พิธาเรียนจบมาจากที่ไหนกันแน่? เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับ HKS แห่งฮาร์วาร์ด

17 พ.ค. 2566 - 10:03

  • พิธา มีดีกรีปริญญาโท 2 ใบจากสถาบันการศึกษาระดับโลกที่สหรัฐฯ

  • แต่มีคนสงสัยว่าตกลงแล้ว พิธา เรียนจบจาก ‘มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด’ จริงหรือ?

TAGCLOUD-HKS-harvard-university-and-its-alumni-pita-limjaroenrat-SPACEBAR-Thumbnail
จากข้อมูลจากเว็บไซต์ของพรรคก้าวไกล ระบุถึงวุฒิและระดับการศึกษาของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์เอาไว้ว่า  
  • ปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
  • ปริญญาโท MBA, MIT Sloan School of Management 
  • ปริญญาโท MPP, Harvard Kennedy School of Government 
แต่มีการจุดประเด็นในโลกโซเชียลเรื่อง พิธา จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) จริงๆ หรือไม่? เพราะบางคนตั้งคำถามว่า Harvard Kennedy School of Government ที่ พิธา เคยเป็นศิษย์เก่านั้นไม่ใช่ Harvard University แท้ๆ   

ดังนั้น เราจะมาตอบคำถามกันว่า ตกลงแล้ว พิธา จบจากฮาร์วาร์ดของแท้ หรือว่าเป็นแค่สถาบันการศึกษาที่อยู่นอกระบบของฮาร์วาร์ดกันแน่? 

แบบไหนถึงเรียกว่าจบจากฮาร์วาร์ด?  

คำว่า 'มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด' (Harvard University) ประกอบไปด้วยสถาบันการศึกษา ระดับปริญญาตรี (undergraduate) 1 แห่ง และระดับบัณฑิตวิทยาลัยและวิทยาลัยวิชาชีพชั้นสูงอีก (graduate and professional Schools) 12 แห่ง  

• สถาบันระดับปริญญาตรี 1 แห่ง คือ Harvard College ซึ่งผู้จบการศึกษาจะได้รับปริญญาตรีสาขาศิลปศาสตร์บัณฑิตและวิทยาศาสตร์บัณฑิต ก่อตั้งปี ค.ศ. 1636 
  1. มาถึงตอนนี้ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า คำว่า College มีความหมายที่หลากหลายขึ้นกับบริบทที่ใช้ บางครั้งมีความหมายว่า ‘มหาวิทยาลัย’ บางครั้งหมายถึง ‘คณะ’ บางครั้งหมายถึง ‘วิทยาลัย’ แต่ในสหรัฐคำว่า College มักหมายถึงสถาบันการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งบางครั้งแยกกันอยู่เป็นเอกเทศ บางครั้ง ‘วิทยาลัย’ ต่างๆ รวมกันจนเป็น ‘มหาวิทยาลัย’ 
  2. นอกจากคำว่า College จะแปลว่า ‘คณะ’ แล้ว ยังมีคำอื่นที่มีความหมายว่าคณะด้วย คือคำว่า Faculty (โดยจำเพาะเจาะจง หมายถึงคณะอาจารย์ในสาขาวิชาเดียวกัน) ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันที่ Harvard College และในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย และยังมีคำว่า School ที่ไม่ได้แปลว่า ‘โรงเรียน’ ในระดับประถมหรือมัธยม แต่หมายถึงสถาบันการศึกษาขั้นสูง 
ที่ต้องอธิบายความหมายกันก่อน เพราะมีผู้เข้าใจผิดเรื่องคำศัพท์เหล่านี้ จนเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องรูปแบบของสถาบันการศึกษาที่ พิธา เรียนจบมา 

