Sutin-Defence-Israel-Emigrate-Thai-People-SPACEBAR-Photo00.jpg
Sutin-Defence-Israel-Emigrate-Thai-People-SPACEBAR-Photo01.jpg
Sutin-Defence-Israel-Emigrate-Thai-People-SPACEBAR-Photo02.jpg
Sutin-Defence-Israel-Emigrate-Thai-People-SPACEBAR-Photo03.jpg

Photo Story: ปฏิบัติการ ‘กลับมาตุภูมิ’ แผนช่วย ‘คนไทย’ ใน ‘อิสราเอล’

9 ต.ค. 2566 - 07:18

  • ‘กลาโหม-ทอ.’ เตรียมพร้อมอพยพ ‘คนไทย’ จาก ‘อิสราเอล’ ย้ำไม่ล่าช้า รอ ‘อิสราเอล’ ประสานมา ชี้ตอนนี้ยังไม่มีชาติใดได้เข้าไปอพยพ วางแผนสำรองเตรียม ‘เครื่องพาณิชย์’ หากคนไทยแห่กลับ

Sutin-Defence-Israel-Emigrate-Thai-People-SPACEBAR-Photo00.jpg
Sutin-Defence-Israel-Emigrate-Thai-People-SPACEBAR-Photo01.jpg
Sutin-Defence-Israel-Emigrate-Thai-People-SPACEBAR-Photo02.jpg
Sutin-Defence-Israel-Emigrate-Thai-People-SPACEBAR-Photo03.jpg

สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจความพร้อมของกองทัพอากาศในการเตรียมส่งอากาศยานไปรับคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในตะวันออกกลาง โดยกองทัพอากาศได้เตรียมเครื่องบินโดยสารพิสัยไกลแบบ Airbus A340 จำนวน 1 เครื่อง และเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 จำนวน 5 เครื่อง พร้อมด้วยกำลังพลชุดปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ MERT กองทัพอากาศ จำนวน 3 ชุดปฏิบัติการ ซึ่งเคยไปปฏิบัติภารกิจในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรกี และการอพยพคนไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในซูดาน มาแล้ว  

ทั้งนี้ชุด MERT จะปฏิบัติภารกิจร่วมกับเจ้าหน้าที่เวชศาสตร์การบิน  โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วย ซึ่งได้มีการจัดชุดแพทย์-พยาบาล ลำเลียงทางอากาศ และนักจิตวิทยาไว้ 3 ชุด ต่อ 1 เที่ยวบิน หากมีจำนวนไฟล์ทบินเพิ่มก็สามารถจัดชุดได้เพิ่มเติมตามความต้องการ  

สุทิน  แถลงภายหลัง รับทราบรายงาน และเยี่ยมชม เครื่อง C-130 ว่า จากการรับทราบรายงานในห้องประชุมทราบว่ากองทัพอากาศและกองทัพไทยมีการประชุมร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลมีการพูดคุยและกำหนดแผนปฏิบัติการ ขณะกองทัพอากาศรับนโยบายและแผนมาเพื่อที่จะเตรียมความพร้อม 

ซึ่งวันนี้เห็นว่าในด้านการอพยพคนไทย กองทัพอากาศเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องช่วยรัฐบาลวันนี้โดย เตรียมครื่องบินไว้ทั้ง Airbus A340 และ C-130 และนักบินผู้ปฏิบัติงานก็พร้อมนอกเหนือจากเครื่องบินแล้วเรื่องของการดูแลคนไทยในระหว่างเดินทางก็พร้อมที่จะให้การเยียวยารักษาคนไทยในระหว่างเดินทางได้โดยไม่ต้องวิตกกังวล  

