เป็นไปได้แค่ไหนที่ ‘ประยุทธ์’ จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

15 มีนาคม 2566 - 08:57

Possibility-of-forming-a-minority-government-of-Prayuth-SPACEBAR-Hero
  • วิเคราะห์แนวโน้มความเป็นไปได้กับแนวทางการจัดตั้ง ‘รัฐบาลเสียงข้างน้อย’ ของ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’

  • ‘ดร.สติธร ธนานิธิโชติ’ สถาบันพระปกเกล้า มองว่า พลเอกประยุทธ์ไม่มีทางจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่จะรอวันที่ให้มีเสียงข้างมากให้การสนับสนุน

  • ‘ประวิตร’ ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญ หากใครอยากเป็นรัฐบาลต้องผูกมิตรไว้

ปี่กลองการเลือกตั้งเริ่มบรรเลงดุดันขึ้น ผู้เข้าชิงชัยตำแหน่ง ‘นายกรัฐมนตรี’ หลายคน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา' ถูกสปอตไลต์ส่องสว่างกว่าคนอื่น เพราะทุนเดิมมีตำแหน่งเป็นนายกฯ คุมบังเหียนบริหารประเทศมากว่า 8 ปี ดังนั้นการรักษา ‘เก้าอี้’ ในศึกการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย ‘บิ๊กตู่’ จึงถูกจับตาทุกองคาพยพ  

หากดูจากขุมกำลังของ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ พรรคการเมืองที่สนันสนุนให้ ‘ลุงตู่ทำต่อ’ แนวโน้มการได้จำนวน ส.ส. ที่จะได้ในรอบหน้าดูน้อยนิด บางคนคาดคะเนว่าอาจน้อยกว่าถึง 25 เก้าอี้  ไม่สามารถเสนอแคนดิเดตฯ ที่เตรียมไว้ได้ และทิศทางที่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากมีแววริบหรี่ จนมีการตั้งข้อสังเกต ว่าหากรีเทิร์นกลับมาอีกวาระอาจต้องจัดตั้ง ‘รัฐบาลเสียงข้างน้อย’  

อย่างไรก็ดีหากมอนิเตอร์สถานการณ์และความคิดของบรรดาคนการเมืองและประชาชน ส่วนใหญ่เห็นตรงกัน ว่ากระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลต้องมาจากการ ‘รวมเสียงข้างมาก’ จากสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ขยายความให้เข้าใจง่าย คืออย่านับเสียงของ 250 ส.ว. ด่านอรหันต์ที่หลายคนมองตรงกันว่าส่วนใหญ่เป็นกำลังสนับสนุน ‘ป.ประยุทธ์’ 

ดังนั้นทฤษฎีการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยจึงแทบเป็นไปไม่ได้ เลยสำหรับ ‘ดร.สติธร ธนานิธิโชติ’ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ที่วิเคราะห์ว่าพลเอกประยุทธ์ไม่มีทางจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่จะรอวันที่ให้มีเสียงข้างมากให้การสนับสนุน 

ดร.สติธร ขยายความให้เห็นภาพชัด หากคิดบนฐานว่ากติกาการเลือกตั้งในทุกวันนี้จะ ‘เอื้อประโยชน์’ ได้ พลเอกประยุทธ์ (พรรครวมไทยสร้างชาติ) และพรรคอื่นๆ ต้องร่วมกันให้ได้ ส.ส. ครึ่งหนึ่งของสภา คือ มากกว่า 250 เสียงถึงจัดตั้งรัฐบาลข้างมากได้ หรือหากรวมกันไม่ถึงก็ต้องมีการยื่นข้อเสนอให้กับ ‘งูเห่า’ หรือ ส.ส. ขั้วตามข้ามให้โหวตสนับสนุน ‘บิ๊กตู่’ เป็นนายกฯ และทฤษฎีดังกล่าวจะสำเร็จได้ อยู่ที่ว่า ‘ป.ประยุทธ์’ กับ ‘ป.ประวิตร’ ร่วมมือกัน เพื่อให้ได้ ที่นั่ง ส.ว. เต็มจำนวน เพื่อเป็นการเชื้อเชิญ พรรคการเมืองอื่นๆ ที่อยากเป็นรัฐบาลเข้ามาร่วมด้วยแบบประวัติศาสตร์เมื่อปี 2562  

“สมมติรวมไทยสร้างชาติกับพลังประชารัฐได้ 80 ที่นั่ง บวกกับเพื่อนๆ ชุดเดิมอย่าง ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา หรือพรรคอื่นๆ ในขั้วเดียวกัน ตัวเลขอาจจะได้อยู่ที่ 220 ที่นั่ง ขาดอีก 30 เสียงที่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ก็อาจมีการเชิญพรรคขั้วตรงข้ามร่วมโหวตนายกฯ และจะถูกขับออกจากพรรคเดิมเพราะเป็นงูเห่า มาเพิ่มเป็นกำลังสนับสนุน เมื่อเกิน 250 เสียง ก็จะให้ ส.ว. ร่วมโหวตนายกฯ ดังนั้นถึงเวลาหลังการเลือกตั้งอาจจะเกิดปรากฏการณ์โหวตนายกฯ ครั้งแรกจะไม่ได้ใครเลย” 

