ลุ้นวิบากกรรม ‘พิธา’ กับข้อครหาถือหุ้น iTV

7 มิ.ย. 2566 - 10:20

  • อ่านปรากฏการณ์ ‘นักร้อง’ ถล่ม ‘พิธา’ ปมถือหุ้นสื่อไอทีวี กับฉากทัศน์ในอนาคต ‘โอน’ สิทธิทายาทล้างมลทินหรือไม่

Pitha-acquires-iTV-shares-SPACEBAR-Hero
เป็นไปอย่างที่กังวลไว้ ว่าหนทางเข้ามาสู่ตำแหน่ง ‘เบอร์ 1 ไทยคู่ฟ้า’ ของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ไม่ใช่เรื่องง่าย ลำพังแค่ฝ่าด่านอรหันต์ ‘ส.ว.’ 250 คน ก็เลือดตาแทบกระเด็น  ไหนจะกระแสแวดล้อมรายวันเรื่อง ‘ดีลลับข้ามขั้ว’ ที่แม้พรรคเพื่อไทยจะให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนที่ชัดเจนในการอยู่ข้าง ‘รัฐบาลในฝัน’ จนน้ำลายฟ่อแล้วก็ตาม ฝ่ายสนับสนุนบางคนยังไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ  

ล่าสุดคลื่นสึนามิลูกใหญ่ที่กำลังจะเข้าซัดหัวหาด ‘ก้าวไกล’ อีกระลอก ไม่พ้นประเด็น ‘การถือครองหุ้นสื่อ ITV’ ที่กลายเป็นหอกทิ่มแทงพลพรรคเสื้อส้ม แม้ ‘หนุ่มทิม’ จะออกมาปฏิเสธบ่อยครั้งว่า ‘ไม่กังวล’ แต่ลึก ๆ เชื่อว่าคงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ถึงขนาดตัดสินใจ ‘โอน’ ให้ทายาทไปเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา  

ในอดีตจะมั่นใจในข้อกฎหมายและหลักฐาน แต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะมีความพยายามฟื้นคืนชีพ ‘ทีวีเสรี’ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางธุรกิจหรือการเมือง ทั้งยังเชื่อว่า มีคนพยายามสกัดกั้นให้ออกจากการเมือง จึงเริ่มตัดสิ่งที่ทำให้ ความไม่แน่นอนเพื่อให้การตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น 

สถานะของ ‘ไอทีวี’? 
จากรายงานประจำปี 2565 ของ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) รายงานว่า ‘ไอทีวี’ เคยประกอบธุรกิจสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ (UHF) ภายใต้สัญญาที่ทำกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 เป็นระยะเวลา 30 ปี (สิ้นสุดวันที่ 3 กรกฎาคม 2568)  

กระนั้น เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2550 สปน. ได้ยกเลิกสัญญา ไอทีวี จึงจำเป็นต้องหยุดการประกอบธุรกิจสถานีโทรทัศน์ไป จอดำหายไป ต่อมาทางวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีมติให้เพิกถอนหุ้นสามัญของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ทำให้ปัจจุบันไอทีวี ต้องประกอบกิจการรับจ้างโฆษณา ประชาสัมพันธ์แทน 

อย่างไรก็ดี มีคนแวดวง ‘ทีวีเสรี’ ออกมาโพสต์แสดงความเห็นบนเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่าง ‘จตุรงค์ สุขเอียด’ อดีตประธานสหภาพแรงงานหัวหน้างาน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) พิธีกรรายการถอดรหัสและบรรณาธิการข่าวเฉพาะกิจ ที่ให้มุมมองของสถานะไอทีวีในปัจจุบัน ผ่านเรื่องเล่าระหว่างการพูดคุยโทรศัพท์จากเพื่อนเก่าที่เคยทำไอทีวี  

