‘กมธ.กระจายอำนาจฯ’ แนะทบทวนร่างกฎหมายเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ

26 พ.ย. 2565 - 02:58

  • ‘โกวิทย์ - สฤษฏ์พงษ์’ แนะถอนร่างกฎหมายเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ กลับไปทบทวน

  • เผยไม่เห็นด้วยเปิดเผยรายชื่อผู้เข้าชื่อถอดถอน หวั่นสร้างความขัดแย้งรุนแรง

Recommend-reviewing-draft-law-to-sign-the-removal-members-of-local-council-SPACEBAR-Hero
โกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่น และการบริหารรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะ กมธ. ร่วมแถลงจุดยืน เสนอให้ทบทวนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และเห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นอิสระ 

โดย โกวิทย์ เรียกร้องให้คณะ กมธ.ถอนร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อถอดถอนฯ ที่ค้างอยู่ในการพิจารณาของสภา วาระ 2-3 ออกไป เพราะมีปัญหามาตลอด ตั้งแต่ประเด็นการเปิดโอกาสให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ล่าสุด ยังมีประเด็นให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งหากครบตามเกณฑ์จะทำให้หลุดจากตำแหน่งทันที ปัญหาคือ มีการเปิดเผยรายชื่อผู้เข้าชื่อถอดถอนด้วย ซึ่งเป็นข้อถกเถียงกันว่าเปิดเผยได้หรือไม่ ซึ่งของเดิมการลงคะแนนจะเป็นเรื่องลับ  

“หากเปิดเผยอาจเป็นประเด็นที่นำมาสู่ความขัดแย้ง เพราะจะรู้หมดว่าใครเข้าชื่อถอดถอนจนเกิดปัญหาความไม่พอใจได้ เราจึงเสนอให้ทบมวนถอนร่างดังกล่าว กลับไปพิจารณาให้รัดกุมรอบคอบมากขึ้น ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะมีการพิจารณาวันที่ 29-30 พฤศจิกายนนี้ เราเห็นว่าจะเป็นประโยชน์หากแก้หมวดนี้ เพื่อให้ท้องถิ่นมีอิสระในการกำหนดนโยบาย มีอิสระในการบริหารงาน จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล หยิบยกกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการมาพิจารณา” โกวิทย์ กล่าว   

โกวิทย์ ย้ำด้วยว่า การทำหน้าที่ของสภาฯ มีประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก หากยุบสภาฯ พี่น้องประชาชนจะเสียประโยชน์หลายเรื่อง ตนอยากเรียกร้องให้ ส.ส. ทำหน้าที่ต่อไปอย่างแข็งขัน เพื่อมีส่วนร่วมในการผลักดันกฎหมายสำคัญให้ประชาชน 

ด้าน สฤษฏ์พงษ์ กล่าวว่า หากผ่านร่างกฎหมายการเข้าชื่อถอดถอนฯ ออกไปโดยไม่ศึกษารายละเอียด จะทำให้เกิดความขัดแย้งเรื่องการแข่งขันในตำแหน่งอย่างรุนแรง อาจถึงขั้นทำร้ายเข่นฆ่ากัน เนื่องจากมีการเปิดเผยรายชื่อ ซึ่งการถอดถอนเป็นเรื่องการทำลายอำนาจ เป็นความเห็นต่างอย่างรุนแรง จึงไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ และอยากให้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปทบทวน ส่วนความเห็นเรื่องยุบสภาฯ มองว่า ส.ส.ควรใช้เวลาในการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเต็มที่ในการออก พ.ร.บ.ต่างๆ ซึ่งปัญหาสภาฯ ล่ม ทำให้เสียโอกาสในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่ค้างอยู่  

“การยุบสภาฯ โดยใช้เหตุผลทางการเมือง เพื่อสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบจึงไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ แต่ควรใช้อายุสภาฯที่เหลือยู่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย และแก้กฎหมายที่ล้าสมัย เพื่อก่อให้เกิดโอกาสรายได้ความมั่นคงแก่ประชาชน” สฤษฏ์พงษ์ กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์