จับตา ‘เพื่อไทย’ เปิดยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ 310 เก้าอี้ ฝันไปไกลกับการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว?

13 มีนาคม 2566 - 08:55

Strategy- Landslides-Pheuthai-SPACEBAR-Thumbnail
  • ปรากฏการณ์ ‘เพื่อไทย’ ปรับแผนยุทธ์ศาสตร์ใหม่ จากเดิมแลนด์สไลด์ 250 ที่เป็น 310 ที่นั่งทั่วประเทศ

  • นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ฟันธงจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวไม่ได้ ยืนยันออกยุทธ์ศาสตร์ใหม่สร้างราคาเชิญชวน ‘ส.ส.นกแล’ เข้าพรรค ย้ำ “นักการเมืองไม่ใช่ลูกเสือ คำพูดเปลี่ยนแปลงได้เสมอ”

นับเป็นเรื่องฮือฮาสำหรับคอการเมือง หลัง ‘พรรคเพื่อไทย’ มีแนวโน้มส่งแคนดิเดตลงชิงดำเก้าอี้นายกรัฐมนตรีโควต้า (3 คน) ได้แก่ ‘อุ๊งอิ๊ง - แพทองธาร ชินวัตร’ ประธานครอบครัวเพื่อไทย ในฐานะลูกสาวอดีตนายกฯ คนไกล  ‘เสี่ยนิด - เศรษฐา ทวีสิน’ นักธุรกิจชื่อดังซีอีโอรายใหญ่แห่งค่ายอสังหาริมทรัพท์ ‘แสนสิริ’ และอีกหนึ่งบุคคลปริศนาที่คาดว่าการเปิดตัวใกล้เข้ามาทุกที 

แต่คลื่นลูกใหม่ ที่เรียกได้ว่าสะพัดไปทั่วกระดานหมากการเมืองตอนคงนี้ไม่พ้น กรณีการประกาศปักธงรบของ ‘นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว’ หัวหน้าพรรค ที่แถลงเพิ่มตัวเลขเป้าหมาย ส.ส. จากการเลือกตั้งหน้า เดิม 250 เก้าอี้ เป็น 310 เก้าอี้ โดยให้เหตุผล ว่ามีแค่พรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่จะสามารถเข้ามาแก้สารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองไทยได้ ดังนั้นต้อง ‘แลนด์สไลด์’ ทั่วประเทศ  

ยุทธศาสตร์ยึดหัวหาดแบบถล่มทะลายของพรรคการเมืองร่มเงาตระกูลชินวัตร ถูกตั้งข้อสังเกตจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า จำนวนเก้าอี้ 310 มีผลในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้หรือไม่ ‘รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต’ ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เขียนวิเคราะห์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า แม้พรรคเพื่อไทย จะได้เก้าอี้จำนวน 310 ตามเป้า ก็ต้องพึ่งอย่างไรเสียก็ไม่สามารถเป็นรัฐบาลพรรคเดียวแบบแต่ก่อนได้  

มีปัจจัยจากโครงสร้างการเมืองและรัฐธรรมนูญอันพิสดารของประเทศไทยเป็นกรอบ แม้ว่าจะได้ถึง 310 เสียงจริง แต่เพื่อไทยต้องการเสียงสนับสนุนจากพรรคอื่นอีก 66 เสียง เพื่อรวมให้ได้ 376 เสียง และทำให้แคนดิเดตของพรรคได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องตกลงผลประโยชน์กันให้ลงตัวกับองคาพยพ โดยผลประโยชน์ออกมาได้หลายรูปแบบทั้ง ทั้ง การแลกเข้ามาเพื่อจะได้เป็นรัฐบาลผสม และตำแหน่งรัฐมนตรี หรือ เป็นการช่วยเสนอชื่อเลือกนายกฯ เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง แต่ไม่เข้าร่วมรัฐบาล มีการวางแนวโน้มไว้ 4 ข้อหลักๆ  
  1. เพื่อไทยจะผนึก ‘พรรคประชาชาติ’ ที่คาดว่าจะได้ ส.ส. จากพื้นปลายด้ามขวานจำนวน 10 ที่นั่ง เข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและมอบตำแหน่งรัฐมนตรีให้ 
  2. ‘พรรคเสรีรวมไทย’ ที่คาดว่าจะได้ 5 ที่นั่งจากกระแส ‘พลตำรวจเอกเสรีพิสุทธิ์ เตมียเวส’ ซึ่ง รศ.ดร.พิชายใส่วงเล็บไว้ ว่าอาจไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี แต่จะได้พื้นที่ในสภาฯ แทน 
  3. ‘พรรคก้าวไกล’ ที่มีแนวโน้มว่าจะชิง ส.ส. ได้ 30 - 40 เก้าอี้ อาจสนับสนุนเพื่อไทยเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมือง แต่คงไม่ได้ร่วมรัฐบาล ดังนั้น แม้ 3 พรรคการเมืองที่กล่าวมาข้างต้นร่วมเป็นแรงสนับสนุน พรรคเพื่อไทยก็ยังคงไม่ถึง 376 เสียงอยู่ดี  

