พิพากษา ‘ระบอบลุง’ ชะตา ‘ขวาพิฆาตซ้าย’

12 พ.ค. 2566 - 07:25

  • การเลือกตั้งครั้งนี้ ยังคงเป็นการต่อสู้ ‘เชิงอุดมการณ์’ ระหว่าง ‘ฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา’ เป็นเดิมพันครั้งสำคัญ ปรากฏการณ์ ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ จึงเกิดขึ้น คู่ขนานกับการ ‘พิพากษา’ ฝ่ายอนุรักษนิยม ผ่านภาพ ‘ระบอบลุง’

Politic-Signal-Election-Liberalism-Conservative-SPACEBAR-Thumbnail
การเมืองไทยยังคงผูกยึดกับ ‘ระบอบลุง’ ที่ฉายภาพผ่าน ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ ที่อยู่ในอำนาจมาเข้าปีที่ 9 โดยเฉพาะกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ ‘ฉีกกฎปฏิวัติ’ เป็นหัวหน้าคณะ รปห. ที่นั่งเก้าอี้ นายกฯ เอง ที่ผ่านมาหัวหน้าคณะ รปห. จะไม่นั่งนายกฯ เอง เพราะจะดูรวบรัด ‘อำนาจเบ็ดเสร็จ’ และมีบทเรียนในอดีตมาแล้ว นำมาสู่เหตุการณ์นองเลือด เช่น พฤษภาทมิฬ 2535 

พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในอำนาจยาว 5 ปี ก่อนจะให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกหลัง รปห. 57 การเลือกตั้งในปี 62 จึงเป็นทางแพร่งแรกของ ‘ระบอบลุง’ ที่จะได้ไปต่อหรือไม่ เรียกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ฉีดกฎปฏิวัติถึง 3 เด้ง เพราะผิดธรรมเนียมการทำ รปห. ที่ต้องรีบ ‘คืนอำนาจ’ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยื้อเวลาถึง 5 ปี รวมทั้งการตั้ง ‘พรรคทหาร’ ขึ้นมา นั่นคือ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ที่ชนะการเลือกตั้ง  

แม้จะเป็นลำดับที่ 2 แต่ได้ชิงตัดหน้า ‘พรรคเพื่อไทย’ ในการตั้งรัฐบาล ในสภาพเสียงปริ่มน้ำ โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกฯ อีกครั้ง อยู่ในอำนาจต่ออีก 4 ปีเต็ม ท่ามกลางศึกสายเลือด จปร. ระหว่าง ‘นายพลนอกราชการ’ กับ ‘ร้อยเอกคนดัง’ นำมาสู่จุดเปลี่ยนสำคัญในฝั่ง ‘ระบอบลุง’ ด้วยกันเอง 

เกิดการ ‘แยกกันเดิน’ ระหว่าง ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ ในการแยกพรรคของ ‘ป.ประวิตร-ป.ประยุทธ์’ ที่ต่างมีแนวทางของตัวเอง เป้าหมายคือการชิงเก้าอี้นายกฯ ในลักษณะ ‘ใครดีใครได้’ ทำให้สมการอำนาจ - เกมการเมืองเปลี่ยนไป ภายใต้การเมือง ‘ระบอบลุง’ ที่แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ เอาลุงคนไหน? และไม่เอาทั้ง 2 ลุง 

การหาเสียงปี 66 ยังคงอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกับปี 62 ว่าจะเอาหรือไม่เอา ‘ระบอบลุง’ ในเกมเช่นนี้พรรคที่ได้เปรียบ คือ พรรคที่ต่อสู้ใน ‘เชิงอุดมการณ์’ จะเห็นได้ชัดว่ากระแสตกไปที่ ‘พรรคก้าวไกล’ และ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ที่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ ในฝั่งพรรคก้าวไกล เป็นตัวแทน ‘หัวก้าวหน้า-แนวคิดซ้ายจัด’ ส่วน รทสช. เป็นตัวแทนฝั่ง ‘อนุรักษนิยม-ขวาจัด’ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ ‘พรรคกลางๆ - เสมือนกลางๆ’ อยู่ในสภาวะ ‘กลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ 

โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ถูกครหาว่า ‘มีพิรุธ’ เวลาถูกจี้ถามเรื่องการ ‘จัดตั้งรัฐบาล’ ที่มักจะ ‘มีเงื่อนไข-คำสร้อย’ ต่อท้าย ผิดกับพรรคก้าวไกลที่ชัดเจนแต่ต้น ในสถานการณ์ที่ ‘สังคมบีบ’ ให้แต่ละพรรคชัดเจนในเรื่องนี้ แรงบีบถูกส่งไปยังพรรคเพื่อไทย พร้อมกับผลโพลที่พรรคก้าวไกล ‘หายใจรดต้นคอ’ และ ‘แซง’ ทำให้พรรคเพื่อไทย ออกมาประกาศชัดไม่เอาทั้ง 2 ลุง ทั้ง ‘ลุงตู่-ลุงป้อม’ แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าคนพูดมี ‘อำนาจ’ แท้จริงหรือไม่ แม้ว่าจะถึงขั้นที่ ‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร’ หน.ครอบครัวเพื่อไทย ลูกสาว ‘ทักษิณ ชินวัตร’ พูดย้ำหนักแน่นก็ตาม 

ในช่วงโค้งสุดท้าย หลายพรรคก็ประกาศชัด ผ่านม็อตโต้ที่ว่า “มีลุงไม่มีเรา” หรือ “มีเราไม่มีลุง” ทั้งพรรคเพื่อไทย - ก้าวไกล - ไทยสร้างไทย ที่ปลุกแคมเปญนี้พร้อมกัน แสดงความชัดเจนในจุดยืน ในฝั่ง ‘ขั้วอนุรักษนิยม’ ในบางพรรคยังคง ‘แทงกั๊กจุดยืน’ ให้รอดูผลเลือกตั้งที่จะเป็นปัจจัยในการตั้งรัฐบาล เพราะไม่ต้องการให้ ‘คำพูดมัดตัว - คำพูดเป็นนาย’ นั่นเอง บางพรรคก็เลี่ยงไปหาเสียง ‘ก้ามข้ามความขัดแย้ง’ แทนไปเลย ยกเว้น รทสช. ที่ชัดเจนไม่จับมือ ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ แน่นอน 

ในฝั่งพรรคซีกฝ่ายค้านเดิมพยายาม ‘เลี้ยงกระแส’ ให้ได้มากที่สุด แต่ก็เผชิญสภาวะ ‘ตัดคะแนน’ บนฐานเสียงเดียวกัน กลายเป็นการ ‘ขบเหลี่ยม’ กันเอง ระหว่าง ‘เพื่อไทย - ก้าวไกล’ ส่วนฝั่งซีกรัฐบาลเดิมก็มี ‘พื้นที่ทับซ้อน’ กัน ในฝั่งนี้ก็หวัง ‘พลังบ้านใหญ่’ ที่จะกอบโกยเก้าอี้ ส.ส.เขต ให้ได้มากที่สุด ส่วน รทสช. ก็เน้นไปที่การปลุกกระแส ‘ลุงตู่’ รวมทั้งปลุก ‘พลังเงียบ’ ให้มาเลือก โดยมีเป้าหมายชัดเจนคือสู้กับ ‘ก้าวไกล - เพื่อไทย’ ทำให้ รทสช. กระแสดีที่สุดในซีกพรรครัฐบาลเดิม 

การเลือกตั้งครั้งนี้จะเสมือนการ ‘พิพากษาระบอบลุง’ ศึกครั้งนี้จึงเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ ‘แพ้ไม่ได้’ เพราะจะเป็น ‘ความเสี่ยง’ ของฝั่ง ‘อนุรักษนิยม’ หากซีก ‘ก้าวไกล - เพื่อไทย’ ขึ้นมาอีกอำนาจ (อีกครั้ง)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์