การเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ถึง 1 สัปดาห์ข้างหน้า กลายเป็นวาระสำคัญของชาติ ประชาชนทุกกลุ่มความเชื่อ (ทางการเมือง) ต่างตื่นตัวและแสดงความพร้อมซ้อม ‘กากบาท’ ก่อนคูหาใหญ่จะเปิดจริงเสียอีก แสดงให้เห็นชัดอยู่สองกรณีคือ ประชาชนต้องการ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ หรือต้องการให้มีใครบางคน ‘อยู่ต่อ’
การโหมโรงของบรรดาพรรคการเมืองจึงเป็นไปอย่างเข้มข้น ดุดัน ไม่เกรงใจใคร ประหนึ่งมอตโต้โฆษณารถกระบะที่ฟีเวอร์บนโลกโซเชียลฯ ชั่วขณะหนึ่ง ดังนั้นจึงมีหลายอย่าง ที่ไม่เคยเห็น...ก็จะได้เห็น
หากสังเคราะห์จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 มิติทางการเมืองทั้งด้าน ‘เกมอำนาจ’ และ ‘การตรวจสอบ’ ล้วนมีความหลากหลายและน่าตื่นเต้น ผู้เขียนขอเชิญทบทวนปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ เพื่อบันทึกลงเป็นหน้าประวัติศาสตร์ เพิ่มอรรถรสในการเสพการเมือง แบบ ‘พาวเวอร์เกม’ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจเป็นเกร็ดส่วนหนึ่งให้ผู้อ่านได้ใช้พิจารณาก่อนจะเลือก ‘ใคร’ เข้ามาทำหน้าที่เป็น ‘ผู้แทนราษฎร’
การโหมโรงของบรรดาพรรคการเมืองจึงเป็นไปอย่างเข้มข้น ดุดัน ไม่เกรงใจใคร ประหนึ่งมอตโต้โฆษณารถกระบะที่ฟีเวอร์บนโลกโซเชียลฯ ชั่วขณะหนึ่ง ดังนั้นจึงมีหลายอย่าง ที่ไม่เคยเห็น...ก็จะได้เห็น
หากสังเคราะห์จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 มิติทางการเมืองทั้งด้าน ‘เกมอำนาจ’ และ ‘การตรวจสอบ’ ล้วนมีความหลากหลายและน่าตื่นเต้น ผู้เขียนขอเชิญทบทวนปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ เพื่อบันทึกลงเป็นหน้าประวัติศาสตร์ เพิ่มอรรถรสในการเสพการเมือง แบบ ‘พาวเวอร์เกม’ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจเป็นเกร็ดส่วนหนึ่งให้ผู้อ่านได้ใช้พิจารณาก่อนจะเลือก ‘ใคร’ เข้ามาทำหน้าที่เป็น ‘ผู้แทนราษฎร’

เลือกตั้งครั้งแรกหลังสิ้น ‘โควิด’
นับเป็นวิกฤติโรคระบาดครั้งใหญ่สำหรับประเทศไทยและนานาชาติ สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ‘โควิด - 19’ ที่เริ่มแผลงฤทธิ์ในเมืองไทยตั้งแต่ช่วงต้นศักราช 2563 ส่งผลกระทบต่อเนื่องในด้านสุขภาพ รายงานคร่าวๆ พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงไปแล้วเกือบ 3 หมื่นคน ป่วยติดเชื้อสะสมราว 4 ล้าน 3 แสนชีวิตนอกเหนือจากระบบสาธารณสุขที่ถูกตั้งคำถามเรื่องการจัดการแล้ว ยังมีการตั้งข้อสังเกตถึงการบริหารเศรษฐกิจในช่วงไวรัสระบาด ว่าไม่สอดคล้องในหลายจุด เป็นผลให้ประเทศต้องประสบกับปัญหาด้านการเงิน โดยเฉพาะระดับคนหาเช้ากินค่ำ หรือบุคคลชนชั้นกลางที่มีภาระทางครอบครัว โดยเฉพาะห้วงแรกๆ โดยสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เคยออกรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่งปี 2563 พบ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.03 มีผู้ว่างงานเกือบ 4 แสนคน ขณะที่เด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5.2 แสนคนต้องตกงาน
