‘แมวสีอะไรไม่สำคัญให้จับหนูได้เป็นพอ’ ถอดรหัสขุนพลแปรพักตร์ จากพลังประชารัฐ สู่บ้านเก่าเพื่อไทย

30 มี.ค. 2566 - 03:48

  • พิจารณาการย้ายสังกัดของ ‘สุชาติ ตันจริญ - สมศักดิ์ เทพสุทิน - สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ขุนพลคนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ สู่บ้านเก่าพรรคเพื่อไทย

  • ถอดรหัสบทสนทนาระหว่างนักข่าวและ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ว่าด้วยเรื่อง ‘แมวสีอะไรไม่สำคัญให้จับหนูได้เป็นพอ’

Suchart-Somsak-Suriya-Move Party-For Thailand-Pheuthai-Party-Thaksin-Cat-of-any-color-catches-rats-SPACEBAR-Thumbnail
ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูคิมหันต์อย่างเต็มตัว อุณหภูมิเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30 - 40 องศาเซลเซียล ต่างคนต่างหาวิธีคลายร้อนจัด ในทางการเมืองก็เรียกได้ว่า ร้อนปรอทแตกไม่แพ้กัน แต่อาจจะดูร้อนรุ่มกว่า เพราะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น อย่างกรณี ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร์ ในวันที่ 20 มีนาคม  

เกิดการขับเขยื่อนทางการเมืองหลายจุด โดยเฉพาะข่าวลาออก - ย้ายพรรค แพร่สะพัดตลาดแตก แม้จะถือเป็นเรื่องปรกติวิสัยของนักการเมืองตามฤดูเลือกตั้ง แต่ที่น่าสนใจคือ เรื่องเหล่านี้มักจะมีกระแสลมคอยพัดเข้าหูนักข่าว มีทั้งจริงและเท็จตามจะใช้หลักการพิจาณากันเอาเอง  

แต่แน่ล่ะมีข่าวลือที่เป็นจริงหลายเรื่อง อย่างกรณีคนการเมืองมือระดับพระกาฬ อย่าง ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’, ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ แกนนำกลุ่มสามมิตร และ ‘สุชาติ ตันเจริญ’ แกนนำกลุ่มพ่อมดดำลาออกจาก ‘พลังประชารัฐ’ กลับบ้านเก่าขั้วตรงข้าม ‘เพื่อไทย’ เรียกได้ว่าปากกาเซียนการเมืองไม่หักแต่คมกริ๊บ 

ผู้เขียนขอไม่เล่าย้อนถึงที่มาของ ‘กลุ่มสามมิตร’ และ ‘พ่อมดดำ’ เพราะเชื่อว่าผู้อ่านคงทราบมาพอสังเขปแล้ว เป็นเพราะผลประโยชน์ทางการเมืองล้วนๆ ไม่ว่าจะกับพรรคเพื่อไทย หรือ อดีต ส.ส. โดยคนทั้ง 2 กลุ่ม เลือกเวลาเปิดตัวใกล้เคียงกัน เป็นช่วงหลังการยุบสภาฯ ไม่ถึง 10 วัน ทำให้สภาพอากาศที่ร้อนและเต็มไปด้วยฝุ่นเกิดสีสันจากภาคการเมืองเข้ามาแต่งแต้ม 

สำหรับ ‘สุชาติ ตันเจริญ’ เจ้าพ่อเมืองฉะเชิงเทรา ก็ไม่ทิ้งลวดลาย ‘เด็กเก่า’ แถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชน อย่างตรงไปตรงมา ว่าก่อนหน้านี้เคยเป็นรองหัวหน้าพรรคมาแล้ว ส่วนตัวจึงไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกลับการกลับมาครั้งนี้ เพราะเหมือนกลับบ้านเก่า พร้อมกล่าวว่าก่อนหน้านี้ดิ้นรนหาทางกลับบ้านไม่ถูก แต่ลูกบังเกิดเกล้าบังคับมา รวมถึงการชักชวน ‘สมพงษ์ อมรวิวัฒน์’ คนเก่าแก่ของพรรคจึงตัดสินใจได้ เพราะมองว่าถึงอยู่พลังประชารัฐต่อไปคงไม่ได้รับเลือกเป็นผู้แทนฯ 

