ฟังเสียงคนเชียงใหม่ เลือกตั้ง 66 มากกว่าเลือกใคร คือเลือกเพราะอะไร?

13 พ.ค. 2566 - 02:13

  • SPACEBAR สนทนากับผู้คนหลากหลายอายุและอาชีพในเมืองเชียงใหม่ ลึกกว่าคนที่ใช่ พรรคที่ชอบ คือเลือกเพราะอะไร

TAGCLOUD-people-of-chiangmai-election-66-SPACEBAR-Thumbnail
SPACEBAR สนทนากับผู้คนในเมืองเชียงใหม่ จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 มากถึง 10 ที่นั่ง 

พวกเขาคิดอย่างไรกับการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 อะไรคือปัญหา อุปสรรค ความคับข้องที่กำลังเผชิญในชีวิต อะไรคือความจริง ความคาดหวัง และความหวัง 

ตอนอ่านข้อเขียนชิ้นนี้ คุณคงได้ออกไปใช้สิทธิ์ และการเลือกตั้งคงจบลงแล้ว 

ไม่รู้ว่าคุณเลือกใคร เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นอย่างไร แต่ถึงอย่างไร เสียงของประชาชนก็น่าฟังเสมอ 

และนี่คือบางเสียงที่เราได้ยิน...
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/YBpog5jJzG8eaJQKUn1Iu/df190b4ccc346441ffa243d38d74f52f/people-of-chiangmai-election-66Artboard_1

“ป้าอยากคุยกับคนที่เลือกลุง” เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง อยากเข้าใจฝั่งตรงข้ามของความคิดของเธอ

เสาวคนธ์เป็นอดีตข้าราชการครูที่เออรี่รีไทร์ออกมาตอนอายุ 47 ตอนนี้เธออายุ 66 ปี เป็นเจ้าของร้านขายสินค้างานฝีมือบนถนนช้างม่อย และอีกบทบาทที่สำคัญ เธอเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ผู้ขับเคลื่อนและเป็นปากเป็นเสียงให้คนในชุมชนมากว่า 10 ปี 


“ปีนี้ป้าอายุ 66 แล้ว ผ่านมาหลายการเลือกตั้งแล้ว ยังไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน”เธอหมายถึงลักษณะของการไม่สนใจกฎกติกาของผู้มีอำนาจ 

“แบบคนไม่มียางอาย กูจะเอาแบบนี้ ใครด่ายังไงไม่สน ไม่รู้สึกรู้สา มันน่ากลัวมากเลยนะ ขอแค่มีอำนาจในมือ ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น แล้วสังคมจะไปต่อยังไง” เสาวคนธ์ ตั้งคำถามที่ยากจะตอบได้ในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง 

สิ่งที่สร้างความประหลาดใจนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เเต่เธอพบว่าอาการไม่พึงประสงค์นี้หนักมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 8 ปีที่ทหารมีอำนาจและมีการปกป้องพวกพ้องอย่างไม่สนหลักการและกฎกติกาใดๆ 

“8 ปีที่ผ่านมามีหลายอย่างที่เราเห็นว่ามันไม่ถูก มันทำไม่ได้ แต่พวกเขาก็ยังอยู่มาได้ ไม่มีความผิดอะไรเลย เราไม่เข้าใจเลย เรามองว่าคนบ้านเราเป็นคนไม่ซื่อ หมายความว่า เราสามารถปลิ้นปล้อนพลิกคำเพื่อประโยชน์ของตัวเองได้ เราจะเห็นอาการแบบนี้หนักขึ้นมากในกลุ่มคนที่มีอำนาจ แล้วอาการมันหนักขึ้นทุกวัน คนค้ายาเสพติด เจ้าพ่อมาเฟียทั้งหลายได้รับการเคารพนับถือ มีหน้ามีตาในสังคม 