อย่างไรก็ดี ต้องให้ความเป็นธรรมในฝ่ายภาครัฐอยู่บ้าน เพราะไม่บ่อยที่ประเทศต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติโรคระบาดใหญ่ และมีอีกหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบเฉกเช่นเดียวกับไทย กระนั้น ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล ‘เจ้ากระทรวงหมอ’ ต้องตกอยู่ในฐานะจำเลยไปโดยปริยาย เรื่อง การจัดซื้อวัคซีนนำเข้า ขณะที่ ‘บิ๊กตู่’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ผู้สวมหมวก ‘ผอ.ศบค.’ ก็ถูกตั้งคำถามการบริหารบริหารโรคระบาดแบบ ‘รวมศูนย์’ หรือเบ็ดเสร็จแบบ ‘Single Command’ ทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ดูล่าช้าไม่ทันท่วงที รวมถึงประเด็นการประกาศ ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ ในช่วงมีการชุมนุม ซึ่งมองได้ทั้งสองแง่ว่า เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัส หรือการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของคนหนุ่มสาวที่ออกมาชุมนุมกันอย่างต่อเนื่อง
กระนั้นใช่ว่ามีแต่ข้อครหา ‘รัฐบาลประยุทธ์’ ทั้ง ‘ลุงตู่’ และ ‘หมอหนู’ ต่างได้รับคำชมจากหลายประเทศ ว่าสามารถยับยั้งและดูแลสถานการณ์โควิดได้ดี จนเป็นถ้อยคำที่ ‘พลเอกประยุทธ์’ และ ‘อนุทิน’ มักแสดงทรรศนะกับสื่อมวลชนมาโดยตลอดเมื่อถูกตั้งคำถามเรื่องการบริหารโรคระบาด

เศรษฐกิจน่าจับตา
ผลพวงจากวิกฤติไวรัสระบาดเมือง ที่กล่าวไปข้างต้น ส่งผลให้วิกฤติเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมาลุ่มๆ ดอนๆ โดยเฉพาะอัตราการว่างงานที่มีตัวเลขพุ่งสูง และปัญหาด้านปากท้องที่รุมเร้าคนไทย ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ที่ลงรับสมัครเลือกตั้ง ต่าง ‘ปล่อยของ’ ส่งตัวแทนเป็นดีกรีนักธุรกิจใหญ่ และบุคคลเชี่ยวชาญด้านการเงิน - การคลัง เข้าเรียกคะแนนเสียง อย่างไม่มีใครยอมใครเริ่มต้นด้วยฝ่ายค้านที่มี ‘เสี่ยนิด’ เศรษฐา ทวีสิน นักอสังหาริมทรัพย์ประสบการณ์กว่า 30 ปี ผู้มาในภาพลักษณ์ ‘ซีอีโอสายคอลเอาต์’ แคนดิเดตนายกฯ ‘พรรคเพื่อไทย’ น้องใหม่สนามการเมืองไทย ที่มาพร้อมกับนโยบายเรือธง ‘ดิจิทัลวอลเลต’ มี ‘หมอมิ้ง’ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และ ‘หมอเลี้ยบ’ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นคีย์แมนช่วยขับเคลื่อน
ขณะที่ ‘พรรคก้าวไกล’ มี ‘ทิม’ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตคนเดียวของพรรค ที่มาแรงช่วงโค้งสุดท้ายจากกระแส ‘พิธาฟีเวอร์’ เปิดโปรไฟล์ไม่ธรรมดา เป็นทายาทบริษัทผลิตผลิตผลทางการเกษตร นักธุรกิจหนุ่มพันล้าน พร้อมด้วย ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจมือทอง สร้างปรากฏการณ์ในสภาฯ มาแล้วหลายกรณี กอปร.ด้วยนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์อย่าง ‘เดชรัต สุขกำเนิด’ เบื้องหลังสำคัญของนโยบายแก้ปัญหาปากท้อง
