การเลือกตั้งไทยที่มองข้ามอิทธิพลต่างชาติเกินไป จนอาจเป็นอันตรายต่อประเทศ

12 พ.ค. 2566 - 11:00

  • ซูดานเป็นตัวอย่างของการแทรกแซงของมหาอำนาจในสภาวะบ้านเมืองที่แตกแยก

  • คนไทยอาจจำเป็นต้องศึกษากรณีนี้ไว้เพื่อป้องกันการแทรกแซงในอนาคต

TAGCLOUD-beware-of-foreign-interference-the-case-of-sudan-and-thailand-SPACEBAR-Thumbnail
ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งทั่วไปปี 66 มีข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่ง ซึ่งควรจะเป็นข่าวใหญ่ คือเรื่องสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ มีมติที่ H.Res.369 ว่าด้วยการ “สนับสนุนพันธมิตรสหรัฐอเมริกา-ไทย และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องและผดุงไว้ซึ่งประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม สิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออกก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ในประเทศไทยและเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ” 
 
เนื้อหาหลักๆ ของมติ H.Res.369 คือย้ำว่าไทยคือพันธมิตร (alliance) เรียกร้องให้ไทยปกป้องระบอบประชาธิปไตยและสิทธิในการแสดงความเห็นของประชาชน พรรคการเมือง และสื่อมวลชน แต่ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ไทยพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่สหรัฐคิดว่าเป็นตัวขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย เช่น ร่างกฎหมายที่จะควบคุม NGO หรือแม้แต่เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ  
 
ห่วงใย, เรียกร้อง หรือแทรกแซง? 
ถ้าอ่าน H.Res.369 เราจะพบว่า มันไม่ได้เอ่ยถึงแค่การเมืองในไทย แต่เอ่ยถึงรัสเซียกับจีนด้วยในฐานะสถานการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้นในไทยที่สหรัฐมองว่า “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ทั้งๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องข้างต้น โดยใน H.Res.369 ระบุเรื่องรัสเซียกับจีนไว้ว่า  
  • โดยที่ในเดือนตุลาคม 2022 รัฐบาลไทยได้งดออกเสียงมติขององค์การสหประชาชาติเพื่อประณามการที่รัสเซียผนวก 4 ภูมิภาคตะวันออกของยูเครนอย่างผิดกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
  • ในขณะที่ในเดือนธันวาคม 2022 รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพต้อนรับรัฐมนตรีอาวุโสจากรัฐบาลทหารพม่า (ซึ่งรัสเซียกับจีนสนับสนุน - เสริมโดยผู้เขียน) แม้ว่าสหรัฐอเมริกาและอาเซียนจะพยายามโดดเดี่ยวผู้นำของรัฐบาลทหารในทางทูตก็ตาม 
  • ในขณะที่ในปี 2022 จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย โดยการค้าทวิภาคีมีมูลค่าถึง 1.07 แสนดอลลาร์ และคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 5 ของปริมาณการค้าต่างประเทศทั้งหมดของไทย  
การรระบุถึงรัสเซีย พม่า และจีนข้างต้นดูจะเป็นการเอ่ยถึงแบบจับแพะชนแกะเอามากๆ เพราะข้อความต่อมาที่ H.Res.369 เอ่ยถึงคือ “และโดยที่รัฐบาลไทยยังคงพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร” จากกนั้นก็พรรณนาว่าการควบคุม NGO มันไม่ดีต่อประชาธิปไตยอย่างไร 

การจับคู่ที่ดูพิลึกกึกกือนี้ ไม่น่าจะใช่ความอ่อนด้อยในเรื่องตรรกะ แต่น่าจะเป็นความตั้งใจที่จะเตือนกับคนอเมริกันว่า ผู้มีอำนาจในไทยกำลังเลือกฝ่ายอื่นที่ไม่ใช่อเมริกัน และความเป็นประชาธิปไตยในไทยกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง ถ้าไทยยังคบพวก “ประเทศตัวร้าย” (Pariah state) ในสายตาของสหรัฐ  