“พูดในฐานะคนไทย เกิดเมืองไทย อยู่เมืองไทย และจะอยู่เมืองไทยต่อไป เราไม่ได้สอนให้คนของเราตรงไปตรงมา เราปลูกฝังกันมาว่า ‘น้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก’ หมายความว่า อะไรที่มันไม่ดีไม่งามเราต้องเก็บมันไว้ อย่าไปเปิดเผยเปิดโปงออกไป เราไม่เหมือนต่างชาติที่ถ้าเธอทำไม่ถูก เธอต้องถูกตรวจสอบนะ แต่บ้านเรามันพลิกคำ แล้วเราจะเห็นบ่อยมากในช่วงหลังๆ คนใหญ่คนโตสามารถพลิกคำเพื่อที่จะทำให้กลุ่มที่ตัวเองเห็นดีเห็นงามเอาตัวรอดไปได้ ป้าเลยมองว่า ณ เวลานี้บ้านเราควรเปลี่ยนแปลงวิธีคิด กวาดทุกอย่างเป็นขยะแล้วเอาพรมปิดไว้มันใช้ไม่ได้แล้ว 

“คนบ้านเราจะอยู่ในเซฟโซนของตัวเอง อะไรที่แปลกแตกต่างจะไม่กล้าทำ ในส่วนของข้าราชการก็จะอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ถ้าทำแตกต่างออกไป ก็กลัว สตง.จะตรวจสอบ ทำไม่ได้ ไม่มีอิสระ มันทำให้ข้าราชการบ้านเราอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ไม่กล้าทำอะไรสักอย่าง ถ้าอย่างนั้นเราจะมีข้าราชการไว้ทำไม เพราะจริงๆ แล้ว ข้าราชการคือคนที่จะต้องออกไปแก้ปัญหา ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ปลอดภัยไว้ก่อน มันผิดฝาผิดฝั่งไปหมด” 

ดูเหมือนว่าสิ่งที่เสาวคนธ์สะท้อนออกมาคือปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ต้องใช้เรี่ยวแรงและเวลาในการขุดลงไปเพื่อแก้ไขปัญหา แต่กระนั้น... 

“ถึงจะริบหรี่ แต่เราก็ต้องหวัง ป้าอยู่ได้ด้วยความหวัง เรามองเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมา คนที่ไม่เคยลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองและคนอื่น เริ่มลุกขึ้นมาเรียกร้อง คนแบบนี้มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ป้าเชื่อเรื่องการขยายตัวของคนกลุ่มเล็กๆ เรารู้ว่าการเปลี่ยนความคิดคนต้องใช้เวลาและยาก แต่ดีกว่าไม่ได้ทำอะไร” เธอตอบ มีความหวังในน้ำเสียง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1YmiTTx6GD9vduUVA4w1iF/cb345263628768635cef83cf71189bf0/people-of-chiangmai-election-66Artboard_2
ไรเดอร์หนุ่มใหญ่สวมเสื้อสีเขียวจอดยานพาหนะไว้ใต้เงาของอาคารตามนัดหมาย ท้องฟ้าเดือนพฤษภาคมแจ่มใสต่างจากเชียงใหม่เมื่อสองเดือนก่อน แต่ในช่วงที่เมืองเชียงใหม่มีค่าฝุ่น PM2.5 ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ไรเดอร์ที่เป็นภูมิแพ้ต้องหยุดงาน แต่บางคนก็จำเป็นต้องเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายโดยมีเพียงหน้ากาก N95 แว่นตากันแดดเป็นเหมือนโล่กำบังในสนามรบที่ข้าศึกมีอาวุธครบมือ 

ไรเดอร์จัดเป็นแรงงานอิสระ พวกเขาอยู่นอกกฎเกณฑ์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า อำนาจต่อรองของไรเดอร์ต่ำมาก เนื่องจากต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มเป็นหลักของแหล่งรายได้ แพลตฟอร์มแต่ละแห่งล้วนกำหนดเงื่อนไขการให้ค่าจ้างแก่ไรเดอร์ได้เอง ที่สำคัญ ไม่มีกลไกรัฐกำหนดมาตรฐานค่ารับจ้าง สวัสดิการแรงงานหรือการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ 