จึงระบุในปัจจัยข้อที่ 4) แบ่งออกเป็นสองส่วน โดยข้อแรก เพื่อไทยอาจต้องดึง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ คู่แข่งตลอดการเข้าร่วม แม้อาจจะไม่ถูกใจมวลชน แต่เชื่อว่าพรรคคงมีวิธีลดอุณหภูมิได้ไม่ยากด้วยเหตุผลต่างๆ นานา โดยเฉพาะบริบทปัจจุบันของประชาธิปัตย์ ที่วันนี้แทบไม่เหลือคาบความเป็นพรรคการเมืองสืบทอดอำนาจอยู่แล้ว  

อีกหนึ่งข้อย่อยที่น่าสนใจคือ พึ่งแรงสนับสนุนจาก ‘ลุงผู้พี่’ อย่าง ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ที่คาดว่าจะได้ ส.ส. 30 - 40 คน รวมเสียงจาก ‘สภาสูง’ อีกประมาณ 80 เสียง เพื่อผ่านด่านอรหันต์ ‘ส.ว.’ แต่เพื่อไทยอาจต้องกลืนน้ำลายตัวเอง เพราะภาพจำของ ‘พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ’ ยังเป็นคนของ ‘อำนาจ 3 ป.’ อยู่ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจในช่วงที่ผ่านมาด้วย แม้ทุกวันนี้ ‘ป.ป้อม’ จะร่อนจดหมายเนรมิตรภาพแบรนด์บุคคลให้เป็น ‘นักประชาธิปไตย’ มากขึ้นก็ตาม
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3DZl0Aqmn8d6e82XUzbQuo/f3f67624167eb9b19f52f55a37aad5ed/Strategy-_Landslides-Pheuthai-SPACEBAR-Photo01
Photo: รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
รศ.ดร.พิชาย สรุปทิ้งท้ายเน้นว่า อย่างไรเสีย แม้การแลนด์สไลด์ 310 เสียงจะประสบผลสำเร็จ ก็จำเป็นต้องจัดรัฐบาลแบบผสมอยู่ดี และมีแนวโน้มว่า องคาพยพที่จะร่วมด้วยได้มากที่สุด คือ ประชาชาติ และประชาธิปัตย์ แต่หากไม่สามารถพิชิตเก้าอี้ตามเป้า ได้อยู่แค่ประมาณ 250 เก้าอี้ รัฐบาลเพื่อไทยอาจประกอบไปด้วยพลังประชารัฐ และประชาชาติ ส่วนการเสนอชื่อนายกฯ ก็คงขึ้นอยู่กับการตกลงว่าจะเป็น ‘พลเอกประวิตร’ หรือ ‘คนจากพรรคเพื่อไทย’

ท้ายที่สุด หลายคนคงสงสัยว่าทำไมสมการพรรคร่วม ไม่มี ‘พรรคก้าวไกล’ รศ.ดร.พิชาย ระบุว่า มีโอกาสไม่มากนัก และคนฝากฝั่งอนุรักษ์นิยมคงหาทางสกัดปัจจัยนี้ไว้ ดังนั้นการเป็นฝ่ายค้านคุณภาพอาจเป็น ‘ทางเลือกที่ดี’ ของพรรคก้าวไกลอยู่ 

