ภูมิหลัง ‘นพพร’ ลมใต้ปีก ยกเลิก ม.112

26 ก.ค. 2566 - 08:28

  • เปิดภูมิหลัง ‘นพพร ศุภพิพัฒน์’ จากนักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง โดนหมายจับจาก ‘ศาลทหาร’ ยุค คสช. จากการขยายผลจับกุมเครือญาติ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธ์ โยงคดีอุ้ม ‘บัณฑิต โชติวิทยะกุล’ ย้อนคดี ‘นพพร’ ฟ้อง ‘ณพ ณรงค์เดช-เอสซีบี’

Rome-Nopporn-SCB-Military-Court-Thai-Criminal-Code-Section-112-SPACEBAR-Thumbnail
ตัวละครลับที่ถูกเปิดเผยโดย ‘แป้ง กราฟิตี้’ ที่ระบุชื่อ ‘นพพร’ พร้อมกับมีภาพถ่ายประกอบให้ด้วย ในความหมายของคนที่เปิดเผย เป็นไปได้ว่าหมายถึง ‘นพพร ศุภพิพัฒน์’ ผู้ก่อตั้งบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด มหากาพย์ธุรกิจไทยเรื่องหนึ่งที่ยังไม่มีตอนอวสาน  

‘นพพร ศุภพิพัฒน์’ หรือ นิค เป็นที่รู้จักกันในนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ในปี 2552 จากการได้สัญญาจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานลมให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมีการการันตีความร่ำรวยจากนิตยสารฟอร์บส์ ที่เขาติดอับดับที่ 31 มหาเศรษฐีเมืองไทยในปี2557  มีสินทรัพย์ 26,000 ล้านบาท ด้วยอายุเพียง 47 ปี   

ต้องยอมรับว่า ‘นพพร’ มองธุรกิจพลังงานแบบลึกซึ้ง กล้าได้ กล้าเสีย เขาเข้าสู่ธุรกิจพลังงานในปี 2540 ด้วยการลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดเล็กหรือ Co-generation โครงการโรงไฟฟ้าในสวนอุตสาหกรรมระยองอินดัสเตรียลปาร์ค แต่เขาพลาดท่าจนถึงต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกัน   

ต่อมาในปี 2550 ‘นพพร’ กลับมาใหม่ในธุรกิจพลังงานลม ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่ภาครัฐสนับสนุน โดยมีหัวเรือใหญ่อย่าง ‘ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท’ ผู้ดูแลกระทรวงพลังงาน ที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมพลังงานทางเลือกเช่น ลม น้ำ แดด    

บริษัทเขาค้อพลังงานลม จำกัด ของ ‘นพพร’ เกิดขึ้น เป็นโครงการนำร่อง และขยายตัวด้วยเครือข่าย สายสัมพันธ์ต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน และคอนเนคชันสำคัญคือ เครือข่าย ศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ต่อยอดงานของเขาได้อย่างดี เพราะผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ. และกระทรวงพลังงานก็มีศิษย์เก่าคณะวิศวะ ม.เกษตรศาสตร์ หลายคน  

ว่ากันว่าผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกหน้าใหม่ๆ ต้องการเข้ามาเป็นผู้ขายไฟให้กับ กฟผ. แต่ก็ต้องถอยกลับด้วยเงื่อนไข ที่เรียกกันว่า ‘ล็อค ทีโออาร์’ เช่น การวางหลักประกันในการขายไฟฟ้าเมกกะวัตต์ละ 200,000 บาท ยังไม่รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขในการก่อสร้าง สถานที่ก่อสร้าง การขออนุญาต ต้องผ่านองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และแน่นอนว่า นพพรก็มีเครือข่ายในกลุ่มนี้อย่างกว้างขวาง   

จนปี 2557 ‘นพพร’ ก็ถูกออกหมายจับโดยศาลทหาร กรุงเทพ เลขที่ 138/2557 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2557 จากการขยายผลการจับกุมเครือญาติของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธ์ ที่มีพฤติกรรมแอบอ้างสถาบันฯ อุ้มทวงหนี้ หน่วงเหนี่ยวกักขัง และกรรโชกทรัพย์ เพื่อหาประโยชน์โดยมิชอบ   

