‘บิ๊กตู่’ มอบ ‘ชะลอม’ ให้รอง ปธน.สหรัฐฯ ส่งไม้ต่อเป็นเจ้าภาพเอเปค 2023

19 พ.ย. 2565 - 10:10

  • นายกฯ ร่วมหารือกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค สนับสนุน WTO

  • ผลักดันการค้าพหุภาคีรูปแบบใหม่ เน้นเปิดกว้าง สมดุล ยั่งยืน

  • ก่อนมอบ ‘ชะลอม’ ส่งไม้ต่อ ‘สหรัฐอเมริกา’ เจ้าภาพเอเปค 2023

Prayut-gives-Chalom-to-US Vice President-to-send-baton-to-host-APEC-2023-SPACEBAR-Thumbnail
การประชุมเอเปค ครั้งที่ 29 วันนี้ (19 พฤศจิกายน 2565) ถือเป็นการประชุมวันสุดท้ายเป็นการปิดฉากไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ รูปแบบ Retreat ช่วงที่ 2 หัวข้อ ‘การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน’

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การค้าและการลงทุนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคและโลก การค้าและการลงทุนถือเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือในเอเปค โดยองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่เอเปคสนับสนุน และสนับสนุนมาโดยตลอด คือ ระบบการค้าพหุภาคี มี WTO เป็นแกนหลัก  

ทั้งนี้ เอเปคสามารถมีบทบาทในฐานะแหล่งบ่มเพาะทางความคิด โดยร่วมกันหาทางออกใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ อาทิ ความครอบคลุม ความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล 

การสนับสนุนสำคัญอย่างหนึ่งของเอเปคในระบบการค้าพหุภาคี คือ การขับเคลื่อนวาระเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia- Pacific: FTAAP) ที่ในปีนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยจัดทำแผนงานต่อเนื่องหลายปีเพื่อขับเคลื่อนวาระเรื่อง FTAAP ต่อไป ซึ่งจะช่วยสร้างศักยภาพและเตรียมเศรษฐกิจให้พร้อมสำหรับยุคหน้า รวมถึงประเด็นการค้าและการลงทุนยุคใหม่ เช่น ความยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล การค้า และสาธารณสุข 

นายกรัฐมนตรีเห็นว่า นอกจากจะต้องดำเนินการตามแผนงานต่อเนื่องแล้ว ยังต้องคำนึงถึงขั้นตอนต่อไปด้วย โดยปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยรับมือและให้ฟื้นตัวจากโควิด-19 รวมทั้งยังสนับสนุน MSMEs ที่ถือเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโต ให้สามารถเข้าสู่ตลาดโลกและห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังขยายการเข้าถึงและสร้างโอกาสให้กับสตรี เยาวชน ตลอดจนในชนบทและพื้นที่ห่างไกล อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ยังคงมีช่องว่างอยู่ จึงจำเป็นที่จะต้องลดช่องว่างด้านดิจิทัลและเสริมพลัง เพื่อสร้างหลักประกันให้กับคนทุกกลุ่ม 

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปว่า เอเปคเห็นพ้องว่าต้องทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งและความกินดีอยู่ดีของประชาชนทุกคนในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ทั้งนี้ ยินดีที่เอเปคมุ่งมั่นสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่มี WTO เป็นศูนย์กลาง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนวาระ FTAAP  

โดยเอเปคยังสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต โดยเฉพาะสำหรับ MSMEs และธุรกิจนอกระบบ รวมถึงการส่งเสริมการค้า การลงทุน และห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น มุ่งเน้นการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไทย หวังว่าแนวคิดเศรษฐกิจ BCG จะช่วยบ่มเพาะความคิดใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมร่วมกันต่อไป 

โดยในตอนท้าย ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคร่วมกันรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ. 2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG  

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ร่วมพิธีส่งมอบตำแหน่งเจ้าภาพเอเปค โดยได้มอบ ‘ชะลอม’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการประชุมครั้งนี้ให้แก่ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิปดีสหรัฐอเมริกา พร้อมระบุว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี 2565 พร้อมขอบคุณการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากทุกเขตเศรษฐกิจมาโดยตลอด และเชื่อมั่นว่า ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา เอเปคจะได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างดี พร้อมอวยพรให้ประสบความสำเร็จในการเริ่มต้นวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2566 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ‘ชะลอม’ ที่ส่งมอบแก่สหรัฐอเมริกา ตัวชะลอมและพวงมาลัยถูกสานขึ้นด้วยไม้ไผ่โดยช่างฝีมือท้องถิ่นจากแบรนด์วาสนา แบรนด์เครื่องจักสานไม้ไผ่จากภาคเหนือของไทย โดยไม้ไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างช้านาน เป็นวัสดุธรรมชาติ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ถูกนำมาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นงานหัตถกรรมที่สวยงามต่างๆ ผ่านกระบวนการจักสาน โดยใช้เส้นสายของไม้ไผ่หลากหลายเส้นที่มีขนาดใกล้เคียงกัน นำมาขัดสานทับซ้อนกัน เพื่อให้เกิดเป็นรูปทรงชะลอมที่แข็งแรง เสมือนการร่วมมือกันที่เข้มแข็งของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ 

โดย สีทั้ง 3 สีของตัวชะลอมยังสะท้อนถึงหัวข้อหลักของการประชุมเอเปค ปี 2565 ของไทย คือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล (Open. Connect. Balance) โดยสีน้ำเงิน (Convenience Blue) สื่อถึงการเปิดการค้าการลงทุนของเขตเศรษฐกิจของ 21 เขตเศรษฐกิจ สีชมพู (Connection Pink) สื่อการเชื่อมโยงภายในภูมิภาค และสีเขียว (Sustainability Green) สื่อถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน 

เมื่อการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีนี้ของไทยสิ้นสุดลง ไทยพร้อมส่งมอบการเป็นเจ้าภาพต่อให้สหรัฐฯ โดยมีชะลอม 3 สีเป็นสัญลักษณ์ของการส่งต่อเจตจำนงของการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกันต่อไปในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้เติบโตอย่างเปิดกว้าง เชื่อมโยงกัน และยั่งยืนตามที่ไทยได้ผลักดัน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/27Uw8JzF1ZTNz94XV4wtDV/5322de48b99835ecf6435a1a054c1672/Prayut-gives-Chalom-to-US_Vice_President-to-send-baton-to-host-APEC-2023-SPACEBAR-Photo01
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5xOXAGZv3efOUiJBo67qxP/eb91327b5a276a028d0a5ce071ca50dc/Prayut-gives-Chalom-to-US_Vice_President-to-send-baton-to-host-APEC-2023-SPACEBAR-Photo02
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/zN3Hv7OX4J2aKsJoAXBT0/5765a7ba36a6c4b3751468fb7c11edec/Prayut-gives-Chalom-to-US_Vice_President-to-send-baton-to-host-APEC-2023-SPACEBAR-Photo03

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์