อ่านความหมาย ‘ประชาธิปไตย’ นอกพจนานุกรม เสริมภูมิต้านคำชวนเชื่อเรื่องประชาธิปไตยของนักหาเสียง

22 เมษายน 2566 - 06:06

TAGCLOUD-Democracy-many-shade-of-thai-definition-SPACEBAR-Thumbnail
  • แม้ประชาธิปไตยจะถือกำเนิดมาสองพันกว่าปี แต่มนุษย์ก็ยังตั้งคำถามนี้ และถกเถียงกันไม่รู้จบ ราวกับหนังสือที่ไม่มีบทสรุป

  • ท่ามกลางการหาเสียงในการเลือกตั้ง พ.ศ.2566 นักการเมืองต่าง ‘พูด’ หาเสียง ‘ขาย’ นโยบาย และแน่นอนย่อมไม่ลืมเอ่ยอ้างถึง ‘ประชาธิปไตย’

  • สำหรับคุณแล้ว ‘ประชาธิปไตย’ คืออะไร?

  • SPACEBAR รวบรวมความหมาย ‘ประชาธิปไตย’ นอกพจนานุกรมในหลากหลายมิติ ให้คนที่ยังลังเลในความหมายประชาธิปไตย เห็นภาพชัดขึ้น

สำหรับคุณ ‘ประชาธิปไตย’ คืออะไร? 

แม้ประชาธิปไตยจะถือกำเนิดมาสองพันกว่าปี แต่มนุษย์ก็ยังตั้งคำถามนี้ และถกเถียงกันไม่รู้จบ ราวกับหนังสือที่ไม่มีบทสรุป 

หรือแม้จะมีผู้บัญญัติความหมายไว้ในพจนานุกรมอย่างชัดเจน แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมความหมายที่มนุษย์แต่ละคนบัญญัติไว้ในใจ 

“แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่” ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษคนสำคัญของไทย เคยให้ความหมายประชาธิปไตยไว้ในงานเขียน ‘ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้น กับการร่างรัฐธรรมนูญ’ (หนังสือ: แนวความคิดประชาธิปไตยของ ปรีดี พนมยงค์, หน้า 133)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/0FnsCRpFLwFAVswqVNL0I/576aea18fe1ca258f36118baf3289c96/TAGCLOUD-Democracy-many-shade-of-thai-definition-SPACEBAR-Photo01
โดยปรีดีอ้างถึงความหมายในคำอังกฤษ ‘Democracy’ คำฝรั่งเศส ‘Democratie’ และคำเยอรมัน ‘Demokratie’ ว่าล้วนมาจากภาษากรีก (Demokratia) ที่หมายความว่า อำนาจสูงสุดของปวงชน การปกครองโดยมติของปวงชน

แต่ถึงอย่างนั้น ความหมายของประชาธิปไตยก็ไม่เคยหยุดนิ่ง แม้กระทั่งในปี พ.ศ.2566 บรรดาพรรคการเมืองต่างเอ่ยอ้างและถกเถียงเกี่ยวกับ ‘ประชาธิปไตย’ ว่าใครเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่ากัน

ประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเขียนอย่างน่าคิดเกี่ยวกับการช่วงชิงความหมายคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ไว้ว่า 

“เราไม่ควรใสซื่อไร้เดียงสาอีกต่อไปว่าคำนิยามและการให้ความหมายต่อประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องที่ปลอดจากความสัมพันธ์ทางอำนาจ”

“เพราะการนิยามความหมายทั้งหลายเป็นกิจกรรมทางการเมืองชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ และคนนิยามก็มีเจตจำนงทางการเมืองอยู่ในใจเสมอ” (บทความ: ประชาธิปไตยของฉัน ของท่าน และของเธอ, พ.ศ.2553) 

