ชำแหละสโลแกน: เมื่อการเมืองเป็นเรื่องของการ ‘ทำ’ (และไม่ทำ)

29 มีนาคม 2566 - 10:39

TAGCLOUD-decode-political-parties-slogan-and-motto-SPACEBAR-Thumbnail
  • ทำไมการเมืองจึงเป็นเรื่องของการทำ และไม่ทำ บทความนี้จะพาไปหาคำตอบผ่านการส่องสโลแกนดังของ 6 พรรคการเมืองไทย

หนึ่งในสีสันของการเลือกตั้งปีนี้คือ สโลแกนของบรรดาพรรคการเมืองที่แข่งกันดึงดูดความสนใจของประชาชนด้วยถ้อยคำและวาทะเด็ดๆ หรือไม่ก็เกาะกระแสไปตามๆ กัน ซึ่งรอบนี้ดูจะได้รับอิทธิพลมาจากสโลแกนที่สุดคุ้นหูไปจากคู่แข่งอย่าง ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นพิเศษ เช่น ‘พูดแล้วทำ’ ของพรรคภูมิใจไทย ‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ 

เช่นเดียวกับโลกของการตลาด สโลแกนทำหน้าที่สื่อ ‘สารสำคัญ’ หรือ Key Message ของพรรคการเมืองไปสู่ประชาชน เพื่อประกาศจุดยืนและอุดมการณ์ของพรรค ไม่ต่างจากมอตโต้ (Motto) หรือคำขวัญที่เน้นคำสั้นๆ เรียบง่าย ผสมอารมณ์เข้ามาด้วย 

บทความนี้จะพาไปรู้จักกับสโลแกนของพรรคการเมืองที่น่าจับตามองในศึกการเลือกตั้งปี 2566 พร้อมกับค้นหาคำตอบว่า ทำไมการเมืองจึงเป็นเรื่องของการ ‘ทำ’ (หรือไม่ทำ) รวมถึงทำไปแล้วจะได้ ‘อะไร’ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6kyJlJbLzMHRZtjYejJCGV/1e074f1f8b9bed2eab62874c67a6ebc5/TAGCLOUD-decode-political-parties-slogan-and-motto-SPACEBAR-Photo02

พรรคภูมิใจไทย 
สโลแกน: พูดแล้วทำ 

สโลแกนหาเสียงที่มาแรงตั้งแต่กลางปี 2565 ต้องยกให้กับ ‘พูดแล้วทำ’ ของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเปิดตัวสโลแกนนี้ในวันทำบุญครบรอบปีที่ 14 จนกลายเป็นสโลแกนและมอตโต้หลักที่พรรคนำมาใช้หาเสียงในสนามเลือกตั้งปีนี้ จนถึงขั้นปล่อยเพลงซิงเกิล ‘พูดแล้วทำ’ ออกมาเน้นย้ำแบรนดิงของภูมิใจไทย 
ในแง่หนึ่งสโลแกนนี้ตอกย้ำความสำเร็จของพรรคภูมิใจไทยที่ปลดล็อกกัญชาเสรีเพื่อการแพทย์และเศรษฐกิจได้สำเร็จตามที่เคยหาเสียงไว้เมื่อปี 2562 ขณะเดียวกันกัญชาเสรีก็เป็นจุดอ่อนที่พรรคการเมืองอื่นๆ หยิบมาโจมตีได้เต็มที่เช่นกัน เพราะทุกวันนี้สังคมพากันตั้งคำถามว่าการเปิดกัญชาเสรีโดยที่ยังไม่ได้ออกกฎหมายรองรับนั้นเหมาะสมหรือไม่ 

ดังนั้นจะมองว่าสโลแกนนี้ให้เซนส์ของความมุ่งมั่นที่จะรักษาคำพูด (Commitment) แต่ก็สามารถตีความได้ว่าแค่ทำตามสิ่งที่ได้พูดไว้ โดยปราศจากการคิดวิเคราะห์และคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาเช่นกัน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2f9C6mbplOsDv9MO8ZBFnX/5aa3e3de0c770bb421fda67d94b1d90f/TAGCLOUD-decode-political-parties-slogan-and-motto-SPACEBAR-Photo03

พรรคเพื่อไทย 
สโลแกน: คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน 

ถึงจะเปิดตัวช้ากว่า (ธันวาคม 2565) แต่เพื่อไทยก็มาพร้อมกับสโลแกนที่สะท้อนถึงจุดเด่นและอุดมการณ์ของพรรคได้อย่างชัดเจน 

‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน’ ถึงจะใช้คำว่า ‘ทำ’ (กริยา) เหมือนกัน แต่ใช้คำว่า ‘เป็น’ มาขยายความอีกที เพื่อสื่อถึงการมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ 

แพรทองธาร ได้กล่าวในที่ประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีว่า การลงพื้นที่ศึกษาและทำวิจัยทำให้พบว่าประเทศถอยหลังไปมาก ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ประชาชนจำนวนมากมีหนี้สินสะสม และเพื่อที่จะรับมือกับปัญหามากมายในปัจจุบัน จำเป็นต้อง ‘คิดใหญ่’ และ ‘ทำเป็น’ เพื่อแก้ปัญหาให้ได้ โดยมุ่งสร้างรายได้และลดรายจ่ายของคนไทย 

ที่จริงสโลแกนนี้ไม่ได้ใหม่เอี่ยมซะทีเดียว ย้อนกลับไปในปี 2541 ตอนเปิดตัวพรรคไทยรักไทยปี 2541 นำโดยทักษิณ ชินวัตร ก็ใช้สโลแกนที่คล้ายกัน คือ ‘คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน’ เพื่อต้องการสื่อว่าในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยมีความหวังเกิดขึ้นใหม่ หลังจากประเทศต้องเผชิญกับสภาวะความไม่มั่นคงทางการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจนั่นเอง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4pEj1s7tmRbFMYyQhf2Sr5/40bc3f903d433d58e303e2104f513f61/TAGCLOUD-decode-political-parties-slogan-and-motto-SPACEBAR-Photo04

พรรครวมไทยสร้างชาติ 
สโลแกน: ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ

งานนี้พรรครวมไทยสร้างชาติก็ไม่พลาดที่จะเล่นกับกระแสคำว่า ‘ทำ’ ถึงจะเปิดตัวช้ากว่าสองพรรคแรก (กุมภาพันธ์ 2566) แต่ก็เป็นสโลแกนที่ใครได้เห็น ได้ฟัง ก็จำได้ทันที 

‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’ เป็นสโลแกนที่กระชับ ได้ใจความ แสดงถึงการกระทำ (Action) ที่มีความต่อเนื่อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อธิบายถึงที่มาและความหมายของสโลแกนนี้ตอนลงพื้นที่วัดเขาตาหน่วย จ.จันทบุรี ว่าเป็นการต่อเติมสิ่งที่มีอยู่แล้ว นั่นคือ บัตรสวัสดิการ และต้องการทำสิ่งที่คิดและทำอยู่ให้เสร็จ และทำต่อเรื่องใหม่ๆ ในอนาคต 

(กว่า) 8 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นย่อมมีหลายสิ่งที่ทำไปแล้ว เช่น โครงการระบบรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน โครงการไทยชนะ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมีหลายสิ่งที่ยังไม่เสร็จเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม กระแสย้ายพรรคอาจทำให้แฟนคลับสับสน จนถึงขั้นที่พรรคต้องปล่อยเพลง ‘ลุงตู่อยู่ไหน’ ออกมาย้ำว่า ย้ายไปอยู่รวมไทยสร้างชาติแล้ว จนถึงตอนนี้เราไม่แน่ใจนักว่าพลเอกประยุทธ์มีซิงเกิลของตัวเองไปแล้วทั้งหมดกี่เพลงกันแน่

น่าคิดต่อว่า หากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้จะสามารถสานต่อสิ่งที่ทำค้างไว้ตลอด (กว่า) 8 ปีที่ผ่านมาได้สำเร็จอย่างที่พูดไว้หรือไม่
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7xlTu28VnA9NXZZP2YrbZc/7ed56b0337f28239da8c9719436d2f41/TAGCLOUD-decode-political-parties-slogan-and-motto-SPACEBAR-Photo05

