จับสัญญาณจากจดหมายน้อย ‘ประวิตร’ กับความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง ‘รัฐบาลแห่งชาติ’

18 มี.ค. 2566 - 02:08

  • ถอดความนัยจากจดหมายน้อยของ ‘พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ’ กับเปอร์เซ็นต์ความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง ‘รัฐบาลแห่งชาติ’

  • ปัจจัยการเกิดรัฐบาลแห่งชาติในมุมมองด้านรัฐศาสตร์การเมือง

Prawit- letter-edition-final-possibility-National-Government-SPACEBAR-Thumbnail
ยังคงเป็น ‘ตำบลกระสุนตก’ ต่อเนื่อง สำหรับ ‘พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ’ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ทยอยร่อน ‘จดหมายน้อย’ ผ่านเฟซบุ๊กต่อเนื่อง 6 ฉบับ บอกเล่าปัญหาของการเมืองไทยในอดีตที่ผ่านมา พร้อมแสดงจุดยืนของในการที่จะเข้าเป็นตัวกลาง ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ และพยายามสื่อสารว่า เข้าใจปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างการต่อสู้ของ ‘เสรีนิยมประชาธิปไตย’ และ ‘ขั้วอนุรักษ์นิยม’ พร้อมเหน็บแนม ‘การทำรัฐประหาร’ ของ ในฐานะ ‘ผู้ตื่นรู้’   

แต่ไม่วายถูกผู้คนโดยเฉพาะฟากฝั่ง ‘เสรีนิยม’ สาดกระสุนวิจารณ์กันแทบโกยกระบุงเก็บไม่ไหว เนื่องจากปูมหลังของ ‘ป.ประวิตร’ คือพี่ใหญ่ของ ‘อำนาจ 3 ป.’ รู้เห็นและสนับสนุนให้เกิดการรัฐประหารปี 2557  

อย่างไรก็ดี หลัง ‘ฝ่ายเสธฯ’ กำหนดเวลาเผยแพร่ ‘บทสรุปสุดท้าย’ ในวันที่ 16 มีนาคม เวลา 9 นาฬิกา 9 นาที สื่อมวลชนที่คอยจับความเคลื่อนไหว นั่งมอนิเตอร์หน้าจอแก้วตาเป็นมัน ต่างพบข้อความสำคัญที่อาจสื่อถึง ‘หัวใจลุงป้อม’ ตอนนี้ได้ดีที่สุด   

“ผมตั้งใจว่า เมื่อพรรคผมเป็นรัฐบาล ผมจะตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก นำนโยบายดีๆ ของทุกพรรค ที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียง เอามาทำและปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง โดยไม่ได้มีความรังเกียจหรือแบ่งแยก หากนโยบายเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ นี่คือการเมืองที่อยู่ในใจผม การเมืองที่ไม่ต้องมี  ‘ผู้ชนะเด็ดขาด’  ไม่มีฝ่ายใดต้อง ‘แพ้ราบคาบ’ ”   

หากถอดนัยจากวรรคทองที่ปรากฎข้างต้น อาจตีความได้ต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็น ‘การย้อนเกล็ด’ ยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศขอแลนด์สไลด์ 310 เก้าอี้ และจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากแบบพรรคเดียว 

อีกแนวคิดที่เด่นชัดมาตลอด คือ ‘เสนอตัวเองเป็นคนกลาง’ แก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยจดหมายน้อยฉบับนี้ว่าความอย่างละเอียดว่า ‘เมื่อได้เป็นรัฐบาลก็พร้อมจะตั้งกรรมการรวบรวมนโยบายของทุกพรรคมาปฏิบัติ’  

บางคนถึงขั้นพยายามแหวกหัวใจลุงป้อม นั่งเทียนตีความ ว่าอาจหมายถึงการจัดตั้ง ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ โดยมี ผู้เฒ่าชื่อ ‘ประวิตร’ เป้นศูนย์กลางเชื่อมทุกฝ่ายเข้าหากัน  

เรื่องนี้คิดเองเออเองไม่ได้ เพราะเจ้าตัวไม่ได้ระบุชัด หากอ้างอิงความคิดทางวิชาการ จาก ‘รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต’ ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)  ที่ให้ความเห็นกับผู้เขียน ว่าพลเอกประวิตรคงไม่ได้เขียนเปรยไปขั้นการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ แต่เป็นการพยายาม ‘วางตำแหน่งทางการเมือง’ ของตัวเองในฐานะ ‘ผู้ผสานความขัดแย้ง’ ดึงพรรคการเมืองต่างๆ เป็นแนวร่วม เพื่อยกระดับตัวเองเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต  

เป้าหมายหลัก คือการดึง ส.ส. เข้ามาในกลุ่มเดียวกัน ในขณะเดียวกันอาจเป็นการพยายามเชื่อมโยงกับพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อให้ด้วย แต่ผลเองประวิตรเองย่อมตระหนักได้ ว่าสิ่งที่ทำอยู่ต้องทำภายใต้ขอบเขตหนึ่งเท่านั้น เพราะมีเส้นบางๆ ถูกขีดไว้ไม่สามารถ ‘ก้าวข้าม’ ได้  

อาทิ หากจับมือกับ ‘เพื่อไทย’ ก็ต้อง ก็อาจจะไม่ได้รับความร่วมมือกับ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ เฉกเช่นเดียวกัน หากจับมือร่วมกับ ‘น้องคนเล็ก’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไมตรีระหว่างง ‘คนตระกูลชินวัตร’ ก็อย่าหวังได้รับ ดังนั้น หากจะเข้าสู่อำนาจ ‘ประวิตร’ จะรักพี่เสียดายน้องไม่ได้  

ในส่วน ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ เป็นคำที่เคยใช้มาตั้งแต่อดีต สมัยรัฐบาลพลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธ ขณะนั้นมีเป้าหมายรวบรวมพรรคการเมืองทุกพรรคจัดตั้งรัฐบาล ‘ไม่มีฝ่ายค้าน’ ซึ่งตามหลักรัฐศาสตร์ การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ต้องมีปัจจัยเกื้อหนุน คือช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ ทุกฝ่ายตกลงปลงใจร่วมงานกันเพื่อแก้ปัญหา อาทิ ภาวะสงครามกับต่างประเทศ หรือเกิดความขัดแย้งระดับชาติที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายแก้ปัญหา 

“สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้วิกฤติ ความขัดแย้งที่มีอยู่เป็นเรื่องปรกติทางการเมืองทั่วไป ดังนั้นคนที่ตีความแบบนี้อาจคิดเกินเลยไป พลเอกประวิตรอาจไม่ได้ต้องการขนาดนั้น แค่อยากส่งสัญญาเปิดช่อง แสดงความต้องการตั้งรัฐบาล โดยการนำพรรคฝ่ายค้านมาร่วมกับพรรครัฐบาล (บางพรรค) ความหมายคงจำกัดอยู่ประมาณนี้มากกว่า” รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กล่าว 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์