลือเรื่องค่าปรับแทน โดยอ้างว่า จะไม่มีการปรับในโครงการนี้ และจะคิดค่าปรับเป็นศูนย์ จึงตั้งข้อสงสัยว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องตรวจสอบ

วัชระ ตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆแล้วจะต้องจ่ายค่าปรับให้ทางราชการหรือไม่ เพราะล่าช้าเป็นเวลามากกว่า 3,500 วัน จะคิดค่าปรับและยกเว้นอย่างไร กลายเป็นคำถามจนถึงตอนนี้ ย้ำว่า ต้องให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย แต่ก็ต้องให้ความยุติธรรมกับประเทศชาติด้วยเช่นกัน 

แล้วจะส่งมอบ ‘รัฐสภา’ ปลายเดือนนี้ได้หรือไม่?

ยังเป็นคำถามที่ต้องลุ้น เนื่องจากคณะกรรมการตรวจการจ้างไม่ได้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีคณะกรรมการบางคนเห็นว่า การก่อสร้างไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาหลายประการ อีกทั้งคณะกรรมการเหล่านั้นยังเตรียมทำหนังสือบันทึกไว้ในการประชุมของคณะกรรมการตรวจการจ้างว่าไม่เห็นด้วยกับการตรวจรับมอบงาน 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีรายงานว่า คณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่มี สาธิต ประเสริฐศักดิ์ เป็นประธานจะลงมติตรวจรับ 100 เปอร์เซ็นต์ภายใน 1-2 วันนี้ 

ซึ่งตัว ‘วัชระ’ เองก็เชื่อว่า คณะกรรมการตรวจการจ้างน่าจะออกโรง ‘คัดค้าน’ เพราะเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง มีเหตุผล มีหลักฐานและข้อกำหนดตามสัญญา เจ้าตัวยังย้ำว่า ใครทำอะไรไว้จะส่งผลต่ออนาคต เข้าสู่การตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสุดท้ายจบที่ศาลอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างแน่นอน

‘มหากาพย์’ที่แสนยาวนาน

การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นั้น ถือเป็นมหากาพย์อันยาวนาน แม้ ‘รัฐสภา อู่ทองใน' จะปิดตำนานตั้งแต่สิ้นปี 2561 แต่ตำนานบทใหม่ ณ ‘รัฐสภา เกียกกาย’ ก็ยังไม่เริ่มอย่างเป็นทางการเสียที เพราะนับตั้งแต่ช่วงปี 2535-2551 ที่สำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ก่อสร้าง กระทั่งได้ลงนามในปี 2556 ภายใต้สัญญาก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน พ.ย.2558 กลับเกิดอุปสรรคมากมายในระหว่างนั้น ทั้งการส่งมอบพื้นที่ที่ล่าช้าจากเจ้าของเดิม ปัญหาการขนย้ายดิน การจัดหาไม้สัก ทำให้กว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็กินเวลาไปถึงปี 2559 อันนำไปสู่การขยายเวลาจากสัญญาหลัก 900 วันทั้งสิ้น 4 ครั้ง รวมแล้วขยายเวลาเพิ่มอีก 1,864 วัน หากนำไปรวมกับสัญญาหลัก จะเท่ากับ 2,764 วัน ทำให้การก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ จะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เกิดคำถามว่า ความล่าช้ามากกว่าการขยายเวลาที่เกิดขึ้น ผู้รับเหมาจะต้องเสียค่าปรับหรือไม่ หากจะใช้หลักเกณฑ์เพื่องดเว้นค่าปรับตามมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะกำหนดห้วงเวลาอย่างไร สุดท้าย ผู้ที่เกี่ยวข้องคงต้องออกมาชี้แจงต่อสังคมให้ชัดเจน เพื่อลบล้างข้อกังขามากมายที่เกิดขึ้น เพราะเวลานี้ ล่วงเลยมาจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 แต่การส่งมอบรัฐสภาหมื่นล้าน กลับยังไม่เสร็จสมบูรณ์เสียที

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์