ชีพจร ‘ชายแดนใต้’ เปิดแผน ‘ทหาร’ ยื้อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

10 ต.ค. 2566 - 09:39

  • ชีพจร จชต. หลังรัฐบาลจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทุกพื้นที่ ทำให้ ทภ.4 เดินเกม ‘ยื้อ’ เปิดแผน ‘กองทัพ’ ขีดเส้นตัวปี 2570 เปิดสถิติ ‘อำเภอ’ ปลอด พ.ร.ก. การถอน ‘กำลังทหาร’

Srettha-Santi-Aemy-Area4-Emergency-Decree-SPACEBAR-Hero.jpg

สัญญาณจาก ‘กองทัพ’ ที่เริ่มขยับในพื้นที่ จ.ชายแดนภาคใต้ อีกเพียง 1 สัปดาห์ จะครบ 1 เดือน ที่รัฐบาลต่ออายุ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่ จ.ชายแดนภาคใต้ ไปอีก 1 เดือน หลังเริ่มปูทางสู่การยกเลิกบังคับใช้ในพื้นที่ จชต. ตามนโยบายของ ‘พรรคประชาชาติ’ ที่เป็นพรรคพันธมิตรของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเจาะฐานเสียง จชต.

ทั้งนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้สั่งให้หน่วยทหารทำสรุปสถานการณ์ในพื้นที่หน่วยรับผิดชอบ จัดทำ ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ และการ ‘มี-ไม่มี’ ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จะเป็นอย่างไร เพื่อใช้เป็น ‘ข้อมูล’ ในการให้ ‘ชะลอ’ การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมดใน จชต.

ล่าสุด พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่า ได้ทำข้อมูลสรุปสถานการณ์ในอำเภอที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในกรณีจำเป็นต้องยกเลิกทันที ต้องพิจารณาดูว่าพื้นที่ไหน ไม่มีความรุนแรงหรืองานด้านการข่าวไม่พบความเคลื่อนไหวผู้ก่อเหตุรุนแรง ก็สามารถ ‘ยกเลิกเพิ่มเติม’ ได้ 

“แต่พื้นที่ไหนพบความเคลื่อนไหว ขอสงวน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไว้ได้หรือไม่ เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะอำเภอติดแนวชายแดน เพราะเป็นพื้นที่ล่อแหลม ผู้ก่อเหตุใช้หลบหนีข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้านหลังก่อเหตุเสร็จ แต่หากจำเป็นต้องยกเลิกทั้งหมด ทหารก็ต้องพร้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ต้องมาปรับวิธีการปฏิบัติในพื้นที่กันใหม่ ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร” แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว

ตีคู่มากับการเคลื่อนไหวในพื้นที่ที่ ‘สนับสนุน’ การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ เช่น เครือข่ายไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดยะลา นำโดย ร.ต.อ.หิรัญย์เศรษฐ แสงเทียน ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดยะลา

ในซีกตรงข้ามอย่าง สภาเครือข่ายปัญญาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Interllectual Network Council Southern Border Province หรือ INC) ขอให้รัฐบาลยุติการต่ออายุการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และให้บังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทน และขอให้รัฐบาลผลักดัน พ.ร.บ.สันติภาพฯ และสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

ทหารในพื้นที่ จชต. ส่งสัญญาณผ่าน ‘แม่ทัพภาคที่ 4’ ไปในทางที่ไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกทุกพื้นที่ โดยเหตุผลหลักคือเรื่อง ‘อำนาจคุมตัว’ ผู้ก่อเหตุเพื่อนำตัวมาสอบสวน ได้ผลัดละ 28 วัน เพราะการก่อเหตุในพื้นที่ จชต. เป็นไปในลักษณะ ‘ขบวนการ’ ที่ต้องทำการ ‘ขยายผล’ ที่ต้องใช้ระยะเวลาอีกทั้งคดีความมั่นคงในพื้นที่ จชต. แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ 

ที่สำคัญจะมีขั้นตอนการ ‘ถอนคำสาบาน’ หรือที่เรียกว่า ‘ซุมเปาะฮ์’ โดยให้ผู้นำศาสนาเข้ามาทำพิธีให้ด้วย ซึ่งเหตุผลเหล่านี้ เป็นในมุม ‘ผู้บังคับใช้กฎหมาย’ ในพื้นที่

แต่ก็มีการส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้จาก พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา หลังลงพื้นที่ จตช. ก็เสนอให้มี ‘กฎหมายทดแทน’ 

ซึ่งในกองทัพก็มองว่าอาจใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 แทน ที่ยังคงให้อำนาจคุมตัว 7 วัน แต่ก็สามารถ ‘ขยายระยะเวลา’ การควบคุมตัวเป็นผลัดๆได้ ดังนั้นในเรื่อง ‘อำนาจคุมตัว’ ถือเป็นหัวใจหลักของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

แต่ก็มีการเสนอให้มีการ ‘แก้ไข’ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ให้สอดรับสถานการณ์มากขึ้น ซึ่งก็จะต้องผ่านกลไกสภาฯ เพราะเป็นกฎหมายระดับ ‘พระราชบัญญัติ’ แน่นอนว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ ‘ระยะเวลา’ พอสมควร

อย่างไรก็ตามช่วงหลายปีที่ผ่านมา ‘กองทัพ’ มีการถอนกำลัง ‘ทหารหลัก’ ที่มาจากกองทัพภาคที่ 1-2-3 ออกจากพื้นที่กลับที่ตั้งหน่วย เหลือเพียงทหารกองทัพภาคที่ 4 จาก กองพลทหารราบที่ 5 (พล.ร.5) 2 กองพัน คือ กองพันทหารราบเชิงรุก และ หน่วยเฉพาะกิจสงขลา 40 ดูแลพื้นที่ 4 อำเภอ จ.สงขลา และทหารพราน ‘ทหารชุดดำ’ กรมทหารพรานที่ 10-20-30 

แต่ในปี 2470 จะเหลือเพียงหน่วยทหารหลัก คือ พล.ร.15 และ กรมทหารพรานที่ 41, 42, 43 และ 46 ในปี 2570 ด้วย

ส่วนการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับลดการบังคับใช้ 11 อำเภอ จากทั้งหมด 33 อำเภอ จชต. คงเหลือบังคับใช้ 22 อำเภอ ซึ่งตามแผนของกองทัพภาคที่ 4 จะยกเลิกทุกพื้นที่ในปี 2570

สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 11 อำเภอ

จ.นราธิวาส 4 อำเภอ ได้แก่ ศรีสาคร , สุไหงโก-ลก , แว้ง , สุคิริน

จ.ปัตตานี 5 อำเภอ ได้แก่ ยะหริ่ง , มายอ , ไม้แก่น , กะพ้อ , แม่ลาน

จ.ยะลา 2 อำเภอ ได้แก่ เบตง , กาบัง

ทั้งหมดนี้เป็น ‘สัญญาณ’ จากซีก ‘กองทัพ’ ที่ส่งมายัง ‘รัฐบาล’ ทำให้การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ จชต. ยังคงดำเนินต่อไป แต่เป็น ‘สูตรคนละครึ่ง’ คือการลดพื้นที่ (อำเภอ) ที่บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งตามแผน ‘กองทัพ’ ที่ขีดเส้นตัวเองไว้ในปี 2570 ก็เป็นช่วงระยะเวลาที่ ‘รัฐบาล’ ครบวาะ 4 ปีพอดี

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์