ฝากฝั่งรัฐบาลหรือ ‘ฝ่ายอนุรักษ์นิยม’ ต่างก็ไม่น้อยหน้า ได้คนชั้นหัวกะทิเข้าพรรคมากล้น อย่าง ‘พรรคพลังประชารัฐ’ แกนนำรัฐบาลเลือกตั้งปี 2562 มีองคาพยรุ่นเก๋าหลายคนทั้ง ‘มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ’ ผู้มีวาทะศิลป์เป็นนักพูดแบบต่อยหอยคนนึง ผสมกับคนเก่าคุ้นเคยอย่าง ‘แก๊ง 2 กุมาร’ อย่าง ‘อุตตม สาวนายน’ และ ‘สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์’ ผู้วางรากฐานนโยบายทางเศรษฐกิจให้กับ ‘รบ.ประยุทธ์’
ด้าน ‘พรรคใหม่ลุงตู่’ อย่าง ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ก็ไม่น้อยหน้า ส่ง ‘หม่อมปืน’ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย และ ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ รองนายกฯ - รมต.กระทรวงพลังงาน มี ‘ไตรรงค์ สุวรรณคีรี’ นักการเมืองสำเนียงทองแดงรุ่นเก๋านั่งที่ปรึกษา
หากเปิดประวัติแต่ละคนแต่ละพรรคคงเป็นหางว่าว ไม่จบในสกู๊ปเดียว คงต้องศึกษาเลือกกันเอาเองอยากได้ใครมาคุมพังงาเศรษฐกิจประเทศ

‘กลับบ้านเก่า’
เรียกได้ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนถนนการเมืองช่วงก่อนเลือกตั้ง จะเห็นการขยับเขยื่อนบรรดาคนเซียนการเมืองหลายคนที่ตัดสินใจย้ายพรรค ที่เป็นประเด็นร้อนที่สุด หนีไม่พ้นกรณีของ ‘กลุ่มมิตร’ ที่กระจัดกระจายไปแบบเส้นขนาน ‘เสี่ยแฮงค์’ อนุชา นาคาศัย อำลาเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ไปซบ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ สนับสนุน ‘บิ๊กตู่’ ให้ ‘อยู่ต่อ’ ขณะที่ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ และ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ โบกมืออำลาหนี ‘ลุงป้อม’ กลับสังกัดเก่า ‘พรรคเพื่อไทย’จนเกิดกระแสการตั้งคำถามจากแฟนคลับของพรรค และคอการเมืองช่วงนึง ถึงการรับ ‘เซียนการเมืองกลับบ้าน’ จะยั่งยืนคงทนสถาพรหรือไม่
แต่อย่างว่า การเมืองไทยพิสดารกว่าสากลโลก ‘ลมฟ้าอากาศ’ เปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ...

พี่น้อง ‘ป้อม - ตู่’ แยกกันเดิน (หรือรวมกันตี)
ส่วนปรากฏการณ์เรื่อง ‘เกมอำนาจ’ เรียกได้ว่าไม่มีอะไร สร้างความแปลกใจเท่า กรณีการแยกกันเดินทางการเมืองระหว่าง ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ และ ‘พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ’ ในช่วงท้ายสมัยก่อนการประกาศยุบสภาฯ เพียงไม่กี่เดิน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ทั้ง ‘พี่ป้อม’ และ ‘น้องตู่’ เป็นสายเลือด ‘บูรพาพยัคฆ์’ กินอยู่ร่วมกันในกรมทหารมาแต่อ้อนแต่อ่อน สนิทชิดเชื้อเยี่ยงพี่น้องร่วมสาบาน จนกลายเป็นกลุ่มอำนาจทางการเมืองและกองทัพทรงพลังในยุคหลังการรัฐประหารปี 2557 ภายใต้ชื่อที่สื่อมวลชนขนานนาม ‘3 ป.’ ไม่มีใครคิดว่าการเมืองจะสามารถแยกพี่น้องออกจากกันได้อย่างไรเสีย เมื่อ ‘บิ๊กตู่’ ค้นพบเส้นทางของตัวเองกับ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ย่อมทำให้แฟนคลับของ ‘2 ลุง’ ต้องหวั่นใจ เดาเกมไม่ออกมาว่า ‘แยกกันเดิน’ กันจริงๆ หรือหลังคะแนนออกจะ ‘รวมกันตี’ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมแบบขั้วเดิมปี 2562 วาระถัดไปทำนายยากถนนทางการเมืองทั้งคู่จะบรรจบกันใหม่หรือไม่