เมื่อสหรัฐรัก ‘ประชาธิปไตย’ ยิ่งชีพจนแทรกแซงบ้านเมืองอื่นได้ นี่คงเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนกระมังว่าไทยอยู่ในจอเรดาร์ของสหรัฐเข้าให้แล้ว? 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1B6DxbH33CudVfUmKiD1Cz/25de6ad97e359b72fd22d295501b5b6a/TAGCLOUD-beware-of-foreign-interference-the-case-of-sudan-and-thailand-SPACEBAR-Photo02
Photo: ในภาพนี้ถ่ายจากวิดีโอที่เผยแพร่โดยกองกำลัง RSF เมื่อวันที่ 23 เมษายน แสดงเหตุการณ์ขณษะการยึดอำนาจและปะทะกันระหว่างกองกำลังที่ทรงอำนาจในซูดาน / AFP

ดูซูดานก่อนมองสภาพของไทย 

คำถามคือ ถ้าไทยถูกแทรกแซงขึ้นมา ไทยจะมีสภาพเป็นอย่างไร? ผู้เขียนอยากจะยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคาบเกี่ยวกับช่วงหาเสียงเลือกตั้งในไทย คือสิ่งที่เกิดขึ้นในซูดาน ซูดานอาจจะอยู่คนละฟากฟ้ากับประเทศไทย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่นั่นสะท้อนถึงความอันตรายในภูมิรัฐศาสตร์โลกปัจจุบันนี้ที่พร้อมจะบดขยี้ไทยได้ทุกเมื่อเช่นกัน เพราะไทยก็เป็นจุดเป็นจุดตายของภูมิรัฐศาตร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก 

ต้องเข้าใจความจริงในซูดาน 

  • ความขัดแย้งในซูดานไม่ใช่แค่การชิงอำนาจระหว่างผู้นำกองทัพ 2 คน แต่น่าจะเป็นสงครามตัวแทน (Proxy war) ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียที่ให้การสนับสนุนแต่ละฝ่าย 
  • ‘อับเดล ฟัตตาฮ์ อับดุลรอฮ์มาน อัลบูร์ฮาน’ ผู้นำกองทัพซูดานผู้ก่อรัฐประหารและปกครองตัวจริงหลังรัฐประหาร กับ ‘โมฮาเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล’ ผู้นำกองกำลัง RSF ซึ่งเป็นทหารอาสาในสังกัดของกองทัพและเคยร่วมยึดอำนาจมาด้วยกัน  
  • ความขัดแย้งในซูดานเป็นเรื่องซับซ้อนดังนั้นเราจะละไว้ เพราะประเด็นที่สำคัญกว่าคือ เมื่อซูดานวุ่นวายเพราะการชิงอำนาจ ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้มหาอำนาจโลกเข้ามาแทรกแซง 
  • หลังรัฐประหาร เนื่องจากเกิดการประท้วงต่อต้าน อัลบูร์ฮาน แกนนำรัฐประหารจึงตั้งคณะกรรมการถ่ายอำนาจไปสู่รัฐบาลพลเรือน หรือ TMC ขึ้นมา เพื่อลดแรงต้านของประชาชน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4k1ampzEw2IMA83aNtZ8Lj/abb3b4f972c447c76faa173558bd3e02/TAGCLOUD-beware-of-foreign-interference-the-case-of-sudan-and-thailand-SPACEBAR-Photo03
Photo: ผู้สนับสนุนพากันต้อนรับนายพลอาวุโสที่ภักดีต่อผู้บัญชาการกองทัพ อับเดล ฟัตตาฮ์ อับดุลรอฮ์มาน อัลบูร์ฮาน ในเมืองพอร์ตซูดานเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2023 / AFP

ตัวแปรรัสเซีย 

  • ถึงจะมี TMC แต่ อัลบูร์ฮาน ก็ยังเป็นผู้นำตัวจริง มีอำนาจตัดสินใจเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะการตกลงให้รัสเซียสามารถตั้งฐานทัพในทะเลแดงที่ชายฝั่งของซูดานได้ (กุมภาพันธ์ 2023) 
  • ทะเลแดงเป็นทางเข้าคลองสุเอซ เป็นทางเข้าออกของยุโรปไปสู่เอเชียดังนั้นจึงมีความสำคัญมากทางการค้าและการทหาร ถ้าหาก ดากาโล ปล่อยให้รัสเซียตั้งฐานทัพได้ สหรัฐและชาติตะวันตกก็จะเสี่ยง เพราะก่อนหน้านี้เพื่อนบ้านซูดาน คือ ประเทศจิบูตีให้จีนตั้งฐานทัพเรือไปเรียบร่อยแล้ว 
  • รัฐบาลสหรัฐจึงเตือนว่าหากซูดานให้รัสเซียตั้งฐานทัพเรือจะมีผลลัพธ์ตามมา (กันยายน 2022) ส่วนสื่อของรัฐบาสหรัฐ คือ VOA ระบุว่ารัสเซียจะเจอคนท้องถิ่นในซูดานต่อต้าน (มีนาคม 2023) 
  • ในเดือนเมษายน ผลลัพธ์ที่สหรัฐเตือนก็เกิดขึ้นจริงๆ เมื่อ ดากาโล ก็โจมตีฝ่าย อัลบูร์ฮาน เข้ายึดจุดยุทธศาสตร์เอาไว้ และ ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ มันกลายเป็นสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบแล้ว 

