‘บรรทัดเว้นบรรทัด’ สนธิญากราบ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในจดหมายกี่ครั้ง?

1 มิ.ย. 2566 - 10:36

  • สนธิญา ‘กราบ’ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ผ่านจดหมายถึง 15 ครั้ง

  • ‘กราบเรียน’ เป็นคำที่ใช้เยอะที่สุด 6 ครั้ง

TAGCLOUD-how-many-sonthiya-prostrate-sereepisuth-SPACEBAR-Thumbnail
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/ooH5I11O7ip4K24soLHHp/3df3a8a313cfedd9b4ede12309f1e1a8/info-TAGCLOUD-how-many-sonthiya-prostrate-sereepisuth__1_
โพสต์ขอความเห็นมหาชนว่า ควรให้อภัย สนธิญา สวัสดี ดีไหม? บนเพจพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย คือหนึ่งในกระแสร้อนบนโซเชียลมีเดียวานนี้ (31 พฤษภาคม) ที่วันนี้ยังคงร้อนผ่าว 

นอกจากความเห็นของคนนับแสนกว่า 92% จะลงความเห็นว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส “ไม่ควรให้อภัย” สนธิญา สวัสดี หนึ่งในนักร้อง (เรียน) เบอร์ต้น ที่เคยร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง เรื่องการได้มาซึ่งตำแหน่ง ส.ส.ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (8) ที่เคยถูกไล่ออกจากราชการหรือไม่ ฯลฯ 

ต่อมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ฟ้องกลับในข้อหาหมิ่นประมาท กระทั่งศาลอาญาชั้นต้นมีคำพิพากษา สนธิญา สวัสดี ดังนี้ 
  • จำคุก 6 เดือน 
  • ปรับ 5 หมื่นบาท 
  • โทษจำรอลงอาญา 2 ปี 
ขณะที่ศาลแพ่งพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายอีก 2 ล้านบาท
และขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 

หลังศาลมีคำตัดสิน สนธิญา สวัสดี ได้ส่งหนังสือขอประทานโทษ และขออภัย ลงวันที่ 26 พฤษภาคม เพื่อขอให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ “โปรดเมตตากรุณา...” และ “กราบสัญญาว่าข้าพเจ้า จะไม่กระทำการใดๆ ให้ท่านระคายเคืองล่วงเกินท่านในทุกๆ เรื่องต่อไปตลอดชีวิต และจะถือว่าท่านเป็นผู้มีพระคุณและให้โอกาสในชีวิตกระผมใหม่”

โดยลงท้ายในจดหมายว่า “กราบขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง”

สิ่งที่น่าสนใจ นอกจากเนื้อความในจดหมายคือ การใช้คำ โดยในจดหมายฉบับดังกล่าวมีการใช้คำว่า ‘กราบ’ อยู่หลายจุด 

(ผู้อ่านคิดว่ามีกี่คำ?) 

จากการอ่านพบว่า จดหมายมีข้อความส่วน เนื้อหาราว 33 บรรทัด 

ในเนื้อหาส่วนดังกล่าว มีการใช้คำว่า ‘กราบ’ ทั้งหมด 15 ครั้ง แบ่งเป็น (เรียงตามลำดับจากมากไปน้อย) 
  • กราบเรียน 6 ครั้ง 
  • กราบขอประทานโทษ 3 ครั้ง 
  • กราบขอประทานโทษและขออภัย 1 ครั้ง 
  • กราบขอโทษและขออภัย 1 ครั้ง 
  • กราบขอความกรุณาเมตตา 1 ครั้ง 
  • กราบขอโอกาส 1 ครั้ง 
  • กราบสัญญา 1 ครั้ง 
  • กราบขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง 1 ครั้ง 
คิดเป็นจำนวนที่สนธิญากราบ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ผ่านจดหมายโดยเฉลี่ยเท่ากับ ‘บรรทัดเว้นบรรทัด’ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1ehXnT5zriXkiLpZnQTqDc/bf9d74b9410905c3228e1bf0e347e8dc/TAGCLOUD-how-many-sonthiya-prostrate-sereepisuth-SPACEBAR-Photo01__1_
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/xIi5C0QLYq27ygnZaQmos/f38e945a7ed509e1d9638f7c31b296f9/TAGCLOUD-how-many-sonthiya-prostrate-sereepisuth-SPACEBAR-Photo02__1_
ทั้งนี้ ในเชิงของภาษา สนธิญาได้แสดงถึงความเคารพต่อคู่กรณีอย่างสูง โดยในทุกกิริยาใช้คำว่า ‘กราบ’ นำหน้า 

คำว่า กราบ โดยความหมาย เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงต่อผู้ใหญ่ ผู้มีอาวุโส พระภิกษุ หรือพระราชวงศ์ ด้วยการประนมมือยกขึ้นเสมอหน้าผาก แล้วน้อมศีรษะลงจดพื้น (อ้างอิงจาก บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”) 

คำอย่าง กราบเรียน ที่สนธิญาใช้เป็นคำขึ้นต้นและใช้เยอะที่สุด (6 ครั้ง) ระเบียบการเขียนเอกสารราชการระบุว่า คำนี้เป็นคำที่ใช้กับบุคคลธรรมดาที่มีตำแหน่งระดับสูง 15 ตำแหน่ง ได้แก่ 
  1. ประธานองคมนตรี 
  2. นายกรัฐมนตรี 
  3. ประธานรัฐสภา 
  4. ประธานวุฒิสภา 
  5. ประธานสภาผู้แทนราษฎร 
  6. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 
  7. ประธานศาลฎีกา 
  8. ประธานศาลปกครองสูงสุด 
  9. ประธานกรรมการการเลือกตั้ง 
  10. ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 
  11. ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ 
  12. ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 
  13. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินหรือผู้ตรวจการแผ่นดิน 
  14. อัยการสูงสุด 
  15. รัฐบุรุษ 
รวมถึงคำว่า ขอประทานโทษ (ปรากฏในจดหมาย 4 ครั้ง) ก็หมายถึงคำขอโทษที่มักใช้กับคนที่ไม่ได้สนิทสนม หรือใช้กับผู้ใหญ่ (อ้างอิงจาก สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

หากอ่านเฉพาะเนื้อความในจดหมาย จะเห็นได้ว่า สนธิญา สวัสดี ได้แสดงความสำนึกและให้ความเคารพต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ คู่กรณีอย่างถึงที่สุด 

กราบในทุกกิริยา ชนิดบรรทัดเว้นบรรทัด 

ส่วนความในใจแท้จริงจะเหมือนในจดหมายหรือไม่ คงไม่มีใครล่วงรู้ 

สุดท้ายคู่กรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะให้อภัยนักร้องที่เคยพูดว่า “พร้อมจะขอโทษมานานแล้ว แต่ให้กราบเท้าคงไม่เอา” หรือเปล่านั้น 

ถ้าวัดจากมติมหาชนบนเฟซบุ๊ก คนส่วนใหญ่ดูจะมีความเห็นว่า 'ไม่ควรให้อภัย' อย่างเป็นเอกฉันท์โดยไม่ได้นัดหมาย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์