ผู้ต้องหาระบุว่า ได้รับการว่าจ้างจาก ‘นพพร’ ให้อุ้มตัว ‘บัณฑิต โชติวิทยะกุล’ นักธุรกิจ กรรมการบริษัท ไปข่มขู่เพื่อให้ลดหนี้จาก 120 ล้านบาท เหลือ 20 ล้านบาท ‘นพพร’ รู้ตัวก่อนหลบหนีออกไปต่างประเทศ ก่อนถูกจับกุมตัว

ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘นพพร’ กับ ‘บัณฑิต’ ลึกซึ้งหรือเจ็บแค้น ถึงมีการลงมืออุ้ม  

‘นพพร’ ร่วมกับบัณฑิต เปิดบริษัท กริฟฟอน อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด ในปี 2539 ดำเนินธุรกิจประมูล และรับจ้างทำของ  โดยมี ‘นพพร’ เป็นผู้บริหาร และกรรมการ ในปี 2543 เขาได้ยืมเงินบริษัทฯ จำนวน 17 ล้าน โดยผ่านความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น  

ปี 2547 นพพรใช้คืนด้วยการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ของบริษัทฯ ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน จำนวน 8.9 ล้านบาท และชำระคืนบริษัทฯ อีก 17 ล้านบาท ในปี 2555   

ขั้นตอนการชำระหนี้กรรมการอื่นเห็นชอบด้วย  มีเพียง ‘บัณฑิต’ เพียงคนเดียวที่ไม่เห็นด้วย จึงเกิดปัญหาร้องฟ้องต่อศาลฐานยักยอกทรัพย์ และเป็นที่มาของการเจรจากับนายบัณฑิตหลายครั้งเพื่อขอให้ถอนฟ้อง แต่ไม่สำเร็จ จนสุดท้ายต้องผ่านทีมงานเจรจาผ่านเครือข่ายนอกกฎหมาย   

การแตกหักของ ‘นพพร’ กับ ‘บัณฑิต’ คาดว่ามาจากการต่อสู้กันเพื่อแย่งสิทธิการบริหาร ซึ่งระหว่างการเจรจาก็มีการถอดถอน ‘นพพร’ ออกจากกรรมการ และให้กรรมการอื่นขึ้นมาแทน จนมีการฟ้องร้องกันต่อเนื่อง   

การถูกหมายจับคดี ม.112 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ด้วยเช่นกัน กรรมการบริษัทได้ร้องขอให้ ‘นพพร’ ขายหุ้นบริษัทวินด์ที่ถือครอง เพื่อบริษัทจะได้ดำเนินการต่อ เพราะบริษัทมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงิน และเป็นที่รับรู้กันว่าธนาคารไทยพาณิชย์ มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นใหญ่ ระหว่างนี้ทางกรรมการอื่นๆ  ก็ได้ทาบทามกลุ่มทุนใหม่ เข้ามาซื้อหุ้นในส่วนของนพพรและตัวแทนกลุ่มทุนใหม่คือ ‘ณพ ณรงค์เดช’ 

ขั้นตอนการซื้อหุ้นดำเนินไปโดยกลุ่มของ ‘ณพ’ ตั้งบริษัทขึ้นมาซื้อหุ้น แต่สุดท้าย ‘นพพร’ ก็ดำเนินการฟ้องร้องธุรกรรมนี้ผ่านศาลธุรกิจ และอสังหาริมทรัพย์ (Business and Property Courts) ของอังกฤษโดยฟ้องร้องจำเลย 17 คน  มีคนในตระกูลณรงค์เดช และธนาคารไทยพาณิชย์ เรียกค่าเสียหาย 54,000 ล้านบาท  

ทนายของนพพร เขาระบุว่า ฝ่ายจำเลยสมคบกันใช้อำนาจในการจัดการเอกสารสำคัญ ในช่วงปี 2557 – 2561 จูงใจให้ ‘นพพร’ และบริษัทในเครือของเขาขายหุ้น ในราคาต่ำกว่าราคายุติธรรม โดยในช่วงที่มีการซื้อขาย หุ้นมีมูลค่า 872 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปัจจุบันมีมูลค่าถึง 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่นพพรกลับได้รับเงินเพียง 176 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  

ความเคลื่อนไหวของ ‘นพพร’ ในคดี ม.112 ถูก ‘แป้ง กราฟิตี้’ ออกมาเปิดโปงว่า ให้การสนับสนุนกลุ่มยกเลิก ม.112 โดยเฉพาะ ‘รังสิมันต์ โรม’ จากพรรคก้าวไกล ที่พยายามผลักดันการแก้ไขอย่างเข้มข้น จนก้าวไกลพลาดโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์