“ผมแค่แสบตา เลยใส่แว่นกันแดด” ไรเดอร์หนุ่มใหญ่เล่าให้ฟังถึงสภาพการทำงานบนท้องถนนในช่วงค่าฝุ่น PM2.5 กระทบโดยตรงต่อการทำงานกลางแจ้ง 

อดีตเป็นเจ้าหน้าที่แผนกโยธาในเทศบาลตำบลแห่งหนึ่ง แต่ 3 ปีก่อน เขาประสบอุบัติเหตุรถคว่ำบนดอย 

“หลังหักครับ พอพักรักษาตัว ก็ไม่อยากให้กลับไปทำงานเดิม ผมก็ว่างงานอยู่สักพักหนึ่ง ก็เลยออกมาขี่รถ ไม่อยากอยู่ว่างๆ” ไรเดอร์หนุ่มใหญ่เล่า 

“เลือกตั้งครั้งนี้ พี่ชอบใครครับ” ผมถาม 

“ไม่เอาตู่” เขาตอบ ไม่ใช้เวลาตรึกตรอก “ผมชอบเศรษฐา (ทวีสิน) ผมชอบนักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ” 

เขามองเห็นกติกาที่ไม่เป็นธรรมที่ปักหลักเหมือนเสาเข็มของอาคารในรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่ไรเดอร์มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เหมือนเมื่อ 4 ปีก่อน 

“สว.เสียงแตกแน่นอน มันจะเหมือน 4 ปีก่อน เราไม่ได้อยู่ในยุค ร.5 นะ ที่จะมาสั่งซ้ายหันขวาหัน” คือทัศนะของไรเดอร์ 

จากประสบการณ์การทำงานในเทศบาลตำบล ทำให้เขามองเห็นโครงสร้างของระบบราชการที่บิดเบี้ยว ไม่มีประสิทธิภาพ และอำนาจนิยม นั่นทำให้ไม่มีใครกล้าที่จะเปิดหน้าพูดถึงเรื่องนี้ รวมถึงเขาด้วย 

“สมัยก่อนผมทำส่วนโยธาของตำบล เวลาจะสร้างถนนบนดอย ตั้งงบไว้เป็นถนนเสริมเหล็ก พอสร้างจริงใช้ไม้ไผ่ แต่คุณทำแบบนี้ในเมืองไม่ได้ ถ้าทำแบบนี้ในเมือง คุณจบแล้ว 

“บางครั้งผมต้องมีส่วนร่วมรู้เห็นในการกินของเขา มันอึดอัดนะครับ เรามีปากเหมือนมีตูด มันพูดไม่ได้ คนดีเป็นแกะดำ หลังจากประสบอุบัติเหตุอย่างที่ผมเล่าไป ผมก็พักรักษาตัว หน่วยงานต้นสังกัดก็ชวนกลับไปทำงาน ผมใช้โอกาสนี้ขอลาออก แต่อ้างว่าลูกเมียไม่ให้กลับไปทำ” ไรเดอร์ กล่าว 

ใกล้ถึงเป้าหมาย แต่ความอึดอัดคับข้องกลับเพิ่งเริ่มต้น “เรากำลังอยู่ในสังคมแบบไหนล่ะคุณว่า” เขาตั้งคำถาม แต่ไม่ต้องการคำตอบ 

“การใช้งบประมาณฯ ของราชการ ถ้าปีนี้ตั้งไว้ 20 ล้าน ก็ต้องใช้ให้หมดนะ เพราะปีต่อไป คุณจะได้ตั้งงบเบิกได้ที่ 22 ล้าน หรือขยับไป 24 ล้าน การไปดูงานมันจึงสะท้อนความล้มเหลว เพราะตั้งงบฯ ไปดูงานก็เพื่อใช้งบฯ ให้หมดตามเป้า ผมถามหน่อยเถอะว่า ไปดูงานที่นนทบุรี แต่เชียงใหม่ปลูกทุเรียนได้เหรอ” 

