‘ส.ว.’ เข็น ‘ศิลักษณ์’ นั่ง ‘กรรมการ สตง.’

23 พ.ค. 2566 - 08:43

  • ‘ที่ประชุม ส.ว.’ เห็นชอบ ‘ศิลักษณ์ ปั้นน่วม’ ดำรงตำแหน่งกรรมการ สตง.

  • หลังประชุมลับนาน 40 นาที เคลียร์ปม ติดหล่มคุณสมบัติ

Senator-Approve-Silak-StateAuditCommission-SPACEBAR-Hero
การประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยพล.อ.อู๊ด เบื้องบน ส.ว. ในฐานะคณะกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ สตง. ชี้แจงผลการตรวจสอบความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของ ‘ศิลักษณ์ ปั้นน่วม’ ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ สตง. โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน นับตั้งแต่ตั้ง กมธ.ขึ้นมาในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง กมธ.พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติแล้วเสร็จ และจัดทำสรุปผลรายงานแบบลับ  

พล.อ.อู๊ด กล่าวว่า แต่ กมธ.มีข้อสังเกตเกี่ยวกับกระบวนการการได้มา และการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงใช้อำนาจของ กมธ.สรรหากรรมการ สตง. ตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 คือ 1.กรณีที่องค์กรอิสระไม่สามารถดำเนินการเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหากรรมการ สตง. ภายใน 20 วันนับตั้งแต่งวันที่ได้รับแจ้งจากเลขาธิการวุฒิสภา 2.กรณีการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจของกรรมการสรรหากรรมการ สตง. ในกรณีที่กรรมการสรรหามีไม่ครบ หรือพ้นกำหนดระยะเวลาการคัดเลือกแล้ว และไม่ได้มีการเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหากรรมการ สตง. 

จากนั้น กมธ.ได้ขอให้มีการชี้แจงสรุปผลการดำเนินงานเป็นรายงานลับตามที่กำหนดในข้อบังคับการประชุม และขอให้มีการประชุมลับก่อนเสนอรายงาน 

ทำให้ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. ทักท้วงขอให้ช่วยขยายความกรณีที่ กมธ.ระบุว่า อาจจะส่งผลให้การสรรหาบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ สตง.ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ ว่าหมายความว่าอย่างไร เพราะกรรมการสรรหากรรมการ สตง.ไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนดเป็นสิ่งที่เรากังวลมาโดยตลอด และเป็นที่ปรากฎชัดเจนว่ามีองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งที่มีหน้าที่ต้องส่งบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการสรรหา แต่ปรากฎในเอกสารที่กรรมการสรรหาฝ่ายเลขาใช้คำว่ามีมติไม่ส่งบุคคลเข้ามาร่วมเป็นกรรมการสรรหา แต่ขณะที่องค์กรหนึ่งใช้คำว่าพิจารณาแล้ว ไม่อาจหาบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการสรรหาได้ 2 กรณีนี้จึงแตกต่างกัน 

พล.อ.อู๊ด จึงลุกขึ้นชี้แจงว่า เราได้สอบถามไปยังคณะกรรมการสรรหา ได้รับคำตอบว่าหาคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมาเป็นกรรมการสรรหาไม่ได้ และไม่รู้จะทำอย่างไร เนื่องจากเวลามีจำกัดเพียง 20 วัน เป็นเพราะการตั้งคุณวุฒิของกรรมการสรรหาสูงเกินไป 

หลังจากประชุมลับเป็นเวลาประมาณ 40 นาที พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ซึ่งกลับมาทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้แจ้งผลการออกเสียงลงคะแนนลับ ปรากฎว่า ‘ศิลักษณ์’ ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 182 คะแนน ไม่เห็นชอบ 1 คะแนน งดออกเสียง 4 ถือว่าได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงเป็นผู้ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสตง.  

จากนั้น พรเพชร ได้แจ้งอ่านพระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2566 ต่อสมาชิก และได้ปิดประชุมในเวลา 14.00 น. 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ว.ส่วนใหญ่เดินทางออกจากทางจอดรถชั้นใต้ดิน B1 และ B2 จึงไม่ผ่านสื่อมวลชนที่มารอดักสัมภาษณ์ บริเวณชั้น 1 โดยมีกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนหลายกองร้อยเข้ามาประจำการเพื่อเตรียมความพร้อมดูแลความเรียบร้อย ก่อนถึงเวลานัดหมายการชุมนุม ในเวลา 17.00 น. โดยอาคารรัฐสภายังคงเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าออกได้ตามปกติ ยังไม่ได้ปิดประตูแต่อย่างใด ขณะที่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาด้านหลังอาคารรัฐสภา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำมาตระเวนตรวจตราอยู่เป็นระยะ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7fTW5VqcHsTq8e3hzPOeE5/1077b93860c5d8c02e5a6c09bf3df26a/Senator-Approve-Silak-StateAuditCommission-SPACEBAR-Photo01
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4z0DztzEaM0CjaBSGH81V/71369f97f45fd1fa51f951a8963d3a66/Senator-Approve-Silak-StateAuditCommission-SPACEBAR-Photo02

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์