‘พิเชษฐ์’ ปัดผลาญงบฯ หลังเล็งฟื้นคืนชีพโครงการ ‘รัฐสภาจังหวัด’

20 กันยายน 2566 - 10:36

Phichet-denies-wasting-budget-case-Provincial-Parliament-project-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ไอเดียกระฉูด! ‘พิเชษฐ์’ ปัดผลาญงบฯ หลังเล็งฟื้นคืนชีพโครงการ ‘รัฐสภาจังหวัด’

  • อ้างแค่เพิ่งเริ่มต้น ยันช่วยตอบสนองประชาชน-ไม่ซ้ำซ้อน ‘ศูนย์ดำรงธรรม’

  • โทษผลพวงจาก ‘คณะรัฐประหาร’ ปี 57 เบรกนำร่อง 6 จังหวัด

พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง แถลงชี้แจงถึงกระแสพาดพิงเตรียมผลาญงบประมาณ กรณีฟื้นโครงการก่อสร้างรัฐสภาจังหวัดทั่วประเทศ ว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ ยังไม่ถึงการพิจารณาว่าจะไปจังหวัดไหนเลย เป็นเพียงการเริ่มต้น ซึ่งการฟื้นรัฐสภาจังหวัด เป็นเรื่องเดิมที่เคยดำเนินการมาตั้งแต่ยุค สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เริ่มนำร่องไว้ที่ 6 จังหวัด ช่วงปี 2556

แต่ต่อมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายหลังมีการรัฐประหารปี 2557 ได้มาประเมินแล้วยุติโครงการลง วันนี้ สส.ทุกพรรคจึงได้ร่วมกันคิดเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2567-68 เพื่อให้เกิดผลการตอบสนองต่อประชาชน มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น จากนี้ไป ถ้ามีรัฐสภาจังหวัด จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่างๆ ของภาคประชาชนได้รวดเร็วขึ้น

“อยากเรียนไปยังผู้ที่บอกว่า สส.ไม่เห็นด้วย หรือการเตรียมการผลาญงบฯ ครั้งใหญ่ ไม่ใช่ ฝ่ายนิติบัญญัติของเรา ต้องการขยับขยายเพื่อที่ตอบสนองประชาชนมากขึ้น หลังจากเราถูกปฏิวัติรัฐประหารมา 2 ครั้ง เราจะเริ่มต้นทำให้กระบวนการนิติบัญญัติเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” รองประธานสภาฯ คนที่สอง กล่าว

เมื่อถามว่า ได้มีการกำหนดแผนงบประมาณในการดำเนินการโครงการรัฐสภาจังหวัด แล้วหรือไม่ พิเชษฐ์ ตอบว่า ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนด เป็นการเริ่มประชุมครั้งแรก แต่หากจะกำหนดงบประมาณของแต่ละจังหวัดในการเริ่มต้น ที่ประชุมคงจะมีการหารือ โดยใช้วิธีการสอบถามข้อมูลเดิมที่มีการนำร่อง 6 จังหวัดที่ผ่านมา ทั้งด้านบุคลากร, งบประมาณ เพื่อเป็นพื้นฐานการดำเนินการในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

ส่วนข้อวิจารณ์ที่ว่ามีการใช้งบฯ จำนวนมาก จะทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับความคุ้มค่าหรือไม่นั้น พิเชษฐ์ ตอบว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณาว่าจะใช้งบฯ จำนวนเท่าใด แต่ในอดีตที่ผ่านมา มีการใช้งบฯ ตามที่รัฐสภาอนุมัติไป ที่บอกว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ก็ต้องมีหลักฐานปรากฏออกมาว่า มีปัญหาตรงส่วนไหน, งบประมาณใด ซึ่งจากการประเมินของ สนช. ที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นมาประเมินฝ่าย สส. ก็คิดว่าอยู่ในอำนาจเผด็จการมากกว่า

เมื่อถามถึงโครงการรัฐสภาจังหวัด อาจไปซ้ำซ้อนกับศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ที่มีอำนาจหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ หรือส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง พิเชษฐ์ ตอบว่า ศูนย์ดำรงธรรมเป็นการรับเรื่องร้องเรียนของฝ่ายบริหาร คือกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายนิติบัญญัติ ก็เป็นส่วนหนึ่ง

“จริงๆ แล้วเราตรวจสอบฝ่ายบริหารด้วยซ้ำ จริงๆ แล้วประสิทธิภาพของรัฐสภา ถ้าไปอยู่ที่ภูมิภาคหรือจังหวัด เราคิดว่าจะสามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารได้มากขึ้น ช่วยแก้ปัญหามากขึ้น ไม่ซ้ำซ้อนศูนย์ดำรงธรรม แน่นอน” รองประธานสภาฯ คนที่สอง กล่าว

ด้าน วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สิ่งที่เคยพิจารณาในช่วงหลังการรัฐประหาร จะไม่นำมาพิจารณาเลย เพราะเป็นกรอบความคิดของคณะรัฐประหาร ที่มองสภาฯ คนละแบบกัน วันนี้เราต้องการให้รัฐสภาจังหวัด สามารถตรวจสอบติดตามการทำงานฝ่ายบริหาร ส่วนข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการขอใช้พื้นที่ ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณจำนวนจำนวนมากนั้นไม่จริง เราจะขอพื้นที่ของศาลากลางจังหวัด แต่จะต้องดูความพร้อมของแต่ละจังหวัดก่อน โดยจะไม่มีการเช่าสถานที่

“สำหรับโครงสร้างองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ในเบื้องต้น ได้กำหนดไว้ 7 คน มาที่จากส่วนกลางจากรัฐสภา ลงไปทำงานควบคู่กับผู้ช่วย สส.ที่มีอยู่ 8 คน ต่อ 1 สส. เพราะฉะนั้น กำลังคนจะไม่มีแค่เฉพาะที่เราตั้งไว้ 7 คนเท่านั้น” วรวัจน์ กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์