ท่ามกลางการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง พ.ศ.2566 นักการเมืองต่างลงพื้นที่หาเสียงและขึ้นเวทีดีเบตรายวัน เพื่อ ‘พูด’ หาเสียง ‘ขาย’ นโยบาย และแน่นอนย่อมไม่ลืมเอ่ยอ้างถึง ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘ประชาชน’ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4srRdEgXd8csp1aUBHa9pg/da39f7716352764cba2f22e7a0e071a5/TAGCLOUD-Democracy-many-shade-of-thai-definition-SPACEBAR-Photo02
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3icuEcTVwytV5f7rTavD1l/d248bd4135adde33b76e145de09819ed/TAGCLOUD-Democracy-many-shade-of-thai-definition-SPACEBAR-Photo03
ในโลกเสรี ความเป็นเผด็จการ และไม่ใช่ประชาธิปไตย กลายเป็นความล้าหลังที่ขายไม่ออก ทุกพรรคและทุกนักการเมืองจึงต้องโฆษณาและขายความเป็นประชาธิปไตยในแบบของตัวเอง 

และถ้าเรา-ประชาชนไม่ใสซื่อไร้เดียงสาจนเกินไป ก็ไม่ควรหูเบา ฟังความข้างเดียว แล้วเชื่อโดยไม่ลืมหูลืมตาว่า สิ่งที่นักการเมือง (ไม่ว่าพรรคใด) เอ่ยอ้างถึงนั้นคือประชาธิปไตยในความหมาย ‘มติปวงชนเป็นใหญ่’ 

เพราะอาจมีคนที่พูดจากใจจริง และก็อาจมีบางคนที่พูดโดยเอาประชาชนนำหน้า แต่ความจริงเป็นแค่ทางผ่านไปสู่อำนาจในสภาฯ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1pGr6XQ9b2NoPIhgFjmmuK/9d607a754f20df83c2d92e3b323de669/TAGCLOUD-Democracy-many-shade-of-thai-definition-SPACEBAR-Photo04
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/JGiV5p6TojrTgrHizaoVV/14ec7387c481e5d744e594d725ea2992/TAGCLOUD-Democracy-many-shade-of-thai-definition-SPACEBAR-Photo05
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4k96oDdCW6yOhppR2S3NZq/79d5971bd51740303aab992ae5a4274c/TAGCLOUD-Democracy-many-shade-of-thai-definition-SPACEBAR-Photo06
SPACEBAR จึงรวบรวมความหมาย ‘ประชาธิปไตย’ นอกพจนานุกรมที่มีนักคิด นักเคลื่อนไหว นักการเมือง รวมถึงปัญญาชนของไทยเคยพูดและเขียนไว้ในที่ต่างๆ ในหลากหลายมิติ ด้วยความเชื่อว่าจะเป็นข้อมูลสำหรับคนที่ยังลังเลในการให้ความหมายประชาธิปไตยในแบบของตัวเอง 

หวังว่า ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คุณตัดสินใจเลือก ‘คน’ และ ‘พรรค’ ที่ใช่ จากหัวและใจของตัวเองอย่างแท้จริง

เนื่องจากทุกการเลือกตั้ง มีราคาที่ต้องจ่าย นั่นคืออนาคตของประเทศที่ยาวนานถึง 4 ปี
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7k8kX0FgzPb6AnW2hLut4N/8aed22c3cce318607ef0eef200b7aeea/SPB_Quote-DemocracySQ_01

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ 

ปัญญาชนสยาม 

“แก่นสารของประชาธิปไตยคือทุกคนต้องมีสิทธิที่จะแสดงความคิดความเห็นได้ และการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยนั้นจะต้องมุ่งไปที่ความยุติธรรมทางสังคม กล่าวคือนอกจากทุกคนจะมีสิทธิมีเสียงมีเสรีภาพแล้ว จะต้องหาทางลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ลดช่องว่างระหว่างคนมีอำนาจกับคนไร้อำนาจ” 

“...ความสำคัญของประชาธิปไตยอยู่ตรงที่มนุษย์สามารถออกความคิดความเห็นของตนเองได้ ถ้าปราศจากอันนี้แล้วเป็นประชาธิปไตยปลอม” 

(หนังสือ: วิวาทะว่าด้วยแก่นสารของ ‘ประชาธิปไตย’ คืออะไรกันแน่, หน้า 96)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/25YZdrouvfwOOAgAghZmaQ/0c08dfce419a7570d51ad3e5ef9591ee/SPB_Quote-DemocracySQ_02

ประจักษ์ ก้องกีรติ 

นักวิชาการ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

“ประชาธิปไตยในแง่รูปแบบมันไม่ต้องมีแบบเดียว แต่คุณค่าสากลต้องมีเหมือนกัน ก็คือ เรื่องความเสมอภาค ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และประกันสิทธิเสรีภาพของผู้คน… ในที่สุดแล้วเราต้องถามว่า เรากำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ไหมล่ะ? ถ้าเรากำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ แสดงว่าเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย” 