ตัวแปรสหรัฐ 

  • ผู้สื่อข่าว ผู้สังเกตการณ์ในท้องถิ่น บางคนตั้งข้อสังเกตว่า อัลบูร์ฮาน ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ และมีความพยายามจะอธิบายเหตุการณ์ในซูดานแบบง่ายๆ ว่าเป็นสงครามตัวแทนระหว่างรัสเซีย (ที่สนับสนุน อัลบูร์ฮาน) กับสหรัฐ (ที่สนับสนุนดากาโล) 
  • เรายังไม่มีหลักฐานว่ารัฐบาลสหรัฐสนับสนุน อัลบูร์ฮาน แต่กลับมีข่าวว่ารัสเซียพยายามส่งอาวุธให้ อัลบูร์ฮาน แต่เขาไม่อยากรับเพราะกลัวว่าจะทำให้สหรัฐไม่พอใจ 
  • หากข้อมูลนี้มีความจริงแสดงว่ารัสเซียพยายามมีอิทธิพลต่อทั้ง ดากาโล และ อัลบูร์ฮาน สาเหตุก็เพราะรัสเซียต้องตั้งฐานทัพเรือที่ซูดาน และยังทำธุรกิจเหมืองทองที่ซูดานด้วย  
  • ในขณะที่รัสเซียหวังผลประโยชน์ที่จับต้องได้ สหรัฐยังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะควรจะสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือไม่สนับสนุนตัวบุคคล แต่กดดันให้ทุกฝ่ายร่วมผลักดันซูดานให้เป็นประชาธิปไตย 
  • ความสับสนของสหรัฐเป็นผลมาจากการยึดติดกับจุดยืน ‘เผยแพร่ประชาธิปไตย’ ที่เน้นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 ต่างจากนโยบายยุคก่อนที่แทรกแซงประเทศหนึ่งๆ เพื่อหวังผลประโยชน์โดยไม่สนใจระบอบการปกครอง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6smDsYvROdMyvY4BmmEcS5/4f217e3897a6e93298aa9e7d007493b1/TAGCLOUD-beware-of-foreign-interference-the-case-of-sudan-and-thailand-SPACEBAR-Photo04
Photo: นักเคลื่อนไหวชุมนุมที่ด้านหน้าทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2023 เรียกร้องให้สหรัฐเข้าแทรกแซงเพื่อยุติการสู้รบในซูดาน / AFP

แล้วใครที่อยู่เบื้องหลังสงครามนี้? 

วิธีคิดแบบขั้ว 2 ขั้ว (Polarization) ที่เริ่มแพร่ระบาดหลักขึ้นหลังการก่อตัวของสงครามเย็นครั้งใหม่ (Second Cold War) ทำให้บางคนเชื่อว่าสงครามกลางเมืองในซูดานคือสงครามตัวแทนที่ซูดาน 2 ฝ่ายรบแทนสหรัฐ (ซึ่งเชื่อว่าสนับสนุนอัลบูร์ฮาน) กับรัสเซีย (ที่เชื่อสนับสนุนดากาโล) 
 
ถึงขนาดที่มีผู้กล่าวว่า รัสเซียกับสหรัฐปลุกปั่นให้คนแอฟริกันฆ่ากันเอง เพื่อที่จะขายอาวุธและทดสอบอาวุธใหม่ๆ เพื่อนำเสนอขาย โดยที่ตัวเองจะได้ไม่ต้องปะทะกันตรงๆ 
 
แต่จากข้อมูลแวดล้อมทำให้เราวิเคราะห์ได้ว่า ความขัดแย้งของ อัลบูร์ฮาน กับ ดากาโล มีต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวมากกว่านั้น คือ อียิปต์ อิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ตัวผู้เล่นหลักก็ยังเป็นรัสเซียอยู่ดี โดยที่เรายังไม่รู้ชัดๆ ว่าสหรัฐมีดีกรีความเกี่ยวข้องแค่ไหน 
 