อย่างไรเสีย ผู้เขียนมองว่าการประกาศศักดาคว้า 310 ที่นั่งของพรรคเพื่อไทย อาจเป็นแต้มต่อในการสร้างราคาให้กับ ‘ส.ส.นกแล’ ที่เฝ้ารอการประกาศวันยุบสภาฯ จากปาก ‘นายกฯ ประยุทธ์’ ทุกคืนวัน ซึ่งเรื่องนี้ ‘รศ.สุขุม นวลสกุล’ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแห่ง ให้ความเห็นว่า เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักการเมืองที่จะย้ายเข้ามาพรรคเพื่อไทย เสมือนเป็นการสร้างเป้าหมายให้สอดรับกับ ‘บารมี’ ของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ที่เชื่อว่าจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ คนที่ 2 ของพรรค 

“ก่อนหน้านี้มีคุณอุ๊งอิ๊งคนเดียว พรรคก็ชูจุดขายแลนด์สไลด์ 250 เสียง ซึ่งหากมีคุณเศรษฐาเข้ามาเพิ่มแต่พรรคยังยืนจุดเดิมที่เก่า จะหมายความว่าพรรคไม่ได้ดีขึ้นหรือเป็นแม่เหล็กมากกว่าเดิม ดังนั้นการเพิ่มเป้าเป็น 310 เก้าอี้ จึงเป็นการปักหลักเพื่อแสดงให้เห็น ว่าพรรคมีการขยับขยายตามบุคคลที่เข้ามาเป็นแคนดิเดตนายกฯ”
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/BVo4jWUuaMhlZznvsS2jv/1d3a0ea2dc0ef5c13d977263cd105b41/Strategy-_Landslides-Pheuthai-SPACEBAR-Photo02
Photo: รศ.สุขุม นวลสกุล / ขอบคุณภาพ : ไทยโพสต์
อีกปัจจัยที่ รศ.สุขุม วิเคราะห์ ซึ่งอาจดูเข้าเคล้ากับปรากฏการณ์ข่าวลือที่พูดกันหนาหู ว่าการปรับยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย เป็นวิธีการสร้างแรงดึงดูดให้ ‘สนามแม่เหล็ก’ มากขึ้น โดยเฉพาะ ‘กลุ่มสามมิตร’ ที่มีแนวโน้ตลอดมาว่า ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ อาจหวนคืนกลับบ้านเก่า และ ส.ส.อีกหลายคนที่รอ ‘หารังใหม่’ ในช่วงยุบสภาฯ เกิดขึ้น ซึ่งตัวเลข 310 ก็ดูสมเหตุสมผลหากมีกลุ่มบ้านใหญ่ หรือ ส.ส. เข้ามาเติมเต็มเพิ่มขึ้น 

“310 เก้าอี้ เป็นเรื่องใหญ่พอสมควร และอาจเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มสามมิตรตัดสินใจย้ายกลับมา และถ้ากลุ่มสามมิตรซึ่งเป็นบ้านใหญ่เข้ามาเติมเต็ม ตัวเลขที่เพื่อไทยชูขึ้นมาก็อาจไม่ได้เป็นแค่ความเพ้อฝัน”

เมื่อถามว่า หากเพื่อไทยสามารถสร้างปรากฏการณ์ได้ตามเป้า 310 เก้าอี้จริง แล้วใครละจะเข้ามาให้การสนับสนุนเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล รศ.สุขุม ตอบกลับว่า อย่างเพิ่งรีบคิด เพราะต้องเห็นผลเลือกตั้งก่อน และคงไม่มีใครกล้ารับปากเรื่องนี้ในวันนี้  

พร้อมทิ้งท้ายการสนทนาว่า “นักการเมืองไม่ใช่ลูกเสือ คำพูดเปลี่ยนแปลงได้เสมอ”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์