พรรคประชาธิปัตย์ 
สโลแกน: ทำได้ไว ทำได้จริง ไม่ทิ้งภาระให้ประชาชน 

  • พรรคประชาธิปัตย์มาพร้อมกับสโลแกน ‘อุดมการณ์ทันสมัย ทำได้ไว ทำได้จริง’ ซึ่งค่อนข้างสวนทางกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ 
  • อาจสื่อถึงความตั้งใจของพรรคที่อยากปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้คนรู้สึกว่าประชาธิปัตย์ยังคงมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ทันสมัย (หรืออย่างน้อยก็ทันกระแส ‘ทำๆ’ นี้)  
  • ส่วน ‘ทำได้ไว ทำได้จริง’ ก็เป็นวิธีสื่อสารเพื่อเน้นย้ำว่าพรรคนั้นมีผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันและจับต้องได้ หรือทำได้จริงนั่นเอง แต่ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลตลอด 4 ปีที่ผ่านมานั้น อาจต้องใช้เวลาสืบค้นข้อมูลเล็กน้อยว่ามีผลงานเด่นๆ อะไรบ้าง เช่น นโยบายการเกษตร  
  • ยังดีที่พรรคประชาธิปัตย์เคยโพสต์รวมผลงานเด่นของพรรคไว้ พร้อมกับเปรยว่าเผื่อคนไทยจะลืม เช่น เริ่มนมโรงเรียน เด็กรุ่นใหม่ตัวโตขึ้น (นายกฯ ชวน1) ริเริ่มกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้โอกาสเรียนจบ ป.ตรี (นายกฯ ชวน1) และปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (นายกฯ ชวน-นายกฯ อภิสิทธิ์) 
  • ปิดท้ายสโลแกนด้วย ‘ไม่ทิ้งภาระให้ประชาชน’ อาจซ่อนนัยยะของการเสียดสีรัฐบาลทั้งในอดีตและปัจจุบันที่เคยสร้างปัญหาทิ้งไว้ ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระแทน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3aIsBAOXqyloEHm6POr0cJ/bef9acac166719d8101ea91fa389e390/TAGCLOUD-decode-political-parties-slogan-and-motto-SPACEBAR-Photo06

พรรคพลังประชารัฐ 
สโลแกน: ก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา พัฒนาทุกพื้นที่ 

ในช่วงแรกๆ พรรคพลังประชารัฐดูจะมองข้ามกระแส ‘ทำ’ แล้วพุ่งเป้าไปสื่อสารเรื่อง ‘ความขัดแย้ง’ เป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นประเด็นที่พลเอกประวิตรพูดถึงบ่อยๆ เวลาลงพื้นที่ไปพบปะกับประชาชน เราสามารถตีความเรื่องความขัดแย้งได้หลายแง่มุม 
  • สื่อเคยตั้งข้อสังเกตว่าปมความขัดแย้งในปัจจุบันอาจมาจาก ‘การแยกทางกัน’ ของพี่น้อง 2 ป. ที่ต่างแยกย้ายไปเป็แคนดิเดตของพรรคที่สังกัดอยู่ บ้างก็มองว่าเป็นแค่เกมการเมืองเท่านั้น 
  • ต่อมาพลเอกประวิตรได้โพสต์บนเพจเฟซบุ๊กเพื่อชี้แจงถึง ‘บทสรุปความขัดแย้ง’ โดยอ้างว่าปัญหาความไม่เข้าใจในแนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยมมีมานานแล้ว แต่ความขัดแย้งเกิดจากการใช้มติเสียงข้างในสภาเพื่อผลประโยชน์ของพรรคและพวกพ้อง ประชาชนที่เห็นต่างจึงออกมาเรียกร้อง จนเหตุการณ์ลุกลามเป็นวิกฤต ทำให้ ‘ทหาร’ ต้องออกมาเพื่อยุติปัญหา 
  • สื่อและนักวิเคราะห์จึงตั้งข้อสังเกตว่า ‘การก้าวข้ามความขัดแย้ง’ อาจหมายถึงการหันไปจับมือกับพรรคต่างขั้วเพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นได้ 
  • เดิมทีความขัดแย้งมักเป็นถูกใช้เป็นเหตุและผลในการสนับสนุนการทำรัฐประหาร ทั้งที่ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมทั่วไป ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือสังคมโลก  
  • เมื่อเทียบกับศึกเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้สโลแกน ‘เลือกความสงบ จบที่ลงตู่’ จะเห็นได้ว่าทั้งตัวละครและ Key Message เปลี่ยนไปแทบจะสิ้นเชิง จากการเน้นตัวบุคคลและการรักษาความสงบของบ้านเมือง (ซึ่งเรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ในช่วงรัฐประหารปี 2557) มาเป็นสโลแกนนี้ สะท้อนว่าพลเอกประวิตรพร้อมลงสนามในฐานะนักการเมืองเต็มตัว ไม่ใช่แค่รองนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งปี 62 ซึ่งเป็นการสืบทอดอำนาจมาจากการทำรัฐประหารอีกที

