เจาะบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ ‘พท.’ คนเก่าแก่ยึดหัวตาราง นักบริหารรั้งท้ายแถว เดิมพันแผน ‘แลนสไลด์’

5 เมษายน 2566 - 09:16

Ranking-of-MPs-of-the-Pheu-Thai-Party-SPACEBAR-Thumbnail
  • เหตุผลการจัดอันดับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ‘คนเก่าแก่ยึดหัวตาราง นักบริหารรั้งท้ายแถว’ สู่การเดิมพันครั้งใหญ่ตามยุทธศาสตร์ ‘แลนด์สไลด์’

  • ‘ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เชื่อ เพื่อไทยมั่นใจพื้นที่ ‘เซฟโซน’ สูง เพราะผลสำรวจความนิยม ‘อุ๊งอิ๊ง - แพทองธาร’ มาเหนือ

หากกล่าวถึง ‘ควันหลง’ กิจกรรมการรับสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และจับเบอร์พรรคการเมือง ในวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา นอกจากภาพบรรยากาศคึกคักของบรรดากองเชียร์และผู้สมัครจากพรรคต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงกลิ่นอายการเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว ลำดับรายชื่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่แต่ละพรรคทยอยปล่อยข่าวเผยแพร่ออกมา หลังยื่นให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสร็จ ก็เป็นที่ให้ความสนใจของบรรดาคอการเมืองและสื่อมวลชนอย่างยิ่ง 

ถ้าจะพูดถึงพรรคการเมืองอันเป็นที่รู้จักทั่วไป ก็ไม่ผิดโผลหักปากกาเซียนนักวิเคราห์เท่าไหร่ เพราะอยู่บนพื้นฐานปรกติที่จะชูบุคคลสำคัญของพรรคขึ้นมาเป็นลำดับต้นๆ หรือปักหลักอยู่ในพื้นที่สีเขียว ‘เซฟโซน’ ซึ่งแต่ละสังกัดก็จะมีการวางอันดับ ‘ปลอดภัย’ ต่างกันตามผลสำรวจต่างๆ และข้อมูลด้านการวิเคราะห์ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่อาจจะมีประเด็นดราม่าเรื่องการจัดอันดับ ที่บุคคลสำคัญของพรรคบางคนไม่ได้อยู่ในพื้นที่หัวตาราง 

แต่สำหรับ ‘พรรคเพื่อไทย’ ถือว่าไม่มีปัญหา เพราะอันดับเซฟโซนอาจจะมีมากกว่าพรรคคู่แข่งอื่นๆ หากสังเกตผลสำรวจคะแนนนิยมเลือกนายกฯ หรือเลือกพรรค บ้างคาดการไว้ตั้งแต่คูหายังไม่ตั้ง ว่าจะได้รับเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มีตั้งแต่อันดับที่ 1 – 40 รายชื่อ กินจำนวนแผ่นรายชื่อไปแล้วกว่าครึ่ง ต่างกับพรรคอื่นๆ ขีดเส้นทึบพื้นที่ปลอดภัยอยู่แค่เพียง อันดับที่ 1 – 15 รายชื่อเท่านั้น ทำให้ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่อยู่ในอันดับ ‘มีลุ้น’ ต่างคาดหวังให้บุคคลแถวหน้าลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. หลังมีการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีให้ (กรณีร่วมเป็นรัฐบาล) เพื่อให้ได้ขยับี้ที่นั่งเสียบแทนอย่างสะดวกโยธิน  

ท่ามกลางวงพูดคุยของบรรดาผู้สื่อข่าวสายการเมือง มีหลายคนตั้งข้อสังเกต ว่าเพื่อไทยวางเกมยุทธ์ศาสตร์ใกล้เคียงกันกับการเดินหมากของ ‘ไทยรักไทย’ และ ‘พลังประชาชน’ ในอดีตจำเป็นต้องกังวลเรื่องดังกล่าว เพราะมีการแบ่งเค้กไว้ล่วงหน้าแล้ว
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4bSabdUNBWXpOhLMx1RitR/be8e72fecb8a1c6196e31c626313b625/Ranking-of-MPs-of-the-Pheu-Thai-Party-SPACEBAR-Photo01_copy
ดังนั้นขุมกำลังผู้สมัคร ส.ส.แบ่งเขต พรรคเพื่อไทย จะมีข้อแตกต่างจากพรรคอื่น อย่างชัดเจน คืออันดับหัวตาราง จะเป็นบุคคลสำคัญของพรรคที่จะเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร เป็นบุคคลเก่าแก่คนสำคัญไม่ว่าจะเป็นอดีตหัวหน้าพรรคหรือแกนนำที่อยู่มานานนม อาทิ อันดับที่ 1 – 5 มี ‘พลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์’ - ‘สมพงษ์ อมรวิวัฒน์’ - ‘ประเสริฐ จันทรรวงทอง’ - ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ - ‘ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง’ และ ‘เกรียง กัลป์ตินันท์’ ถือเป็นก๊วนอาวุโสของพรรค  