ตกปลาในบ่อเพื่อน
ก่อนที่ ‘พลเอกประยุทธ์’ จะประกาศตัวชัดเจนช่วงท้ายปี 2565 ว่าจะลงรับสมัครเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของ ‘รทสช.’ กระแสการย้ายพรรคในขั้วรัฐบาลกระหื่มเข้าหูสื่อแทบทุกวัน กระทั่ง ‘ส.ส.พลังประชารัฐ’ และ ‘ส.ส.ประชาธิปัตย์’ หลายคนต่างทยอยตบเท้าลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเตรียมเข้าสังกัดใหม่ค่ายอารีย์ซอย 5 โดยเฉพาะ ‘พรรคเก่าแก่’ ที่มีที่ทำการพรรคห่างกันไม่เกิน 5 กิโลเมตร ถูก ‘เพื่อนตู่’ ตกไปกินหลายสิบคน จนเกิดประโยค ‘ตกปลาในบ่อเพื่อน’ ถูกขนานนามว่าเป็น ‘ประชาธิปัตย์สาขา 2’ เพราะทั้งกรรมการบริหารพรรค และผู้สมัคร ส.ส.ล้วนเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยง ‘พระแม่ธรณี’ ทั้งนั้น
‘แลนด์สไลด์’ VS ‘ตรงไปตรงมา’
จากความสั่นคลองของ ‘ก๊วน 3 ป.’ ไม่ได้สร้างความหวั่นไหวให้แค่เฉพาะ ‘กองเชียร์ทีมลุง’ แต่ยังส่งผลไปถึงขั้วการเมืองที่เรียกตัวเองว่า ‘ฝั่งประชาธิปไตย’ ด้วย หลังช่วงต้นปี 66 เป็นต้นมา ‘ลุงป้อม’ ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ได้แสดงเจตจำนงผ่านเฟซบุ๊กเป็นจดหมายน้อยหลายฉบับ ตลอดจนกล่าวต่อหน้าสาธารณชนเรื่อง ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ประจวบเหมาะกับห้วงเวลาที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ กำลังตกเป็นข่าวเรื่องการมี ‘ดีลลับ’ กับพรรคต่างขั้วอย่างพลังประชารัฐ ส่งผลให้กระแสโซเชียลฯ ร้อนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะแฟนคลับหนุ่มสาวหลายแอคเคาท์ต่างส่งสัญญาณให้เพื่อไทย แสดงจุดยืนชัดเจนกับแนวทางหลังการเลือกตั้ง ซึ่งฟีตแบ็กดังกล่าวทำให้บุคคลสำคัญของพรรคหลายคน ต้องออกมาแสดงท่าทีต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ‘อุ๊งอิ๊ง - เศรษฐา - หมอชลน่าน’ ที่ค่อยๆ ออกมาแสดงแนวทางขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่พ้นข้อครหาความไม่ชัดเจนดั่งเดิม
ทำให้กระแสความนิยมถ่ายเทไปที่ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่ใช้โอกาสที่เพื่อไทยกำลังเสียท่า ประกาศจุดยืน ‘ตรงไปตรงมา’ อย่างประโยคที่ว่า ‘มีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา’ ตัดปัญหาดีลลับข้ามขั้ว สร้างความมั่นอกมั่นใจให้กับคนหนุ่มสาวที่ ‘ไม่เอาทั้ง 2 ลุง’ จนเป็นกระแสติดลมบนลอยริ้ว นำ ‘พรรคตระกูลชินวัตร’ ทั้งบนโลกโซเชียลฯ และโพลทุกสำนักช่วงโค้งสุดท้าย
นี่เป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นบนถนนการเมืองไทยก่อนการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง ทุกอย่างเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจทั้งสิ้น