ไรเดอร์จอดรถหน้าร้านตัดผม ผมจ่ายเงินค่าโดยสาร แดดตอนเที่ยงร้อนระอุ แต่เขายังต้องไปต่อบนถนนของเมืองเชียงใหม่  

“นักเรียนตำรวจทุกคนมีอุดมการณ์ แววตามุ่งมั่น ปฏิญาณตนเข้ามาทำงาน แต่ชีวิตจริงมันทำให้เขาเป็นคนแบบอื่น กลายเป็นคนที่เขาเคยรังเกียจ สังคมไทยหนีไม่พ้นศักดินาระบบอุปถัมภ์” คือความอัดอั้นใจของไรเดอร์คนหนึ่ง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1lVSiQx9EAmDZHqnnphFgn/65629e8a83f3a1d5d5209166ce0a03e5/people-of-chiangmai-election-66Artboard_3
ช่างตัดผมหนุ่มบอกผมว่าเขามี 3 อาชีพ นอกจากตัดผม เขาเปิดร้านอาหารประเภทยำ และทำธุรกิจท่องเที่ยว นำทางนักท่องเที่ยวขึ้นดอยไปในหมู่บ้านของชาติพันธุ์ต่างๆ 

“สมัยนี้เราต้องมีงานมากกว่า 1 งานครับ ไม่อย่างนั้นก็ลำบาก” ช่างตัดผม กล่าวระหว่างใช้หวีรองเบอร์ 2 ลากยาวลงบนศีรษะเหมือนมันเป็นกระดาษและปัตตาเลี่ยนของเขาคือดินสอ 

“แล้วพี่ทำงานอะไรครับ” เขาถามกลับ “ขี่รถมอเตอร์ไซค์เหรอ” 

เห็นได้ชัดว่าเขาอ่านผมผิด หลังจากแก้ไขข้อมูล ผมจึงขอถามมุมมองที่เขามีต่อการเลือกตั้งที่จะถึงในเดือนพฤษภาคม 

“ปลง” เขาตอบสั้นๆ แต่กินความหมายยาวนานราวประวัติศาสตร์ สายตาจดจ้องที่ศีรษะของผม ก่อนเราจะหันมาสบตากันในกระจกบานใหญ่  “ปลงครับ ปลง ผมไม่มีหวังอะไรเลย” 

ช่างตัดผมยังหนุ่ม อายุ 30 ต้นๆ เป็นคนดูแลสุขภาพและมีวินัย กล้ามเนื้อบนร่างกายบอกผมแบบนั้น 

“ต่างจาก 4 ปีก่อนมั้ย” ผมถาม 

“ใช่ ต่างมาก ตอนนั้นมีความหวัง ลุ้นทุกเขตว่าพรรคที่เราเลือกจะได้มั้ย แต่ถ้าถามตอนนี้ ปลงครับ สู้ไปก็ไม่ชนะ เขามี ส.ว.ตุนไว้แล้ว 250 ประชาชน 60 ล้าน ไม่มีความหมาย เป็นเหมือนมด”

ผมชอบเมตาฟอร์ของเขา เขาเป็นหนุ่มที่คล่องแคล่วและรอบรู้ มองหาลู่ทางให้ตัวเองเสมอ 

“ผมเลือกอนาคตใหม่” เขาย้อนไปถึงการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน “แต่ก็โดนเตะตัดขา สกัดดาวรุ่ง" 

“ระหว่างปัญหาปากท้องกับโครงสร้างทางสังคม คุณอยากเห็นอะไรถูกแก้ก่อน” ผมถาม 

“เศรษฐกิจครับ” เขาตอบเร็วแทบไม่คิด “เพราะผมทำธุรกิจ" 

“แล้วทำไมเลือกอนาคตใหม่ละครับ แทนที่จะเป็นเพื่อไทย”

“ผมดูแล้วว่าคนของอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ แน่นอนว่าเขามุ่งไปที่การปฏิรูปสังคม แต่สุดท้ายแล้วหัวคิดทางธุรกิจของเขาก็น่าสนใจไม่น้อยเลย ผมว่ามันไปด้วยกันได้ระหว่างเศรษฐกิจกับปัญหาสังคม” 