• สถาบันระดับบัณฑิตวิทยาลัย ทั้ง 12 แห่ง คือ 
  1. Harvard Medical School หรือ HMS (แพทยศาสตร์) ก่อตั้งปี ค.ศ. 1782 
  2. Harvard Divinity School หรือ HDS (เทววิทยา) ก่อตั้งปี ค.ศ. 1816 
  3. Harvard Law School หรือ HLS (นิติศาสตร์) ก่อตั้งปี ค.ศ. 1817 
  4. Harvard School of Dental Medicine หรือ HSDM (ทันตแพทย์ศาสตร์) ก่อตั้งปี ค.ศ. 1867 
  5. Kenneth C. Griffin Graduate School of Arts and Sciences หรือ GSAS (ศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์) ก่อตั้งปี ค.ศ. 1872 
  6. Harvard Business School หรือ HBS (บริหารธุรกิจ) ก่อตั้งปี ค.ศ. 1908 
  7. Harvard Extension School หรือ HES (ศิลปศาสตร์) ก่อตั้งปี ค.ศ. 1910 
  8. Harvard Graduate School of Design หรือ GSD (การออกแบบ) ก่อตั้งปี ค.ศ. 1914 
  9. Harvard Graduate School of Education หรือ HGSE (ศึกษาศาสตร์) ก่อตั้งปี ค.ศ. 1920 
  10. Harvard T.H. Chan School of Public Health (สาธารณสุข) ก่อตั้งปี ค.ศ. 1922 
  11. Harvard Kennedy School หรือ HKS (รัฐศาสตร์) ก่อตั้งปี ค.ศ. 1936 
  12. The Harvard John A. Paulson School of Engineering and Applied Sciences หรือ SEAS (วิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์) ก่อตั้งปี ค.ศ. 2007 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2kAqf6SRKP5acUFgdfeS7W/cee36b78739b37077d975e6aab070dd0/TAGCLOUD-HKS-harvard-university-and-its-alumni-pita-limjaroenrat-SPACEBAR-Photo01
Photo: การชุมนุมประท้วงเครือข่ายของ โดนัลด์ ทรัมป์ที่ Kennedy School of Government ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2016 (Photo Ryan McBride / AFP)

พิธาเป็นศิษย์เก่าจากที่ไหน?  

• พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากวิทยาลัยที่ 11 ที่ว่าด้วย Government หรือ รัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่มีชื่อว่า Harvard Kennedy School ชื่อย่อ HKS เป็นบัณฑิตวิทยาลัย หรือสถาบันที่สอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ว่าด้วยการบริหารการปกครอง 

• การเรียนการสอนที่นี่เน้นการบริหารประเทศ และหลักสูตรที่เข้มข้น ดังนั้น HKS จึงได้รับการจัดอันดับเป็นให้เป็นบัณฑิตวิทยาลัยด้านนโยบายสาธารณะที่ดีที่สุดในโลกอยู่บ่อยครั้ง เช่น สำนักข่าส U.S. News & World Report จัดอันดับให้ HKS เป็นบัณฑิตวิทยาลัยที่ดีที่สุดในด้านการศึกษานโยบายสังคมและการศึกษานโยบายสุขภาพ และดีที่สุดเป็นอันดับสองในด้านการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ 

•  ศิษย์เก่าของ HKS มีประมุขแห่งรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลมากถึง 18 คน ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่ศิษย์เก่าเป็นผู้นำประเทศมากที่สุดในโลก ศิษย์เก่ายังรวมถึงเจ้าหน้าที่คณะรัฐมนตรี ผู้นำทางทหาร หัวหน้าธนาคารกลาง และสมาชิกสภานิติบัญญัติ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7w0F7J7MSzrMPevmC70GEJ/05b2d98fae6b344ff830d2a5279753c4/TAGCLOUD-HKS-harvard-university-and-its-alumni-pita-limjaroenrat-SPACEBAR-Photo02
Photo: กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คริสที ลาการ์ด (Christine Lagarde) กล่าวสุนทรพจน์แก่ผู้สำเร็จการศึกษาระหว่างพิธีฉลองการสำเร็จการศึกษาที่วิทยาลัย Harvard Kennedy School ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2012 (AFP PHOTO/Emmanuel Dunand)

ผู้นำระดับโลกที่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องของพิธา      

  • ปิแอร์ ทรูโด (Pierre Trudeau) อดีตนายกรัฐมนตรีแคนาดา  บิดาของ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา คนปัจจุบัน 
  • ลี เซียนลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสิงคโปร์     
  • โดนัลด์ เฉิง (Donald Tsang) อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฮ่องกง 
  • มิเกล เด ลา มาดริด (Miguel de la Madrid) อดีตประธานาธิบดีเม็กซิโก และยังมีอดีตประธานาธิบเม็กซิโกอีก 2 คน 
  • เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ Ellen Johnson Sirleaf อดีตประธานาธิบดีไลบีเรีย ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ 
  • ฮวน มานูเอล ซานโตส (Juan Manuel Santos) อดีตประธานาธิบดีโคลอมเบีย  ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ  
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดทั้งมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ผลิตผู้นำโลก ประมุขของชาติ และผู้นำรัฐบาล เป็นจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่เมื่อจำกัดเฉพาะสถาบัน HKS แล้ว ที่นืคือแหล่งบ่มเพาะผู้นำที่มากกว่าสถาบันหรือคณะใดๆ ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  

และคนไทยกำลังลุ้นว่า นายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศ จะเป็นศิษย์ของ HKS ที่ชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือไม่?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์