สะพัด ‘นิพัทธ์-พิศาล’ คุม ‘กลาโหม’ ใต้เงา ‘รบ.เพื่อไทย’

26 พฤษภาคม 2566 - 10:03

Pisarn-Nipat-Cnadidate-Minister-Defense-Pheuthai-Party-SPACEBAR-Hero
  • ภายใน ‘กองทัพ-การเมือง’ เริ่มมีการ ‘หย่อนชื่อ’ อดีตนายทหาร ที่จะมาเป็น รมว.กลาโหม ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ‘ขั้วอำนาจ’ ในการจัดตั้งรัฐบาล ในกรณีที่ ‘เพื่อไทย’ ได้จัดตั้งแทน ‘ก้าวไกล’

เก้าอี้ ‘รมว.กลาโหม’ เป็นอีกเก้าอี้ที่ ‘รัฐบาลใหม่’ จะต้องหา ‘บุคคล’ มาลงในตำแหน่ง ถือเป็นเก้าอี้ที่มีความ ‘เฉพาะตัว’ อย่างมาก เพราะป็นตำแหน่งสำคัญใน ‘สมการอำนาจการเมือง’ ในทุกยุคทุกสมัย แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปก็ตาม แต่ ‘กองทัพ’ ยังมีส่วนสำคัญในการ ‘ค้ำอำนาจผู้นำ’ ในสภาวะรัฐบาล ‘เปลี่ยนขั้ว’ ส่วนจะมีสูตรพิสดาร ‘ผสมข้ามขั้ว’ ในอนาคตหรือไม่นั้น ก็เป็น ‘สถานการณ์หนึ่ง’ ที่มีการมองกันไว้ 

ทำให้เริ่มมีการมองหา ‘แคนดิเดต รมว.กลาโหม’ ขึ้นมา ชื่อแรกที่เริ่มมีการ ‘เปรยถึง’ คือ ‘บิ๊กแป๊ะ’พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งในขณะนี้ พล.อ.นิพัทธ์ เป็นที่ปรึกษา ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าฯ กทม. 

สำหรับ พล.อ.นิพัทธ์ จบ ตท.14 นายร้อย จปร. รุ่น 25 เริ่มต้นชีวิตราชการใน ‘บ้านทหารเสือฯ’ ในตำแหน่งผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ก่อนจะมาเติบโตสายอำนวยการ-ยุทธการเ ป็นอาจารย์ วิชาข่าวกรอง ร.ร.เสนาธิการทหารบก และข้ามมาเติบโตที่กระทรวงกลาโหม ทำให้ชื่อ พล.อ.นิพัทธ์ มีน้ำหนักขึ้นมา รวมทั้งท่าทีของ พล.อ.นิพันธ์ ที่เป็น ‘คนประนีประนอม’ ก็จะสามารถ ‘เชื่อประสาน’ ระหว่างฝั่ง ‘การเมือง-กองทัพ’ ได้ อีกทั้งเป็นการ ‘คืนความชอบธรรม’ ให้กับ พล.อ.นิพัทธ์ ที่ต้องหลุดเก้าอี้ ปลัดกลาโหม หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ด้วย เพราะภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร พล.อ.นิพัทธ์ มีคำสั่งโดนย้ายไปประจำสำนักนายกฯ ก่อนมาเป็น ปธ.คณะที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  

ทั้งนี้ พล.อ.นิพัทธ์ มีบทบาทสำคัญช่วงก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 เช่น การนำผู้นำเหล่าทัพเข้าอวยพรวันเกิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเป็น ผบ.ทบ. 21 มี.ค. 2557 ก่อนรัฐประหาร 2 เดือน ซึ่ง พล.อ.พิพัทธ์ ก็พยายามทำให้สถานการณ์ลดอุณหภูมิลงไป ซึ่ง พล.อ.นิพัทธ์ เป็นรุ่นน้อง ตท.14 ห่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ 2 รุ่น (ตท.12) เป็นทหารเสือฯ เหมือนกัน ซึ่งช่วงเวลานั้น พล.อ.นิพัทธ์ ถือเป็นกำลังสำคัญในการ ‘รักษาบรรยากาศ’ ในสถานการณ์ขณะนั้น  

