นัยที่ซ่อนอยู่ใต้โต๊ะ เมื่อ ‘ขุนพลภูมิใจไทย’ กินข้าวเที่ยงร่วมวง ‘บิ๊กป้อม’

16 มีนาคม 2566 - 10:39

Prawit-Anutin-Saksiam-joined-the-lunch-table-has-political-implications-SPACEBAR-Thumbnail
  • อ่านท่าทีการร่วมรับประทานมื้อกลางวันระหว่าง ‘บิ๊กป้อม’ และ ‘แกนนำพรรคภูมิใจไทย’ อะไรคือสัญญาณเงียบใต้โต๊ะ

  • ท่าที่ของแกนนำพรรคภูมิใจไทยหลังลือสะพัดเตรียมตั้งขั้วร่วม ‘พลังประชารัฐ’

  • รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต วิเคราะห์ปัจจัยของ ‘ลุงป้อม’ และ ‘เสี่ยหนู’ อะไรคือตัวแปรสำคัญในการพูดคุย

ประเด็นทางการเมืองสัปดาห์นี้ร้อนแรงไม่หยุด โดยเฉพาะเมื่อ ‘พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ’ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เผยแพร่จดหมายน้อยฉบับที่ 6 ‘บทสรุปสู่การก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ณ เวลา 9 โมง 9 นาที ให้หลังไม่กี่ชั่วโมง ก็มีภาพหลุดจากบ้านป่ารอยต่อ เป็นภาพการรับประทานอาหารมื้อเที่ยงระหว่างคนการเมืองจากสองพรรคใหญ่ 

มี ‘บิ๊กป้อม’ ในฐานะเจ้าบ้านนั่งหัวโต๊ะ ขนาบข้างซ้ายขวาด้วย ‘แกนนำพรรคภูมิใจไทย’ ได้แก้ ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และหมอใหญ่เจ้ากระทรวง สธ. ‘เสี่ยโอ๋’ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ปัจจุบันถูกสั่งชั่วคราวปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว และ ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ ส.ส.อุทัยธานี ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยความชื่นมื่นอบอุ่นดุจ ‘หมู่มิตร’ จึงไม่แปลกที่จะถูกตั้งข้อสังเกตว่า บทสนทนาบนโต๊ะอาหารมื้อเที่ยง อาจมีการพูดคุยเรื่องการเมืองด้วย 

บ้างคิดว่าเป็นคุยเปิด ‘ดีลร่วม’ เตรียมการเลือกตั้งที่จะมาถึง หรือบ้างก็ว่า เป็นการเข้ามาพึ่งชายคาบ้านป่ารอยต่อเป็นที่พึ่ง หลังพรรคภูมิใจไทยเจอมรสุมไม่หยุดหย่อน 

ผู้เขียนโทรศัพท์หา ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ สอบถามถึงบทสนทนาบนโต๊ะอาหาร ‘เจ้าพ่อน่านน้ำสะแกกรัง’ ที่วันนี้บินไปทำบุญ ณ ประเทศปากีสถาน ตอบสั้นๆ ว่า “เรานัดกินข้าวกันเฉยๆ ไม่ได้มีเรื่องการเมืองอะไรเลย คุยกันเรื่องสับเพเหระทั่วไป เพราะท่านอนุทินก็ไม่ได้เจอลุงป้อมหลายวันแล้ว คุยกันเรื่องสุขภาพทั้งนั้น” 

ต้นสายจากเมืองไทยถามย้ำ ว่ามีการพูดคุยเรื่องดีลทางการเมืองหรือไม่ ปลายสายจากแดนไกลตอบสั้นๆ ว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ส่วนตัวนั่งทานข้าวไม่ได้ยินเรื่องการเมืองทั้งสิ้น พร้อมระบุยังไม่ได้อ่านจดหมายที่พลเอกประวิตร แชร์ลงเฟซบุ๊กก่อนที่จะมีการตั้งวงรับประทานอาหารเพียงไม่กี่ชั่วโมงเลย  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1W07ITB9JKaGxjCu2nSjTZ/046767a4a8ce5a6091d8a1b71b6c7a93/Prawit-Anutin-Saksiam-joined-the-lunch-table-has-political-implications-SPACEBAR-Photo01
Photo: ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย
อย่างไรก็ดี แกนนำคนสำคัญต่างๆ ของพรรคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็น ‘เสี่ยหนู’ หรือ ‘บังซุป’ ศุภชัย ใจสมุทร ต่างก็ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อ หลังประเด็นถูกกระจายออกไปเป็นวงกว้าง  

โฟกัสไปที่การให้สัมภาษณ์ของเสี่ยหนูผ่านวิทยุคลื่นหนึ่ง ว่ามีการพูดคุยถึงสถานการณ์การเมือง แลกเปลี่ยนความพร้อมของทั้งสองพรรค ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ซึ่งพลเอกประวิตร สอบถามถึงการประเมินตัวเลข ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย จึงแจ้งว่าน่าจะได้ประมาณ 70 คน พล.อ.ประวิตร ก็เห็นว่าตรงกับผลโพลล์ที่ออกมา พร้อมปฏิเสธพูดคุยถึงการจับขั้วการเมืองใหม่ เพราะปัจจุบัน ทั้งพรรคภูมิใจไทยกับพรรคพลังประชารัฐ เป็นขั้วเดียวกัน คือขั้วรัฐบาลอยู่แล้ว    