ความอลม่านนี้มาจากรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งระหว่างที่ยังไม่ลงตัว ทุกอย่างก็เดินหน้าต่อ โดยมีพลเอกประยุทธ์เป็น ‘นายกฯ รักษาการณ์’ ไปเรื่อยๆ หากเกิดแบบนี้ฝ่ายค้านคงต้องจำยอม บางคนอาจ ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ ยอมสนับสนุนลุงตู่ เพื่อให้ประเทศก้าวต่อไป ดังนั้นจึงสนับสรุปได้ว่า ‘การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่มีอยู่จริง เพราะพลเอกประยุทธ์ต้องรอให้ได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก’  

เมื่อถามว่า หากพลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตรต้องร่วมรัฐบาลกันจริง แล้วจะตกลงเรื่องการเสนอชื่อนายกฯ อย่างไร ดร.สติธร บอกว่า ถ้าโดยปรกติทางการเมือง ใครได้ ส.ส. มากกว่าก็จะเสนอชื่อคนนั้นเป็นนายกฯ แต่หากคิดแบบ ‘3 ป.’ ก็ต้องเสนอ ‘น้องตู่’ เป็นนายกฯ เท่านั้น แม้ว่า ‘พี่ป้อม’ จะแสดงท่าทีอยากเป็นแค่ไหนก็ตาม เว้นแต่การจับมือของทั้งสองคนในศึกเลือกตั้ง ปรากฎเสียง ส.ส. ในมือของพลเอกประยุทธ์ ‘น้อยกว่ามาก’ พลเอกประวิตรอาจใช้ตรงนี้เป็นการต่อรองได้ในการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ ได้ 

ในส่วนประเด็นที่สังคมกำลังตั้งคำถาม ว่าคีย์แมนสำคัญอย่าง ‘ประวิตร’ จะมีแนวโน้มจับมือกับ ‘ประยุทธ์’ เหมือนเดิมหรือ ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยตามสโลแกนขายฝัน ดร.สติธร วิเคราะห์ว่าแนวโน้มการผนึกกำลังให้กลับมาเป็น ‘อำนาจบูรพาพยัคฆ์’ น่าจะเป็นไปได้มากกว่า  

อย่างไรเสีย หากพรรคเพื่อไทยได้จำนวน ส.ส. 310 คน ก็อาจจะเป็นอำนาจต่อรองให้ ‘ลุงป้อม’ ตัดสินใจผูกมิตรได้ ซึ่งในสนามการเมืองปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวถือว่าทำได้ยาก แต่มองอีกมุม หากเพื่อไทยได้ตามเป้าอาจไม่ต้องขอกำลังเสริมจากพลังประชารัฐ เพราะหากเสียงจากพรรคขั้วเดิมเข้ามาเติมเต็ม อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งเสียง ‘ศัตรูที่กลายเป็นมิตร’ เป็นการกลืนน้ำลายตัวเองไปเปล่าๆ 

“พลเอกประวิตรเป็นตัวแปรสำคัญ ใครอยากเป็นรัฐบาลต้องให้แก แต่จริงๆ ก็อยู่ที่พลเอกประยุทธ์และเพื่อไทยด้วย ดังนั้นพรรคตระกูลชินวัตรก็ต้องพยายามให้ได้มากที่สุด เพราะยิ่งได้ที่นั่งมากเท่าไหร่ ความสำคัญของพลเอกประวิตรก็จะน้อยลง สมมติได้ 310 เสียง พลเอกประวิตรก็คงไม่กล้าขอตำแหน่งนายกฯ แต่ถ้าได้ 200 – 220 ที่นั่งก็ค่อยว่ากันอีกที สำหรับรวมไทยสร้างชาติหากได้ที่นั่งน้อยเกินไป พลเอกประวิตรก็อาจไม่สนใจด้วย” 

ท้ายที่สุด ดร.สติธร ทิ้งท้ายว่า เกมกระดานที่กำลังจะเกิดขึ้น ‘พี่น้อง’ คือความสำคัญอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเข้าสู่โหมด ‘แยกกันเดินจริงจัง’ สมการตัวเลขย่อมเป็นปัจจัยที่สำคัญกว่า ส่งถึงผลลัพธ์ที่สมบูรณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม   

ดังนั้นต้องจับตาดูต่อไป ว่า ‘ป.ประวิตร’ และ ‘ป.ประยุทธ์’ จะชิงชัยด้วยกลยุทธ์อย่างใดต่อจากนี้ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์