‘กมธ.ซอฟต์พาวเวอร์’ หรือ ‘เงา’ ในโลกคู่ขนาน?

11 ต.ค. 2566 - 08:26

  • นับเป็นเรื่องดีของคนไทย เมื่อรัฐบาลเดินหน้าผลักดัน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ อย่างเต็มที่ เพราะประเทศไทยเป็นแหล่งมรดกทางศิลปะ วัฒนธรรมและประเพณีที่มีความหลากหลาย ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ

  • แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อข้องใจ เมื่อ สว.กลับตั้ง ‘กมธ.ซอฟต์พาวเวอร์’ ขึ้นมา เพราะไม่มั่นใจว่า นี่คือการทำงานคู่ขนาน หรือหวังผลสิ่งใดกันแน่?

Soft-Power-Senator-Parallel-Government-SPACEBAR-Hero.jpg

‘ซอฟต์พาวเวอร์’ กลายเป็นคำฮิตในยุคสมัยนี้ เพราะ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ คือหนึ่งในกลไกสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศชาติ ด้วยการใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม และคุณค่าทางสังคม ซึ่งตั้งแต่รัฐบาลลุงตู่ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เน้นย้ำตลอดจนสานต่อมาถึงยุครัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ที่ทำให้เราเริ่มเห็นภาพอย่างชัดเจน เมื่อ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร คนที่คุณรู้ว่าคือ ‘คนสำคัญ’ ได้เข้ามานั่งเก้าอี้ ‘รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ’ พร้อมเป้าหมายผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้กลายเป็นผู้นำด้านซอฟต์พาวเวอร์ของโลก

การทำงานผ่านไปอย่างราบรื่นและน่าตื่นเต้นสำหรับคนไทย แต่ก็มีบางสิ่งกลับมาสะกิด ‘ต่อมเอ๊ะ’ อีกครั้ง เมื่อสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เสนอญัตติตั้ง ‘กมธ.วิสามัญศึกษาและพิจารณาเสนอแนะแผนกลยุทธ์การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงแห่งชาติ’ หรือจะเรียกสั้นๆว่า ‘กมธ.ซอฟต์พาวเวอร์’ ที่มี ‘พล.อ.ประจิน จั่นตอง’ นั่งเป็นประธาน

ในเมื่อรัฐบาลมี ‘คกก.ซอฟต์พาวเวอร์’ แล้ว

สว.จะตั้ง ‘กมธ.ซอฟต์พาวเวอร์’ เพื่ออะไร?

แน่นอนว่า นี่คือสิ่งที่สะกิด ‘ต่อมเอ๊ะ’ ได้อย่างชัดเจนที่สุด แต่ ‘ชาญวิทย์ ผลชีวิน’ ในฐานะโฆษก กมธ.ซอฟต์พาวเวอร์ยืนยันกับทีม SPACEBAR ว่า กมธ.ชุดนี้ มีเป้าหมายหลักเพื่อทำงานคู่ขนานและสนับสนุนคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างพลังสร้างสรรค์ตามการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ซึ่ง กมธ.ชุดนี้ จะแบ่งย่อยออกมาอีก 2 คณะ คือ 1.คณะที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ 2.คณะที่ดูแลความมั่นคงและสังคม เพื่อจัดทำแผนกลุยุทธ์การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงแห่งชาติ โดยศึกษาข้อมูล องค์ความรู้ปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ รวมถึงวิเคราะห์สังเคราะห์ และสรุปข้อมูลที่ได้รับ ทำเอกสารเสนอต่อวุฒิสภา เพื่อเสนอความเห็นชอบส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือรัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไป โดยมีเสนอเวลาดำเนินการ 90 วัน มีทั้ง ส.ว.และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกร่วมเป็น กมธ.ด้วย

เป้าหมายสำคัญของ กมธ.ซอฟต์พาวเวอร์ คือ การสานต่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซี่งเน้นการนำอัตลักษณ์ท้องถิ่น พัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งสินค้าวัฒนธรรม การส่งออกอาหารไทย อุตสาหกรรมคอนเทนต์ ภาพยนตร์ ละคร แอนิเมชัน รายได้จากผ้าไทย และรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ประกอบ Artical กมธ.ซอฟต์พาวเวอร์.jpg

กมธ.ซอฟต์พาวเวอร์ป้ายแดง รับบทใดกันแน่

ถึงอย่างไร ก็ยังเกิดข้อคำถามตามมาอีกว่า กมธ.ซอฟต์พาวเวอร์ หวังผลสิ่งใด สุดท้ายแล้ว ต้องการรับบท ‘ผู้สนับสนุน’ หรือ ‘ฝ่ายจับผิด’ แต่ ‘ชาญวิทย์’ ก็ยืนยันว่า ไม่ใช่การขัดแย้งหรือ ‘แข่งขัน’ การทำงานกับรัฐบาล แต่ก่อนหน้านี้ กมธ.ของ สว.ทั้ง 26 คณะได้ศึกษาแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์แต่ละด้านกันมานานแล้ว ทำให้ พล.อ.อ.ประจิน มีแนวคิดว่า ควรรวบรวมซอฟต์พาวเวอร์มาจากทุกคณะ กมธ.เพื่อเสนอให้รัฐบาลผลักดันอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยหลายด้านทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างยั่งยืน ดังนั้น จึงเสนอตั้ง กมธ.วิสามัญชุดนี้ เพื่อพิจารณาเสนอแนะแผนกลยุทธ์การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติภายใน 90 วันให้ได้ ซึ่งถือว่า สว.เหล่านี้จะอาศัยประสบการณ์การทำงานตลอดที่ผ่านมา ส่งให้เป็นอีกหนึ่ง ‘แรงสนับสนุน’ เสียด้วยซ้ำ

เหตุใด? ‘พล.อ.อ.ประจิน’ จึงออกหน้าผลักดันเรื่องนี้

เมื่อติดตามการทำงานของ พล.อ.อ.ประจิน มาตลอด ก็จะหายสงสัยในข้อนี้ เพราะเจ้าตัวเคยร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยุค คสช. ก่อนจะมาดำรงตำแหน่ง ‘คณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติ’ ในโควตาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สมัยรัฐบาลลุงตู่เช่นกัน จึงไม่แปลกใจที่ ‘พล.อ.อ.ประจิน’ ในฐานะ สว.จะเป็น ‘หัวหอก’ ในการสานต่อ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ กมธ.ซอฟต์พาวเวอร์ ที่จะเริ่มประชุมนัดแรกในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ แต่ ‘พวกเขา’ จะมาในรูปแบบ ‘เงา’ของโลกคู่ขนานกับรัฐบาล หรือเป็นผู้อยู่เคียงข้างคอย ‘สนับสนุน’ คงต้องรอดูกันต่อไป เพราะหากทั้งสองภาคส่วนสามารถผลักดัน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของไทยได้จริง ย่อมทำให้ประเทศเกิดภาพลักษณ์เชิงบวกในสายตาของคนทั่วโลก เพิ่มโอกาสให้ไทยรับข้อเสนอการลงทุนจากต่างชาติ ที่สำคัญคือ สร้างรายได้ที่จะเข้าสู่ประเทศไทยมากยิ่งขึ้นด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์