ปลายสายบอกเล่าประเด็นการชนะคดีกับสปน. และชนะคดีในศาลปกครองกลางแล้ว ตอนนี้คดีอยู่ในชั้นศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเดือนมิถุนายนนี้จะมีคำวินิจฉัยมาออก คิดว่า ‘น่าจะยืนพิพากษาตามอนุญาโตตุลาการและศาลปกครองกลาง....คือชนะ’ 

จาตุรงค์ ถามต่อว่า ‘แล้วยังไง ?’ ปลายสายอธิบายว่า ตอนนี้บริษัทยังไม่ได้ปิดเพราะรักษาสถานะในการสู้คดี มีเงินลงทุนเดิมตั้งแต่ถูกปิดสถานีอยู่่ ถ้าชนะคดีแล้ว ‘ไอทีวีก็จะได้สิทธิคืนมา’ เผื่อสนใจมาทำรายการ...  

นี่จึงแสดงให้เห็นว่า หากมีการ ‘ปลุกผี’ ไอทีวีอีกครั้ง อาจส่งผลกระทบกับภาคการเมืองโดยตรง กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ ซึ่งจาตุรงค์ ยังระบุท้อยคำที่น่าสนใจปิดท้าย ว่า  

“ใครจะคิดว่ามันจะบังเอิญอะไรกับไทม์ไลน์ทางการเมืองพอดิบพอดีขนาดนี้ ไอทีวีเกิดจากผลพวงเหตุการณ์นองเลือดพฤษภา35 เปลี่ยนมือจากนักลงทุนหลายรายมาสู่เครือชินฯ จอดำจากเหตุการณ์รัฐประหารปี 49 และตอนนี้คงกำลังครึ่งหลับครึ่งตื่น ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออำนาจทางการเมืองปี 66 ถึงตอนนี้ ในใจอยากให้ไอทีวีหลับไปตลอดกาลเลยครับ อย่าตื่นขึ้นมาสร้างความวุ่นวายใดๆในบ้านเมืองนี้อีก ไม่ต้องห่วงคนไอทีวีหรอกนะ ทุกคนปลอดภัยดี” 

ลักษณะต้องห้ามของ ‘ส.ส.’
อย่างที่ทราบกันดีว่า ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ  ในฐานะ (หนึ่งใน) นักร้องคนดัง เป็นผู้เปิดประเด็นตรวจสอบ ‘พิธา’ โดยเข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. พร้อมระบุว่า หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล มีหุ้นอยู่ใน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวน 42,000 หุ้น ซึ่งผิดหลักและเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามในการลงรับสมัคร ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)  

ระบุว่า ลักษณะต้องห้ามการถือครองหุ้นสื่อเป็นลักษณะต้องห้ามทั้งการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. สมัครรับการสรรหาเป็น ส.ว. และห้ามสำหรับผู้เป็นรัฐมนตรีด้วย ข้อความลักษณะนี้ยังมีในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) ด้วย พร้อมทั้งยังถยอยส่งข้อมูลให้กับกกต. อย่างไม่ลดละ เปรียบดั่ง ‘นักโรยตะปูเรือใบ’ ขั้นเซียน  

อ่านบทวิเคราะห์การเมือง หนังสือพิมพ์มติชน ประจำวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่าเบื้องหลังของ ‘เซียนตะปู’ เป็นคนของพรรคภูมิใจไทย ที่ทำงานกับ ‘เรืองไกร’ อย่างเป็น ‘ขบวนการ’ อย่างไรก็ดี ในวันเดียวกัน ‘นพรุจ วรชิตวุฒิกุล’ อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อ กกต.ขอให้เชิญ ‘นิกม์ แสงศิรินาวิน’ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย กรุงเทพมหานคร อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ และได้ถือหุ้นไอทีวี เฉกเช่นเดียวกับพิธา จึงจำเป็นที่ต้องให้เข้ามาเป็นพยานบุคคล เพราะถือเป็นพยานปากเอก 