แต่มันสะทอนให้เห็นว่า ในสภาวะที่มีการชิงดีชิงเด่นทางการเมือง (และหากกองทัพแตกขั้ว) ต่างชาติจะสบโอกาสเข้ามาแทรกแซง ไม่ว่าจะในนามของประชาธิปไตย หรืออ้างว่าช่วยปกป้องประชาชนประเทศนั้น แต่ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศนั้น ไม่มีความช่วยเหลือไหนที่เป็นของฟรี 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6O01Io3HV7UYXKsVncoweS/a6de990101a41025a46e366923e90247/TAGCLOUD-beware-of-foreign-interference-the-case-of-sudan-and-thailand-SPACEBAR-Photo05
Photo: พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย พูดคุยกับสื่อมวลชนหลังชาวไทยที่อพยพออกจากซูดานเดิทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2023 / AFP

ความนัยที่มีต่อไทย 

ซูดานอาจจะห่างไกลจากไทย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ซูดานมีคล้ายไทย คือการถูกเอาเปรียบจากสถานะจุดยุทธศาสตร์ ความเป็นเส้นทางเข้าออกของทะเลแดง จากมหาสมุทรแอตแลนติก (สหรัฐ) ทะเลเมดิเตอเรเนียน (ยุโรป) ไปยังมหาสมุทรอินเดีย (เอเชีย) ความที่เป็นจุดเป็นจุดตายของการเมืองโลก ทำให้พรรคการเมืองไทยจะลอยชายกับเรื่องนโยบายต่างประเทศไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นโยบายต่างประเทศของแต่ละพรรคนั้แทบไม่มีเลย ขณะที่ในแวดวงคนใสใจการเมืองระหว่างประเทศในไทยก็แตกออกเป็น 2 กลุ่ม 
  • กลุ่มที่เอนเอียงไปทางชาติตะวันตก (เช่น กระแสข่าวเรื่องการพบปะของทูตตะวันตกกับตัวแทนพรรคการเมืองในไทยบางพรรค เมื่อไม่กี่วันก่อนเลือกตั้ง) 
  • กลุ่มที่เอนเอียงไปทางรัสเซียและจีน (กลุ่มผู้สนับสนุนบางพรรคการเมือง แสดงท่าทีโปรจีนกับรัสเซีย เพื่อหวังเอามาต้านการแทรกแซงของตะวันตก)  
2 กลุ่มนี้ ดูเผินๆ เหมือนจะต่างคนต่างอยู่ แต่มีกรณีของนักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศชาวไทยผู้หนึ่ง ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ใน Facebook และมักเสนอมุมมองที่ต่างจากโลกตะวันตกหรือแสดงทัศนะเอนเอียงไปทางรัสเซีย ปรากฏว่าโพสต์ของเขาถูก Facebook ระบุว่าเป็นสื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ทั้งๆ เจ้าตัวชี้แจงว่าเขาไม่เคยไปรัสเซียและยิ่งไม่ต้องพูดเลยว่าได้รับเงินจากรัฐบาลรัสเซียหรือไม่ จากกรณีนี้เราจะเห็นว่า แม้แต่การแสดงทัศนะที่ต่างไปในแพลตฟอร์มสัญชาติอเมริกัน ก็เสี่ยงที่จะถูกโจมตีทางเมืองเอาง่ายๆ  

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม วิธีคิดแบบขั้ว 2 ขั้ว (Polarization) แบบนี้ ยังเป็นผลพวงมาจากการสร้างขั้วขัดแย้งในการเมืองไทยที่รุนแรงแบบ “อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้” แต่มันเป็นของหวานอันโอชะของต่างชาติ ที่หาช่องทางจะเข้ามาปั่นหัวคนไทย  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2SA28TVt7gvbW8A5gcZ1rb/6968c0af19d3d5d0369cd646a78991c6/TAGCLOUD-beware-of-foreign-interference-the-case-of-sudan-and-thailand-SPACEBAR-Photo06
Photo: ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนระหว่างการลงคะแนนล่วงหน้าที่หน่วยเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2023 หนึ่งสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม / AFP