“ตอนนี้เหลือเพียงว่าการที่จะอพยพคนไทย โดยทางปฏิบัติต้องได้รับอนุญาตจากประเทศอิสราเอลอนุญาตและดูแลอำนวยความสะดวกให้เราเราถึงจะไปรับคนไทยได้ ตอนนี้ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เป็นห่วงเพียงว่าสถานการณ์ที่นอกเหนือจากที่เราควบคุมได้ ว่าจะรุนแรงขึ้นหรือจะลดลง

ถ้ารุนแรงขึ้นที่เราเป็นห่วงคือจำนวนคนไทย 30,000 กว่าคน ถ้าหากว่าคนไทยขอกลับหมด กองทัพอากาศซึ่งเป็นกำลังหลักอยู่แล้ว ก็เกรงว่าจะไม่ทัน ก็อาจจะต้องขอความร่วมมือจากการบินไทยหรือสายการบินพลเรือน ให้ช่วยหรือถ้าจำเป็นกระทรวงต่างประเทศได้คุยกับทางอิสราเอล อาจจะใช้เช่าเหมาลำบินมาก่อน” สุทิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามเรื่องความปลอดภัย สุทิน ยืนยันว่า ตัวเครื่อง มีความปลอดภัย และมีแพทย์ดูแลคนป่วย แต่ปัจจัยภายนอก ก็ต้องประเมิน แต่ยืนยันจากการประสานน่านฟ้าประเทศอิสราเอล ยังไม่ปิด แต่ถ้าปิดก็มีประเทศอยู่ 3-4 ประเทศ ที่จะใช้เป็นทางผ่านนำเครื่องลงได้ เช่น จอร์แดน ซาอุดิอารเบีย และ ไซปรัส

“การดูแลบนเครื่องปลอดภัย 100% แต่ถ้าเป็นเรื่องสถานการณ์หรือการสู้รบ อันนั้นเป็นเรื่องที่ต้องประเมินร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและอิสราเอล แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็คงใช้วิธีอื่นการช่วยเหลือ เช่นอพยพคนงานไปในที่ปลอดภัยก่อน”

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลล่าช้า สุทิน กล่าวว่า แม้วันนี้เราพร้อมบิน แต่เราก็ต้องรอทางอิสราเอล แต่ผมก็เช็คว่าตอนนี้ก็ยังไม่มีประเทศไหนที่ไปอพยพพลเมืองของเขา เท่าที่เช็คก็อาจไปโดยประสานยังไง ไม่ทราบ แต่ว่ายังบินกลับไม่ได้เพราะฉะนั้นเรายืนยันว่าเตรียมพร้อมที่สุด แต่ขั้นตอนต่างๆ ยังไม่เปิดให้เราทำได้ 

สำหรับกรณีคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันนั้น สุทิน กล่าวว่า เบื้องต้นมีข้อมูลคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน 12 คน ส่วนผู้เสียชีวิตยังต้องติดตามและประเมินวันต่อวัน และการติดตามช่วยเหลือต้องประสานกับทางอิสราเอลดำเนินการ  

สุทิน ระบุอีกว่า จากการประเมินกรณีคนไทยโดนจับตัวไป ไม่ได้จับไปเรียกค่าไถ่และไม่ได้เจาะจงว่าเป็นประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นการจับแบบกวาดต้อนทุกๆประเทศ ส่วนถ้าในอนาคตจะมีการเรียกค่าไถ่นั้น ทางกระทรวงต่างประเทศกำลังวางแผนรองรับอยู่ 

พร้อมย้ำจุดยืนของกองทัพต่อสถานการณ์สู้รบในตะวันออกกลางว่า แต่ละเหล่าทัพมีจุดยืนเหมือนกัน คือต้องเตรียมพร้อมสูงสุดเพื่อช่วยเหลือคนไทย โดยกองทัพไทยเป็นเจ้าภาพ ส่วนผลกระทบต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องมีการประเมินสถานการณ์ รวมไปถึงจะต้องดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและนักธุรกิจที่เป็นประเทศคู่ขัดแย้ง และเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นอิสราเอลหรือปาเลสไตน์

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์