(บทสัมภาษณ์: ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้เชื่อว่า ‘ประชาธิปไตย คือ สิ่งมีชีวิต’ กับเหตุผลว่าทำไมคนไทยยังไม่ควร Move on โดยจิราพร จันทรา, BrandThink)

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2cmDiqTMjgIXzJoiOIJKJV/a1f05a91e4e78c16a9907488bd8feee5/SPB_Quote-DemocracySQ_03

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 

นักศึกษาและนักเคลื่อนไหว หนึ่งในผู้นำของกลุ่มคณะราษฎร 2563 

“หนูมองว่าหลักสำคัญของแนวคิดประชาธิปไตย คือการหยิบยื่นโอกาสที่เท่าเทียมกันให้กับคนทุกคนมากกว่า และหลังจากนั้นแล้ว เมื่อทุกคนมีโอกาส และทุกคนเข้าใจถึงโอกาสของตัวเอง ก็จะพ่วงกับคำว่าสิทธิ”

(บทสัมภาษณ์: ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ‘เหตุการณ์เดือนตุลาฯ ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีในแบบเรียน’ โดยณภัทร ปัญกาญจน์, สถาบันปรีดี พนมยงค์) 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/VU4UPBjtBxH8jrdYQTnb0/5d457fe9a3975aa3295ec67c3ada1091/SPB_Quote-DemocracySQ_04

จาตุรนต์ ฉายแสง 

นักการเมือง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย 

“...ประชาธิปไตยคือการปกครองที่อำนาจเป็นของประชาชน ประชาชนเป็นคนกำหนดและตัดสินความเป็นไปของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดว่าใครจะเป็นผู้บริหารปกครองประเทศ ใครจะเป็นผู้ออกกฎหมาย และสิ่งที่จะต้องมีควบคู่กันก็คือหลักนิติธรรม โดยกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรมจริง เป็นอิสระ และต้องตรวจสอบได้โดยประชาชน...”

(หนังสือ: OCTOBER 09 - Democracy, หน้า 58) 

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/cwdKpQTMRzNnmR7r4O7ur/11eb73b37c61ee421eb2f6781bb6f302/SPB_Quote-DemocracySQ_05

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

นักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง อดีตนายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 13 

“ประชาธิปไตย (น.) ระบอบการปกครองที่ทุกคนเห็นว่าตัวเองเป็นผู้เผด็จการ”

(หนังสือ: พจนานุกรมฉบับคึกฤทธิ์, หน้า 76)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/xVcowd9pRM3bGGsaG0dB4/feb9c75494d86cbd093c2b7fc573eee4/SPB_Quote-DemocracySQ_06

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 

นักคิด นักเขียน และอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 

“...แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เป็นขั้วตรงข้ามกับความเป็นคนดี หากแต่คัดค้านการผูกขาดในเรื่องนี้ และต้องการทำให้ความดีเป็นเรื่องเข้าถึงได้โดยคนทุกคน โดยส่วนตัวแล้ว ผมเองก็ไม่ได้ต่อต้านความเป็นคนดีโดยทั่วไป ผมเพียงแต่เห็นว่าการสมมติตนเป็นคนดีเพื่อรวบอำนาจนั้น ไม่ถูกต้อง...”

(ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์: หัวข้อ ‘ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย’, 9 มีนาคม พ.ศ.2561) 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4P6h5S4ZlrPVBO7Nn9gwCw/5aeb331f18a546401fb8b4eed118e4e8/SPB_Quote-DemocracySQ_07

นิธิ เอียวศรีวงศ์ 

นักคิด นักเขียน และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ 

“ผมคิดว่าหัวใจสำคัญที่สุด (ของประชาธิปไตย) คือการต่อรองที่เท่าเทียมกันในทุกๆ กลุ่ม แต่อันนี้มันเป็นอุดมคติที่เราจะพบว่ามันไปไม่ถึงในทุกสังคมเลยก็ว่าได้...”