สิ่งที่ไทยควรตระหนักจากกรณีซูดาน 

  • รัสเซียพร้อมที่จะเข้าหาทุกฝ่ายแม้จะเป็นกลุ่มอำนาจที่เป็นปรปักษ์กัน เพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน แต่ในไทยกลับมีบางกลุ่มที่ความคิดว่า ‘รัสเซียคือมิตรแท้’ โดยยังยึดติดกับเรื่องเล่า (Narrative) ทางประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เชื่อกันว่ารัสเซียช่วยไทยไม่ให้เป็นเมืองขึ้นตะวันตก ทั้งๆ ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์โต้แย้งว่ารัสเซียต้องการผลประโยชน์จากไทยไม่ต่างจากชาติอื่น 
  • สหรัฐกังวลกับการเข้ายึดหัวหาดที่ทะเลแดงของพันธมิตรรัสเซีย-จีน โดยจีนได้ตั้งฐานทัพเรือที่ประเทศจิบูตีไปแล้ว (ทางตอนใต้ของซูดาน) ดังนั้น ภูมิภาคอื่นก็ควรระวังสถานการณ์แบบนี้ไว้ เช่น มีกระข่าวอยู่เนืองๆ ว่า กัมพูชาอาจจะปล่อยให้กองทัพเรือจีนหรือทัพอากาศของจีนมาใช้ท่าเรือและสนามบิน ในพื้นที่ริมอ่าวไทย ไม่ไกลจากจังหวัดตราดของไทย  
  • ทะเลแดงคือจุดเชื่อมต่อสำคัญของ ‘ยุทศาสตร์อินโด-แปซิฟิก’ ซึ่งไทยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์นี้ด้วย แต่ในขณะที่มหาอำนาจส่งเรือรบเข้ามาเผชิญหน้ากันใกล้บ้านเรา และเพื่อนบ้านเริ่มสร้างฐานทัพเรือใกล้ๆ น่านน้ำของไทย ที่อาจถูกใช้โดยมหาอำนาจ (เช่น ท่าเรือที่เมียนมาและกัมพูชา)  
  • จากความสับสนในซูดาน อาจทำให้สหรัฐอาจเปลี่ยนท่าที จากที่เน้นเอาแต่รัฐบาลพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตย แต่อาจจะสนับสนุนรัฐบาลทุกประเภท หากจะช่วยต้านทานรัสเซียหรือจีนได้ ดังนั้น H.Res.369 อาจไม่ใช่จุดยืนที่แท้จริง และที่ผ่านมาคองเกรสมักทำอย่างหนึ่ง (สนับสนุนประชาธิปไตย) แต่รัฐบาลสหรัฐอาจจะทำอีกอย่างก็ได้ (พร้อมกับทุกฝ่าย) 

ทำไมพรรคการเมืองไม่สนใจ? 

เป็นเรื่องเข้าใจที่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แทบจะไม่มีพรรคไหนพูดถึงการป้องผลประโยชน์ของชาติให้พ้นจากการแทรกแซงของต่างชาติ เพราะมันไม่ใช่นโยบายที่จับต้องได้เท่ากับเรื่องการมีกินมีใช้ ดังนั้น แต่ละพรรคจนใส่ใจกับการตั้งทีมเศรษฐกิจ แต่น้อยรายที่จะแคร์ว่าใครควรจะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศดีๆ นั่นเพราะถึงที่สุดแล้ว พรรคการเมืองจะต้องพึ่งข้าราชการประจำในการว่างแผนการเรื่องนโยบายต่างประเทศ และโชคดีที่ข้าราชการประจำเรื่องการต่างประเทศของไทยนั้นอยู่ในระดับมือทอง  
 
แต่สถานการณ์โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนอาจเรียกได้ว่าเป็นการประลองกำลังครั้งแรกของชาติตะวันตกกับฝ่ายรัสเซีย (และอาจรวมจีนด้วย) ในขณะที่สงครามกลางเมืองซูดานอาจเรียกว่าเป็นสงครามตัวแทนครั้งแรกหลังการเกิดขึ้นของสงครามเย็นครั้งใหม่ (Second Cold War) 
 
เช่นเดียวกับสงครามเย็นครั้งแรก ไทยในฐานะจุดยุทธศาสตร์สำคัญจะต้องถูกบีบให้เลือกข้างในที่สุด ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ไม่น่าพิสมัยเอาเสียเลย หากพิจารณาถึงสถานการณ์การเมืองภายในของไทย ที่แต่ละฝ่ายพร้อมจะชนกันได้ทุกเมื่อ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์