พร้อมย้ำว่า ไม่ได้สร้างกระแส ‘ข่มขู่’ พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม และไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนการเมืองจะร่วมวงรับประทานอาหาร ‘ไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์อะไร’ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/32ZwK000dBB6UkpVvXLtxr/10256f3d09255dbea33febb372caaafa/Prawit-Anutin-Saksiam-joined-the-lunch-table-has-political-implications-SPACEBAR-Photo02
Photo: อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
อย่างไรก็ดี ในมุมมของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ‘รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต’ ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้วิเคราะห์ ว่าหากแกนนำพรรคภูมิใจไทยเป็นคนนัดหมายขอพบพลเอกประวิตรเอง อาจมีนัยยะซ่อนอยู่ คือเรื่องความสั่นคลอนของพรรคในปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระแสการถูกวิจารณ์เรื่องกัญชา และภาวะกัดไม่ปล่อยของ ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์’ ไปจนถึงกรณีที่ ’ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ ถูกพักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมชั่วคราว  

จากเดิมที่เคยมั่นใจว่า ส.ส.ที่ได้จากพลังดูด จะสามารถสร้างผลตอบรับได้เก้าอี้ถึง 120 ที่นั่ง ก็สั่นคลอนลงตามไป จึงจำเป็นที่จะต้องไปหารือกับ ‘บิ๊กป้อม’ เพื่อสร้างพันธมิตรเป็นฐานอำนาจในการต่อรองช่วงการเลือกตั้ง หรืออาจไปคุยเพื่อขอความช่วยเหลือ ด้านมรสุมที่พรรคกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งเจ้าของบ้านป่ารอยต่อก็คงยินดีต้องรับขับสู้ เพราะหากมี ‘เพื่อน’ ที่จะมาสนับสนุนตัวเองให้เป็นนายกฯ ก็ถือเป็นเพิ่มอำนาจในการต่อรองหลังการเลือกตั้งเช่น หรืออาจจะเป็นการสร้างภาพข่มขู่ฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย หลังประกาศแลนด์สไลด์ 310 เสียง ก็เป็นได้ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1qbf8g0SSlTNDvyiFKKlKf/ceb40909c21c29c2bc8da3f93f107541/Prawit-Anutin-Saksiam-joined-the-lunch-table-has-political-implications-SPACEBAR-Photo03
Photo: รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ในส่วนประเด็นที่สังคมตั้งข้อสงสัย หาก ‘พลังประชารัฐ’ กับ ‘ภูมิใจไทย’ ร่วมเป็นพันธมิตรทางการเมืองจริง หากเกิดกรณีมีพรรคใดพรรคหนึ่งถูกชวนไปร่วมงานกับอีกฝ่าย อีกพรรคต้องไปด้วยแบบยกแพคหรือไม่ รศ.ดร.พิชาย ให้มุมมองว่า ขึ้นอยู่กับตัวเลขหลังการเลือกตั้ง พรรคที่ชวนมีเท่าไหร่ หากได้มากก็ไม่จำเป็นต้องมาเป็นแพคเกจ 

เมื่อถามว่า หากกรณีเพื่อไทยต้องจัดตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐ แล้วจำเป็นต้องได้เสียง ส.ส.เพิ่มเพื่อเติมเต็ม พรรคภูมิใจไทยจะมีสิทธิเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ รศ.ดร.พิชัย วิเคราะห์ว่าเป็นไปได้ยาก แม้จะสมมุติว่าพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคพันธมิตรกับพลังประชารัฐ แต่สำหรับความหลังราวลึกซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวทางการเมือง ทำให้เป็นอุปสรรคในการร่วมงานกัน ทั้งนี้ยังเปรียบเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์ว่ามีสิทธิที่จะเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทยได้ง่ายกว่า เพราะจะไม่ติดปัญหาหากต้องการพรรคก้าวไกลร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี  

“ให้ผมประเมินระหว่างภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์ น่าจะยินดีร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า แม้ในอดีตจะเป็นคู่แข่งกัน แต่ปัจจุบันไม่ได้มีความบาดหมาง โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัวแบบภูมิใจไทย หากพรรคเพื่อไทยดึงพรรคภูมิใจไทยเข้ามา ก็อาจปิดประตูทางการเมืองกับพรรคก้าวไกล เพราะแนวคิดทางการเมืองต่างกันชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องประเด็นการแก้ไขมาตรา 112” รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กล่าวทิ้งท้าย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1Cj5MCxg39qUiRlifn9mS2/5440a9cdfb3f8fdd6b72fb04e519f91d/Prawit-Anutin-Saksiam-joined-the-lunch-table-has-political-implications-SPACEBAR-Photo04

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์