(หนังสือ: วิวาทะว่าด้วยแก่นสารของ ‘ประชาธิปไตย’ คืออะไรกันแน่, หน้า 98) 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/DYuexe6Qyu6giPkM9YnTD/14a0c0595f45508f797343e64ff787b6/SPB_Quote-DemocracySQ_08

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา 

“เมื่อ 20 ปีก่อน ที่วังสวนจิตรลดา เย็นวันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เสด็จลงทรงงานตามปกติ ประทับนั่งพับเพียบอยู่กับพื้น โดยที่มีการเตรียมพระราชอาสน์ไว้ แต่พระองค์ไม่เคยประทับ เย็นวันนั้นแปลกไป เพราะพระองค์ไม่ทรงงานแต่จ้องไปที่พระราชอาสน์ แล้วตรัสว่า ‘ทำไมในหลวงจะต้องเหนื่อย ทำไมในหลวงต้องแบกงานมากมาย ที่ยังต้องทำอย่างนี้เพราะประชาชนยังยากจนอยู่ เมื่อเขายากจนก็ขาดเสรีภาพ อิสรภาพ และเมื่อขาดอิสรภาพก็ไม่เป็นประชาธิปไตย’ ประโยคนี้สรุปสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไว้หมด เพราะความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ดูเฉพาะลายลักษณ์อักษรที่เขียนไว้เท่านั้น แต่ต้องมีสำนึกเป็นประชาธิปไตยทั้งกายและใจ ทรงเน้นเงื่อนไขความเป็นประชาธิปไตยอยู่ที่ความพร้อมความมีอยู่มีกินของประชาชน ...แต่คนไม่พยายามตีความหมายนี้ให้แตก กระทั่งผมได้ยินมากับหูตัวเองจึงต้องนำมาเล่าสู่กันฟัง”

(เอกสารวิชาการส่วนบุคคล: พระมหากษัตริย์กับการจรรโลงประชาธิปไตย โดย ดร.ดิสธร วัชโรทัย, หน้า 16) 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6mvgdiMytzXWFAiDph1onf/4910f15da9921b279dbd0df31d0c5781/SPB_Quote-DemocracySQ_09

คำ ผกา 

นักเขียน คอลัมนิสต์ และพิธีกรช่อง VOICE TV 

“เราเคยพูดกันมานับร้อยนับพันครั้งแล้วว่า ประชาธิปไตยจะเป็นประชาธิปไตยในรูปแบบไหนก็ได้ ...แต่อย่างน้อยที่สุดที่ไม่มีไม่ได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือ การเลือกตั้งที่นับชัยชนะกันที่ใครได้เสียงข้างมาก ประชาธิปไตยคือระบอบที่นับเสียง Majority ที่ได้จากการโหวต นี่คือ ‘หัวใจ’ เช่นเดียวกับคนที่ไม่มีหัวใจก็ไม่มีชีวิต ประชาธิปไตยที่ไม่มีการเลือกตั้งอันยึดชัยชนะของเสียงข้างมากเป็นหมุดหมาย ก็ต้องเรียกให้เป็นอย่างอื่น จะมาอ้างมั่วๆ ซั่วๆ ว่าเป็นประชาธิปไตยไม่ได้

อีกประการหนึ่งคือการมี 1 สิทธิ 1 เสียง เมื่อเป็นเช่นนี้ การเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการ ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการมีอยู่ซึ่งประชาธิปไตย เมื่อเป็นเช่นนั้นคนไทยทุกคนต้องซีเรียสกับการเลือกตั้ง และต้องซีเรียสกับคณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างมากที่สุด”

(บทความ: ความสูญเสียเกินเยียวยา โดย คำ ผกา, มติชนสุดสัปดาห์)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/54SYRctJ9Uq5xiingLB2i6/137a82cd2843b216aa28508d8400831f/SPB_Quote-DemocracySQ_10

อานนท์ นำภา

ทนายความ และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน 

“มันไม่มีโลกพระศรีอาริย์ในโลกความเป็นจริง แต่จุดที่ทุกคนแสดงออกได้อย่างเสรี และเคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกัน นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นในช่วงชีวิตของเรา เราอยากเห็นสถาบันกษัตริย์เคารพความเป็นมนุษย์ของราษฎร และก็อยู่กันโดยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เราก็เคารพสถาบันกษัตริย์ สถาบันก็เคารพความเป็นมนุษย์ของเรา ในแง่หนึ่งความสัมพันธ์ที่มีการเคารพซึ่งกันและกัน ก็นำไปสู่หัวใจสำคัญของการเป็นประชาธิปไตย คือหลักเสรีภาพ เสมอภาค และอยู่กันอย่างภราดรภาพ เคารพกันแม้แตกต่างกัน”