สำหรับ ตท.14 มี ‘บิ๊กโด่ง’พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีตรมช.กลาโหม-ผบ.ทบ. ‘บิ๊กหมู’พล.อ.ธีรชัย นาควานิช อดีต ผบ.ทบ. ‘บิ๊กน้อย’พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)  ‘เสธ.แมว’พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ‘เสธ.โหน่ง’พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น 

ซึ่งในขณะนี้กระทรวงหลาโหมมี ‘บิ๊กหนุ่ม’พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ เป็นปลัดกลาโหม ที่จะเกษียณฯ ก.ย.2568 ซึ่ง พล.อ.สนิธชนก ก็เป็นสายตรงทั้ง ‘2ป.ประยุทธ์-ประวิตร’ เพราะหากการทำงานระหว่าง รมว.กลาโหม กับ ปลัดกลาโหม ไปคนละแนวทาง ก็จะส่งผลต่องานเช่นกัน ดังนั้นชื่อของ พล.อ.นิพัทธ์ จึงถูกมองเพราะ ‘เหมาะสม’ กับสถานการณ์  

ในส่วน พล.อ.สนิธชนก ก็มีบุคลิก ‘ประนีประนอม’ เช่นกัน โดย พล.อ.สนิธชนก เติบโตเหล่าทหารราบ เริ่มจากเป็นบังคับหมวดปืนเล็ก กองร้อยทหารราบยานเกราะ กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ (ร.12 รอ.) , ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายข่าว (ฝ่ายอากาศ) กองพลที่ 1 รอ. , ผู้ช่วย ผอ.กองยุทธการ กองทัพน้อยที่ 1 ฝ่ายเสนาธิการประจำกรมยุทธการทหารบก , ผู้ช่วยทูตทหารบกที่ปารีส ,  ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 112 กองพลทหารราบที่ 11 (พล.ร.11) ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 19 กองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.11) , ผบ.พล.ร.9 , รองผบ.หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ก่อนข้ามมาโตที่กระทรวงกลาโหม จนขึ้นเป็นปลัดกลาโหม 

อย่างไรก็ตาม หากดูใน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จาก 100 ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะพบว่ามีชื่อ ‘อดีตนายหทาร’ เพียงคนเดียว คือ ‘บิ๊กอ๊อด’พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อยู่ในลำดับที่ 27 ที่ได้เป็น ส.ส. ในครั้งนี้ด้วย เพราะลำดับบัญชีรายชื่อเลื่อนมาถึง  

สำหรับ พล.อ.พิศาล เป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 จบ ตท.9 - จปร.20 รุ่นเดียวกับ พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ อดีต ปธ.ที่ปรึกษากองทัพบก พล.อ.สุรพันธ์ พุ่มแก้ว อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. เป็นต้น ในฝั่งตำรวจที่จบ ตท.9 คือ ‘บิ๊กป๊อด’พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 

ย้อนกลับไป พล.อ.พิศาล เริ่มต้นชีวิตราชการที่ ร.1 พัน 2 รอ. ก่อนลงไปอยู่ภาคใต้ ตั้งแต่เหตุการณ์ปราบกบฏ 26 มี.ค. 2520 จนขึ้นเป็น แม่ทัพภาคที่ 4 จนเกิดเหตุการณ์ที่ตากใบ ซึ่งในขณะนั้น พล.อ.ประวิตร เป็น ผบ.ทบ. ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ทว่าชีวิตราชการของ พล.อ.พิศาล ต้องพลิกผันจากเหตุการณ์ตากใบ โดนเด้งเข้ากรุไม่ได้คุมกำลัง ช่วยราชการที่ บก.ทบ. จากนั้นไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ประจำสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในอัตราพลเอก ก่อนเกษียณฯ 

ดังนั้นชื่อของ พล.อ.นิพัทธ์ กับ พล.อ.พิศาล จึงถูกจับตาจาก ‘คนใน-คนนอกกองทัพ’ ที่จะมานั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหม ในสถานการณ์ ‘เปลี่ยนขั้วอำนาจ’ และในกรณีที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้เป็น ‘แกนนำจัดตั้งรัฐบาล’ แทนพรรคก้าวไกล เพราะหากมองสถานการณ์ในขณะนี้ หลายสิ่งหลายอย่างก็ดูเหมือนจะ ‘ถูกผลัก’ ไปในลักษณะดังกล่าว 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์