รู้หรือไม่?  
  • ถึงจะช้ากว่าพรรคอื่นๆ ไปหลายขุม พรรคพลังประชารัฐก็ปล่อยสโลแกนหาเสียงอย่าง ‘ทำทันที’ ช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ของสกลธี ภัททิยกุล ซึ่งรอบนี้ได้เป็นหัวหน้าทีม กทม. พร้อมกล่าวปราศรัยว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ใช่แค่ ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ แต่ ‘ทำจริง ทำเร็ว ทำทันที’
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2theokFX4Fk7IEDK1TdlU8/248958bef1aeef4c8a5bd255a709adf4/TAGCLOUD-decode-political-parties-slogan-and-motto-SPACEBAR-Photo07

พรรคก้าวไกล 
สโลแกน: กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม 

  • เทียบกับพรรคอื่นๆ แล้ว สโลแกนของพรรคก้าวไกลแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะไม่ได้สื่อสารเรื่อง ‘การลงมือทำ’ ไม่เน้นขายหรือเคลม ‘ผลงาน’ แต่เสนอทางเลือกให้กับคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง  
  • อาจตีความหมายได้ว่า ถ้าเลือกแล้ว ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ต่างไปจากเดิม (จริงหรือไม่ ก็คงต้องไปพิสูจน์กันด้วยตัวเอง) 
  • สโลแกนนี้ยังตอกย้ำจุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคที่ยึดมั่นกับการเปลี่ยนแปลงประเทศในระดับฐานราก กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น และต่อต้านเผด็จการด้วยการปิดสวิตช์ 3 ป. 
  • การใช้แท็กไลน์ ‘การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต’ ประกอบสโลแกนนี้ถือว่าลงตัวในแง่การสื่อสาร อาจตีความได้ว่าถ้าการเมืองดี ผู้คนหาเลี้ยงชีพได้ ก็ย่อมจะมีอนาคตด้วย ซึ่งทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์และสมาชิกพรรคก้าวไกลมักจะย้ำเสมอในช่วงหาเสียงว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกับเรื่องปากท้องนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป จะทำแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้
  • แม้ว่าสโลแกนและแท็กไลน์ให้เซนส์ของความหวัง (ค่อนไปทางอุดมคติ) สิ่งที่พรรคก้าวไกลจะต้องเร่งพิสูจน์ในตอนนี้คือไม่ใช่แค่เรื่อง ‘ทำได้จริงไหม’ แต่ต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นด้วยว่า พรรคก้าวไกลจะมีโอกาสชนะการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาล (เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามที่หาเสียงไว้) 

สโลแกนที่เราหยิบยกมาศึกษาวิเคราะห์นี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น หากสนใจอยากศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสโลแกนของพรรคอื่นๆ สามารถติดตามได้ในเว็บไซต์ของแต่ละพรรคการเมือง หรือติดตามข่าวสารเกี่ยวกับ #เลือกตั้ง 66 ได้ที่ SPACEBAR 

 

Key Takeaways: 

  • จากการศึกษาสโลแกนของ 6 พรรคการเมืองไทย พบว่ามี 5 พรรคที่เล่นกับเทรนด์การใช้คำว่า ‘ทำ’ ในสโลแกนหลักและสโลแกนหาเสียงของพรรค 
  • พรรคที่ใช้คำว่า ‘ทำ’ มากที่สุด คือ 
             1. พรรครวมไทยสร้างชาติ กับ พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 3 คำ 
             2. พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 2 คำ 
             3. ภูมิใจไทยและเพื่อไทย จำนวน 1 คำ
 
  • นอกจากพรรคก้าวไกลแล้ว ยังมีพรรคอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้สโลแกนตามกระแสนี้ เช่น  

            - ไทยสร้างไทย: สู้เพื่อชัยชนะของประชาชน โดยใช้ 2-3 คีย์เวิร์ดหลักในการหาเสียง นั่นคือ ปลดปล่อย-ปลดล็อก (Liberate) กับ สร้างอำนาจ                  (Empower) 

            - ชาติไทยพัฒนา: สร้างประเทศที่ยั่งยืน เพื่อลูกหลานไทย (ไม่ได้ระบุสโลแกนชัดเจน แต่เป็นแท็กไลน์ของนโยบายหลักของพรรค)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์