(บทสัมภาษณ์: ทนายอานนท์ นำภา : การต่อสู้ จุดยืนถึงเสรีภาพในการแสดงออก และประชาธิปไตยที่อยากเห็น โดย กรุณพร เชษฐพยัคฆ์, THE MATTER) 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/68CAx05qYURPLWnBA7Z1WG/742ac29b166ddc1bb843359c5eec49ae/SPB_Quote-DemocracySQ_11

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 

กวี และสมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12 (พ.ศ.2562-ปัจจุบัน) 

“คำว่าประชาธิปไตย คือ 
1. การได้มาซึ่งอำนาจด้วยความชอบธรรม 
2. การทรงไว้ซึ่งอำนาจโดยความชอบธรรม 
3. การใช้อำนาจต้องชอบธรรม 
4. การมีส่วนร่วมในอำนาจของประชาชนต้องชอบธรรม 

ทั้ง 4 อย่างนี้ถือเป็นอำนาจอันชอบธรรมของประชาชน ประชาธิปไตยต้องอย่างนี้ ถ้าผิดไปจากนี้ไม่ใช่ ถือเป็นเผด็จการหมด”

(บทสัมภาษณ์: ‘ผมไม่ใช่นั่งร้านรัฐบาลเผด็จการ แต่ผมใช้รัฐบาลเผด็จการเป็นนั่งร้านทำงานด้านศิลปวัฒธรรม’ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ โดย อินทรชัย พาณิชกุล, THE MOMENTUM) 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5LgXhUxnoPIa22Te0pyvr7/a3a8f8b0f3fa4b975aa8262822109527/SPB_Quote-DemocracySQ_12

พริษฐ์ วัชรสินธุ 

ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล 

“คำพูดที่ว่า ‘นี่ไง บ้านเมืองไม่สงบเพราะเป็นประชาธิปไตย’ ในมุมมองผมนะ ประชาธิปไตยควบคู่กับการเห็นต่างอยู่แล้ว ยิ่งถ้าคนเห็นต่างสามารถออกมาพูดได้ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่ทุกคนในประเทศคิดเหมือนกัน แต่นั่นไม่ได้แปลว่าทุกความแตกต่างคือบ้านเมืองที่ไม่สงบหรือทะเลาะกัน 

ผมเองชอบแยกคำว่าสงบและสันติภาพออกจากกัน ถ้าอยากให้สงบ แค่เอาปืนไปจ่อหัวทุกคนว่าห้ามพูด บ้านเมืองก็สงบแล้ว แต่ถ้าอยากได้สันติภาพ ผมว่านี่เป็นความสงบที่ชอบธรรม มันดีกว่ามากเพราะคนสามารถอยู่ร่วมกันโดยคงไว้ซึ่งสิทธิในการแสดงความเห็น โต้แย้งและวิพากษ์วิจารณ์ เหมือนถ้าเปรียบประเทศเป็นครอบครัว ผมก็ไม่ได้อยากอยู่ในบ้านที่กินข้าวกันแล้วทุกคนเงียบ แต่ผมอยากอยู่ในบ้านที่ทุกคนคิดต่างกันได้ ถกเถียงกันได้และหาวิธีตัดสินใจร่วมกันได้โดยที่ไม่มีใครต้องออกจากบ้านไป”
 
(บทสัมภาษณ์: ไอติม พริษฐ์ กับประชาธิปไตยที่ไม่มีวันละลาย โดย ฆฤณ ถนอมกิตติ, a day) 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/YzgPB2krLdG2aYHxkqnPJ/8257f62b40f3cf64a847ce4fce74d7b2/SPB_Quote-DemocracySQ_13

โตมร ศุขปรีชา 

นักคิด นักเขียน นักแปล บรรณาธิการ 

“โจทย์ของประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องว่าใครถูก ใครผิด แต่มันอยู่ที่จะบริหารจัดการความหลากหลายอย่างไร ในเบื้องต้นก็คือการที่สังคมเดินไปด้วยเสียงข้างมาก แล้วพร้อมกันนั้นก็มีการดูแลรักษาสิทธิของเสียงข้างน้อย แต่ถ้าตอนนี้เรายังไปถึงขั้นอุดมคติปรัชญาไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องไม่เป็นผู้ผูกขาดความถูกต้อง...”