ลำดับถัดมาจะเป็นกลุ่มแกนนำที่เคยร่วมทัพมาตั้งแต่สมัยพรรคเก่าแก่ดั้งเดิม อย่าง ลำดับที่ 7 – 20 รายชื่อ เป็นชื่อของมุ้งการเมืองกลุ่มต่างๆ ที่ย้ายกลับพรรคเพื่อไทย และแกนนำคนสำคัญตั้งแต่พรรคไทยรักไทย อาทิ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ - ‘สุชาติ ตันเจริญ’ - ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ - ‘ชัยเกษม นิติสิริ’ และ ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’   

ขณะที่ลำดับรั้งท้าย วางตัวไว้สำหรับนักบริหารของพรรค อย่างอันดับที่ 98 – 100 ‘พวงเพ็ชร ชุนละเอียด’ - ‘สนธยา คุณปลื้ม’ และ ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ คุมพื้นที่หางแถว  

‘ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นเรื่องนี้กับทีมข่าว SPACEBAR ว่า พรรคเพื่อไทยมีการจัดอันดับปาร์ตี้ลิสต์ได้ดีกว่าพรรคการเมืองอื่น แต่มีนัยซ่อนอยู่ อย่างกรณีการจัดอันดับบุคคลอาวุโสที่พลีกายถวายชีวิตให้กับพรรคมาโดยตลอดขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ถือเป็นการตอบแทนเพื่อให้ลุ้นได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด และนักการเมืองเขี้ยวลากดินเหล่านี้มีความเจนจัดด้านงานนิติบัญญัติสูงมาก ทางพรรคจึงมองความเหมาะสม 2 ข้อนี้ใช้พิจารณาจนเกิดผลลัพธ์ที่เห็นๆ กันแต่ละคนมีชั่วโมงบินทางการเมืองสูง ลุกขึ้นประท้วงเก่ง และมีความแม่นยำเรื่องข้อบังคับไม่เป็นรองใคร 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3SVmOxg54EOsVyabD5kz3t/e051e6294d83e89a0da0c4cc8d661999/Ranking-of-MPs-of-the-Pheu-Thai-Party-SPACEBAR-Photo01
Photo: ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ในส่วนประเด็นที่หลายคนสงสัย ว่าทำไมบุคคลจึงมีบุคคลสำคัญหลายคนอยู่ในอันดับรั้งท้ายนั้น นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์อธิบายว่า ไปในทิศทางเดียวกันกับที่สื่อมวลชนตั้งข้อสังเกต คือทางพรรคมีการจัดวางตำแหน่งในอนาคตไว้แล้ว หากได้เป็นรัฐบาลบุคคลเหล่านี้จะขึ้นแท่นรัฐมนตรีทันที ไม่ต้องพะวงแบบพรรคอื่นๆ  

“บางพรรคคิดไม่ซับซ้อนขอแค่ยึดอันดับที่หวังลุ้นเข้าสภาฯ ให้ได้ก่อน เพราะไม่มั่นใจเรื่องพื้นที่เซฟโซน แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยที่วางยุทธศาสตร์ไว้ว่าจะได้ถึง 40 ที่นั่ง จึงสะดวกในการจัดอันดับ สังเกตสิไม่ค่อยมีเสียงโวยวาย บางคนอยู่ในอันดับรั้งท้ายก็มีกระแสมาก่อนหน้านี้ว่าจะได้เป็นรัฐมนตรี พูดง่ายๆ เขาแยกชัดเจนว่าคนไหนจะเป็นรัฐมนตรี คนไหนจะเป็น ส.ส. เพราะเขาต้องรักษาจำนวนในสภาไว้เผื่อมีการโหวตเกิดขึ้น (หากเขาได้เป็นรัฐบาล) จะได้ไม่มีเสียงตกเสียงขาด” ผศ.วันวิชิต กล่าว  

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยหวังสูงหรือไม่กับอันดับเซฟโซนที่ดูมากกว่าพรรคอื่นๆ ผศ.วันวิชิต มองว่าเพื่อไทยประเมินจากข้อมูลคะแนนนิยมเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้เกิดปฏิกริยาหรือชุดความคิด ว่าถ้าพรรคจะประสบความสำเร็จตามยุทธศาสตร์ ‘แลนด์สไลด์’ ก็ต้องกล้าเล่นเกมแบบนี้ เรียกได้ว่าเป็นการ ‘เดิมพัน’ ความอยู่รอดเลยก็ว่าได้ 

ผู้อ่านคงเห็นความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยอยู่บ้างจากบทความข้างต้น แต่มีอีกอย่างที่ผู้เขียนอยากตั้งข้อสังเกตทิ้งไว้ จากประเด็น 100 รายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ คือ บุคคลลำดับที่ 22 ‘ประวีณ์นุช อินทปัญญา’ ที่นอกจากจะอยู่ในอันดับเซฟโซน (ของเพื่อไทย) ยังมีหมวกอีกใบเป็นภรรยาคู่ชีวิต ‘พลเอกนพดล อินทปัญญา’ เพื่อนสนิท ‘บิ๊กป้อม - ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯ คนเดียวของพรรคพลังประชารัฐ ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวหนาหู ว่าจะร่วมขั้วรัฐบาลเดียวกันกับเพื่อไทย 

สัญญาณชัดขึ้นทุกวันแบบนี้จะให้เลิกจับตามอนิเตอร์ได้อย่างไร...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์