อำนาจต่อรองสูง? เป็นไปได้แค่ไหนกับ ‘ภูมิใจไทย’ ในฐานะ ‘รองแชมป์’ เลือกตั้ง 66

18 เมษายน 2566 - 07:21

Possibility-of-Bhumjaithai-Party-taking-2nd-place-in-the-election-SPACEBAR-Thumbnail
  • ‘ซุปเปอร์โพล’ เผยผลสำรวจเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 4 ‘ภูมิใจไทย’ ที่ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งมาเป็นอันดับสอง รองจาก ‘พรรคเพื่อไทย’

  • ‘รศ.สุขุม นวลสกุล’ มองผลโพลไม่ได้เป็นแต้มต่อทางการเมืองให้ภูมิใจไทย เพราะสุดท้ายอยู่ที่คะแนนเลือกตั้ง

ไม่พูดคงไม่ได้ กรณีที่ ‘ซูเปอร์โพล’ เผยผลสำรวจเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 4 ส่งท้ายเทศกาลสงกรานต์ (16 เมษายน 66) ทำเอาบรรดาคนการเมืองชุ่มฉ่ำ มั่นใจพอตัว แม้สำนักวิจัยหัวดังกล่าวมักถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องความน่าเชื่อถือจากสังคมบ่อยครั้ง อย่างไรเสีย ก็ถือเป็นข้อมูลสถิติที่น่าสนใจอยู่มากสำหรับ ข้อมูลที่ระบุถึง ‘พรรคภูมิใจไทย’ ที่ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งมาเป็นอันดับสอง รองจาก ‘พรรคเพื่อไทย’ คือ 101 ที่นั่งทั่วประเทศ หรือ 25.3 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งทั้งหมด  

หากมองภาพจำนวนที่นั่ง ส.ส. นั้นภูมิใจไทยสามารถกวาดกระจายไปทุกกลุ่มจังหวัดแต่ละภาค หากคิดเป็นตามสมการคณิตศาสตร์ ‘เสี่ยหนู’ จะได้ ส.ส.เขตเลือกตั้ง มากที่สุด ในภาคตะวันตก จำนวน 10 ที่นั่ง หรือร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือกระจายแทรกเข้าตามภูมิภาคจำนวนมาก ได้แก่ ภาคเหนือ จำนวน 5 ที่นั่งหรือ ร้อยละ 13.5 กรุงเทพมหานคร จำนวน 8 ที่นั่ง หรือ ร้อยละ 24.2 อีสานจำนวน 36 ที่นั่งหรือร้อยละ 27.1 กลาง จำนวน 26 ที่นั่ง หรือร้อยละ 29.2 ภาคตะวันออก จำนวน 6 ที่นั่งหรือร้อยละ 20.7 และภาคใต้จำนวน 10 ที่นั่ง หรือร้อยละ 16.9 ในการศึกษาครั้งนี้ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3VMjk0ex7BsRMxgy1wZSFa/a4eea017341a999c5df048c005b91f0c/Possibility-of-Bhumjaithai-Party-taking-2nd-place-in-the-election-SPACEBAR-Photo01
Photo: ขุมกำลัง ‘ภูมิใจไทย’ ในศึกเลือกตั้ง 2566
‘สนามรบที่ราบสูง’ ปีนี้แบ่งเพิ่มเก้าอี้เป็น 116 ที่นั่ง ซุเปอร์โพลทำนายว่า ‘พรรคตระกูลชินวัตร’ ยังครองแชมป์อีสาน ได้ 78 เก้าอี้ มากกว่า ‘พรรคตระกูลครูใหญ่เนวิน’ 42 เก้าอี้ แต่จุดที่น่าโฟกัสข้อมูลของ ‘สนามเมืองหลวง’ ที่แต่เดิมภูมิใจไทยไร้ซึ่งแม่เหล็ก คว้าน้ำเหลวทุกสมัย แต่รอบนี้ผลสำรวจคาดการไว้ ว่าจะได้ถึง 8 ที่นั่ง ซึ่งผู้ตอบผลสำรวจนี้อาจมาจากกองเชียร์เจ้าของพื้นที่เดิม ที่ถูก ‘พลังดูด’ ย้ายมาก่อนนี้ เช็กลิตส์อดีต ส.ส.กทม. ในปี 2566 พบว่าภูมิใจไทยได้มือดีมาหลายคนทั้งจาก ‘พลังประชารัฐ’ และ ‘เพื่อไทย’ ได้แก่ ‘จักรพันธ์ พรนิมิตร’, ‘กษิดิ์เดช ชุติมันต์’, ‘พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์’ และ ‘ประเดมชัย บุญช่วยเหลือ’

นอกจากนี้ยังมีกำลังแฟนคลับ ‘เอกภพ เหลืองประเสริฐ’ ที่แห่แหนเข้าสนับสนุนแม้จะไม่ได้เป็น ส.ส. มาก่อน แต่สร้างคะแนนจากการช่วยเหลือผู้ทุกข์ร้อนผ่านงานเพื่อสังคม ภายใต้แบรนด์ ‘สายไหมต้องรอด’ เข้ามาเพิ่มฐานเสียง บุคคลมีชื่อเหล่านี้ล้วนอยู่ภายใต้การดูแลของมือแม่ทัพเมืองหลวงมือพระกาฬ อย่าง ‘เสี่ยบี - พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์’ อดีตแกน กปปส. ผู้คว่ำหวอดการเมืองมหานครด้วย  