หลักเกณฑ์ครรลองการไต่สวน 
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ อดีต กกต. เกี่ยวกับเรื่องที่จั่วหัวไปข้างต้น ผู้ถูกถามอธิบายตามหลักการ 3 ข้อดังนี้ 
  1. กกต.อาจพิจาณาจากข้อมูลไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่ หากเดาก็คงจะบอกว่า ‘เป็น’ เพราะเท่าที่ทราบยังไม่ได้เลิกประกอบกิจการและยังมีวัตถุประสงค์ในการทำสื่อ ปัจจุบันยังทำสื่อบางประเภท (ในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ทีวี)  
  2. กรณี ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เป็นผู้ถือหุ้นหรือไม่ ต้องไปพิสูจน์สถานะของเขาในวันที่ รับสมัคร ส.ส. (4 เมษายน 2566) ว่าถือหุ้นหรือเปล่า ซึ่งต้องไปดูทั้งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีเรื่องผู้จัดการมรดก และการโอนหุ้่นให้กับทายาทช่วงปลายเดือนพฤษภาคม จะมีผลต่อสถานะการถือหุ้นหรือไม่  
  3. ถ้าถูกวินิจฉัยว่าหัวหน้าพรรคก้าวไกลยังเป็นผู้ถือหุ้นสื่ออีก กกต. จะต้องมาพิจารณากันต่อที่เจตนารมณ์ของกฎหมาย ว่ามาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญ มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร และสอดคล้องหรือไม่  
“ไอทีวีเป็นสื่อแน่นอน แต่หาก กตต. พิจารณาแล้วว่าพิธาไม่ได้มีสถานะเป็นถือหุ้นสื่อด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ทุกอย่างก็จบ แต่หากประเด็นที่ 2 ยังคงมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นสื่ออยู่ ก็ต้องพิจารณาตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ว่ามาตราดังกล่าวของรัฐธรรมนูญมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไรเขาน่าจะพิจารณา 3 ขั้น”  

เมื่อถามว่ากระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นช่วงไหน อดีตกกต. มองว่า ทำคู่ขนานกับช่วงรับรอง ส.ส. ได้ แต่การลงมติต้องเป็นหลังการรับรองเสร็จสิ้น เพราะอำนาจของกกต. ในการวินิจฉัยและส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามมาตรา 82 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า ส.ส. ที่ไปพบภายหลังว่ามีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม กกต. สามารถดำเนินการส่งเรื่องไปที่ศาลได้ทันที 

ในประเด็นการโอนหุ้นของพิธา ช่วงสิ้นเดือนทีผ่านมานั้น สมชัยมองว่า เมื่อฟังคำชี้แจงจากเจ้าตัวแล้วก็กระจ่างในหลายประเด็น โดยเฉพาะการป้องกันตัวเองในอนาคต หากเกิดกรณีไอทีวีถูกปลุกจากหลุมอีกครั้ง กระนั้นก็ไม่ได้ถือว่าเป็นลบล้างการถือหุ้นหรือไม่ถือหุ้นในวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา  

“โอนวันนี้ไม่มีผลต่ออดีต แต่มีผลต่ออนาคตซึ่ก็ไม่รู้วันไหนด้วยซ้ำ การโอนจึงอาจถูกครหาว่า รู้ว่าสิ่งนี้ผิดจึงรีบเอาออกจากตัว เพราะท้ายที่สุดในการวินิจฉัยต้องหยิบยกสถานะในวันที่ 4 เมษาฯ มาคิดเท่านั้น เพราะวันที่สมัคร ส.ส. ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัตรครบถ้วน แต่ถ้าผิดพิธาจะผิดคนเดียว คือไม่มีสิทธิ์เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือแคนดิเดตนายกฯ ได้ คนอื่นจะไม่ติดร่างแห” สมชัย กล่าวทิ้งท้าย 

คงอย่างที่อดีตคนข่าวทีวีเสรีกล่าวไว้ ‘ในใจอยากให้ไอทีวีหลับไปตลอดกาลเลยครับ อย่าตื่นขึ้นมาสร้างความวุ่นวายใด ๆ ในบ้านเมืองนี้อีก’ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์