(บทความ: มองการเมืองให้เห็น ‘คน’ จากจุดนอนของ ‘โตมร ศุขปรีชา’ โดย ทีมงาน V-Reform, THAIPUBLICA) 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/dTcnSHmCMsAm7cyLUC9l0/941e7ba2c205f7c54ad42f6330d917b2/SPB_Quote-DemocracySQ_14-Edit

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ 

นักวิชาการ นักเขียน รองศาสตราจารย์ประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต 

“ส่วนตัวผมเข้าใจเด็กทุกวันนี้นะ ว่าถ้าเขาไม่เอาสถาบันกษัตริย์แล้ว เขาก็มีสิทธิที่จะพูด ตามหลักการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั่วไป เพราะเรายังอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยอยู่นะ ดังนั้นผมพูดได้ว่าถ้าเป็นประชาธิปไตยจริง มันผิดเหรอกับการที่คนรุ่นใหม่เห็นว่า Constitutional Monarchy ซึ่งเราอ้างว่ามีตั้งแต่ 2475 ที่ผ่านมาไม่เวิร์กเลย ทำไมพวกเขาจะไม่มีสิทธิคิดว่างั้นเราหาตัวเลือกอื่นไหม ในเมื่อระบบปัจจุบันมันล้มเหลว ทำไมคุณถึงคิดว่าเขาทำสิ่งผิดกฎหมาย ในเมื่อมันก็เป็นอนาคตของเขา ถ้าเด็กรุ่นใหม่ต้องการถกเถียงเรื่องการเป็นสาธารณรัฐ เราเป็นประชาธิปไตยก็พูดได้ทุกเรื่องนี่”

(บทสัมภาษณ์: ‘ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง’ ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์, The 101.World)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4NercP6NHzclahB1GtwFoV/2788970b796447bb49d864814563c444/SPB_Quote-DemocracySQ_15

พุทธทาสภิกขุ 

พระสงฆ์ นักคิด นักเขียน 

“ประชาธิปไตย ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนเป็นใหญ่นั้นมันไม่แน่ ประชาชนบ้าบอก็ได้ ประชาชนเห็นแก่ตัวก็ได้ โดยประชาชน ของประชาชน เพื่อประชาชน ถ้าประชาชนเห็นแก่ตัวแล้ว ฉิบหายหมด”

(บทความ: ‘ธัมมิกประชาธิปไตย’ ของพุทธทาส โดย สุรพศ ทวีศักดิ์, ประชาไท) 

ข้างต้นคือคำนิยามถึง ‘ประชาธิปไตย’ บางส่วน ท่ามกลางคำนิยามนับหมื่นพัน ใครที่อยากรู้นิยามเกี่ยวกับประชาธิปไตยมากกว่านี้ สามารถเสิร์จหาเพิ่มเติมได้ในโลกอินเทอร์เน็ต 

แล้วคุณจะพบว่านิยามประชาธิปไตยนั้นผูกติดอยู่กับความเชื่อและจุดยืนของตัวบุคคลที่ให้คำนิยาม

ลองสืบค้น อ่าน คิด ถกเถียงกับตัวเองก่อนจะปักใจเชื่อในนิยามของใครคนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะคำพูดที่ออกมาจาก ‘นักหาเสียง’ ในฤดูเลือกตั้ง 

อย่าให้ใครมาล่วงล้ำอธิปไตยทางความคิดของคุณ ในการนิยาม ‘ประชาธิปไตย’ แบบที่คุณเชื่อ 

ขอให้ 14 พฤษภาคมนี้ ทุกคนเข้าคูหา กาเลือกพรรคและคนที่ใช่ ในแบบที่คุณเชื่ออย่างแท้จริง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/29DPubbqpR5zYRRleAWv3t/5d5db166f74ada5e2447440d545ad8e2/TAGCLOUD-Democracy-many-shade-of-thai-definition-SPACEBAR-Photo07

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์