เรื่องผลโพลนี้มาวิเคราะห์เองคงไม่หนักแน่น ต้องถามไถ่ ‘รศ.สุขุม นวลสกุล’ อดีตอธิบการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึงกูรูการเมืองอธิบาย ว่าผลโพลต่างๆ ที่ออกมาไม่ใช่สิ่งการันตีที่มั่นคง เพราะสุดท้ายการจะบอก ว่าภูมิใจไทยลอยลำมาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคะแนนหลังการเลือกตั้ง แต่การที่แกนนำพรรคโดยเฉพาะ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ ที่ได้แสดงความมั่นใจออกมาแล้ว คือเกมการเมืองในการสร้างขวัญกำลังใจให้กับสมาชิก ส่วนตัวภายในใจของเสี่ยหนูอาจไม่เชื่อโพล และอาจมีข้อกังวลหลายอย่างอยู่ภายใน  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1FXMIHKjKMALu57CyKzVmD/2ce26eb2b9160683dfd993e7255351d2/Possibility-of-Bhumjaithai-Party-taking-2nd-place-in-the-election-SPACEBAR-Photo03
Photo: รศ. สุขุม นวลสกุล / มติชน
เมื่อโยนประเด็นความสำคัญที่สื่อมมวลชนตั้งบุปฉากันไปแล้ว ว่าสูตรการเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน กรณีแรก คือ รัฐบาลขั้วใหม่ประกอบไปด้วย ‘เพื่อไทย - ภูมิใจไทย - พลังประชารัฐ’ และรัฐบาลขั้วเดิมอย่าง ‘พลังประชารัฐ - ภูมิใจไทย - รวมไทยสร้างชาติ’ ซึ่งสมการดังกล่าวนอกจาก ‘พปชร.’ ที่อยู่ทุกขั้ว ก็มี ‘ภท.’ พร้อมสมานฉันท์ทุกก๊ก มีความเป็นไปได้ประการใด 

ในส่วนประเด็นผลโพลที่ชูพรรคภูมิใจไทยมาอันดับที่ 2 รองจากพรรคเพื่อไทยนั้น ถือเป็นการสร้างขวัญให้กับพรรค และสามารถดึงดูดผู้ลงคะแนนเสียงได้หรือไม่นั้น รศ. สุขุม มองว่า ข้อเท็จจริงอาจมีส่วนกับคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนเมือง เพราะสุดท้ายคนเหล่านี้ย่อมใช้ทั้งข้อมูล และความนิยมส่วนตัวมาพิจารณาในวันลงคะแนนเสียง  

“จะเรียกว่าผลสำรวจแบบนี้เป็นแต้มต่อให้ภูมิใจไทยก็อาจใช่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะคนที่อยู่ในเมืองหรือคนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการศึกษาอาจใช้ประโยชน์จากโพล แต่ชาวบ้านก็ยังคงเชื่อในคนท้องถิ่นอยู่ แต่สำหรับ กทม. เองเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนเสมอ ไม่ใช่เรื่อง่ายที่ภูมิใจไทยจะเจาะไข่แดงได้ง่าย” 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5TwrE1Ek4GLSVwa9mM6U46/27877ab35b32c8c9642ba1b77b1fe609/Possibility-of-Bhumjaithai-Party-taking-2nd-place-in-the-election-SPACEBAR-Photo02
Photo: ‘ภูมิใจไทย’ หมายเลข 7 กับสโลแกนพรรค ‘พูดแล้วทำ’
กูรูการเมืองอาวุโสย้ำคำเดิม ว่าสุดท้ายก็ต้องรอผลคะแนน แต่สำหรับพลังประชารัฐ และภูมิใจไทยมีความเหมือนและแตกต่างกันอยู่ หนึ่งทั้งสองพรรคมีเหมือนกัน คือ ชูนโยบายก้าวข้ามความขัดแย้ง ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การจัดตั้งรัฐบาลแบบรวมเสียงข้างมากทั้งสิ้น แต่หากสังเกตดีๆ ภูมิใจไทยเป็นฝ่ายเปิดแผนนี้ก่อนพลังประชารัฐ ที่เพิ่งเริ่มเกมในช่วงหลัง เนื่องจากต้องการดึงเสียงจากแฟนคลับ ‘บิ๊กตู่’ ที่อยากเห็นบ้านเมืองปราศจากความขัดแย้งเท่านั้น และหากพูดเรื่องแต่มต่อการร่วมรัฐบาลขั้วใหม่กับเพื่อไทย ‘พรรคเสี่ยหนู’ มีแต้มต่อมากกว่า 

“ภูมิใจไทยสูงกว่า เพราะก้าวข้ามความขัดแย้งแบบเขา คือการไม่กล้าแสดงออก ในขณะที่พลังประชารัฐเองก็แอ็คชันออกมาระดับหนึ่งว่าจะไม่จับมือกับเพื่อไทย หลังมีกระแสไม่เห็นด้วยจากแฟนกลับหลายคน อย่างไรเสียขี้นอยู่กับจำนวนเก้าอี้ที่จะเป็นแต้มต่อสำคัญเท่านั้นที่จะชี้วัดทุกอย่าง โพลเหล่านี้ก็ไม่เที่ยงต้องรอดูต่อไป เพราะความเห็นไม่ใช่คะแนนเก้าอี้อย่างเป็นทางการ” รศ. สุขุม นวลสกุล กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์