ในส่วนเหตุผลเปิดตัวของ ‘สมศักดิ์ - สุริยะ’ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ไม่วายถูกแซวเป็นนักพยากรณ์อากาศ เพราะยกเมฆขึ้นมาอธิบายมีเนื้อหาส่วนหนึ่ง ว่าส่วนตัวพึงพอใจกับการทำงานของพรรค และสิ่งที่พูดมาตลอด เรื่องดิน ฟ้า อากาศ ฟ้าเปิดเมฆหมอกจางหายเบาบางไป ก็เป็นโอกาสของประชาธิปไตย ที่จะสร้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชนมีความสุข 

ฟังขึ้นไหมให้ผู้อ่านพิจารณาเอง  

แม้จะเป็นคนเก่าแก่ของเพื่อไทย แต่ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล ปี 2562 ล้วนแปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับ พปชร. ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ไม่เว้นแม้แต่คนที่เคยจงรักภัคดีกับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ และพรรคในตระกูลคนไกล อย่าง ‘จตุพร พรหมพันธุ์’ แกนนำเสื้อ นปช.คนสำคัญ ก็เคยออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ 

อย่างไรเสียงประเด็นดราม่าการย้ายพรรคของอดีต ส.ส.พลังประชารัฐ ซบบ้านเก่าเพื่อไทย กลายเป็นที่พูดถึงกว้างไปไกลถึงต่างแดน เรื่องนี้ผู้เขียนขอยกเครดิตให้กับ ‘ปรัชญา นงนุช’ ผู้สื่อข่าวรุ่นพี่ SPACEBAR ที่พลีชีพหยิบยกประเด็นดังกล่าวไปถามกับ ‘นายกฯ คนที่ 23’ ที่เปิดโอกาสให้สื่อมวลไทย สัมภาษณ์ความเห็นเรื่องต่างๆ ใน ‘Care คิดเคลื่อนไทย’ 

คนแดนไกล ตอบคำถามกรณี ‘สมศักดิ์ - สุริยะ’ ย้ายมาอยู่กับพรรคเพื่อไทย และถูกมองว่าพรรคเป็นลักษณะ ‘แมวสีอะไรไม่สำคัญขอให้จับหนูได้ก็พอ’ ไม่ได้มองเรื่องอุดมการณ์ ว่าการเมืองเมื่อก่อนแรง ทุกคนต้องเอาตัวรอด ถ้าเอาตัวรอดแล้วไม่เป็นพิษเป็นภัยกับเพื่อไทยและพร้อมที่จะกลับมา เพื่อไทยก็ยินดีรับก็ไม่มีปัญหา เพราะตอนนั้นใครที่เคยเป็นพวกผม ทำงานกับผมก็โดนบี้จนตาย แล้วทหารชุดนี้ควบคุมองค์กรอิสระหมด เขาก็ต้องเอาตัวรอดทุกคนเป็นเรื่องธรรมดา 

ส่วนที่ สมศักดิ์ ให้เหตุผลดิน ฟ้า อากาศ เปลี่ยนจึงย้ายพรรค มองดินฟ้าอากาศการเมืองเปลี่ยนไปหรือไม่ ทักษิณ กล่าวว่า “สังเกตไหม PM2.5 หายไปเลย” 

คำตอบนี้ชี้ชัดว่า 3 ตัวตึงจากพรรคตัวตรงข้าม ย้ายเข้ามาเพื่อเป็นกำลังสำคัญให้กับ ‘เพื่อไทย’ โดยมองข้าม ‘สีเฉดเดิม’ เพื่อนำไปสู่หนทางแลนด์สไลด์ที่ตั้งเป้า เข้าข่ายประโยคคลาสสิคของ ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ อดีตประธานาธิบดีของจีนผู้ล่วงลับ เคยลั่นวรรคทองไว้ในว่า ‘แมวสีขาวหรือดำไม่สำคัญขอให้จับหนูได้เป็นพอ’...  

ไม่ได้ด้วยเล่ห์ด้วยกล ไม่ได้ด้วยกระแสก็ต้องได้ด้วยชั้นเชิง วิธีการไม่สำคัญ แต่ประเด็นคือการได้มาเพื่อผลลัพธ์ นี่ละหนาการเมืองไทยรายวัน ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหญ่ 

เห็นได้ว่าเปลวแดดช่วงปลายมีนาฯ คงไม่เร่าร้อนเท่าอุณหภูมิแผดเผาปรอทแตกของการเมือง... 100 องศาฯ มิผิดเพี้ยน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์