แน่นอน - ผมพอจะเดาออกว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้เขาชอบนโยบายของพรรคไหน 

“พี่ล่ะเลือกอะไร” เขาถามกลับ “อย่าตอบเอาใจผมนะ”

ถ้าวัดจากความรู้สึก ผมคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้คนกล้าที่จะบอกรสนิยมของตัวเองมากขึ้น ว่าต้องการให้ประเทศไปในทิศทางไหน แต่ทิศทางที่ผมคิดเอาเองนี้จะตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่ คงต้องรอฟังผลในวันเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7Fhm3LI7QNgO96GcdzCr5w/1c3846fb29996ad2cd8265df2457e553/TAGCLOUD-people-of-chiangmai-election-66-SPACEBAR-Photo_V01
Photo: ตี๋ นาหยอด
คนไม่มีสิทธิ 

ตี๋ นาหยอด และ ศิริศักดิ์ ชัยเดช สู้เพื่อสิทธิคนไร้สัญชาติ และพวกเขาชนะ 

“ถ้าไม่ให้สิทธิพวกเราเลือกตั้ง อย่าเอาจำนวนคนไร้สัญชาติไปเคลมในสมการการเลือกตั้ง”

ประตูท่าแพหลากหลายไปด้วยผู้คนหลายสัญชาติ เย็นวันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ เทศบาลนครเชียงใหม่จัดงานอีเวนต์นครแห่งความสุข ผู้จัดงานตั้งชื่อไว้แบบนั้น ภายในงานมีการออกบูธเกี่ยวกับสุขภาพด้านต่างๆ เช่น สุขภาพจิต, สุขภาพปอดกับ PM2.5, การออกกำลังกาย ฯลฯ 

ท่าแพต้อนรับทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไร้บ้าน นอกจากเครื่องแต่งกายที่แยกคนสองกลุ่มออกจากกัน รอยยิ้มบนใบหน้าก็ฟ้องชัดว่าเขาคือกลุ่มคนไหน 

ตี๋ นาหยอด และ ศิริศักดิ์ ชัยเดช ยืนอยู่หน้าประตูท่าแพ พร้อมชูกระดาษแผ่นใหญ่ที่เผยคำถามที่ทั้งสองต้องการหาคำตอบ ‘คนไร้สัญชาติมีสิทธิเลือกตั้งไหม’ 

คำถามนี้เกิดขึ้นหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด เพื่อเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้ง 2566 ในช่วงปลายเดือนมกราคม 

สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้เป็นอดีต กกต. เป็นคนแรกๆ ที่ตั้งข้อสังเกตว่า กกต. ได้นำจำนวนราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยมาใช้คำนวณจำนวน ส.ส. ในแต่ละจังหวัด เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 

หลังจากนั้น iLAW ได้ลองคำนวณจำนวน ส.ส. แบบที่ใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทย เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการคำนวณของ กกต. ที่ใช้จำนวนราษฎรทั้งที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณ มีจำนวน ส.ส. อยู่ 6 จังหวัดที่เปลี่ยนแปลงไป - และเชียงใหม่ก็เป็น 1 ใน 6 จังหวัดนั้น ซึ่งเมื่อใช้วิธีการคำนวณแบบ กกต. แล้ว เชียงใหม่จะมีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นหรือ มีจำนวน ส.ส. มากกว่าการคำนวณโดยใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทย 

ถ้าคำนวณจำนวน ส.ส. แบบใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทย จังหวัดเชียงใหม่จะมี ส.ส. ทั้งสิ้น 10 คน แต่เมื่อใช้วิธีการคำนวณแบบ กกต. จะได้จำนวน ส.ส. 11 คน 

หัวถูกนับ แต่พวกเขากลับไม่มีสิทธิเลือกตั้ง  

นี่คือสาเหตุที่ทำให้ ตี๋ นาหยอด เอ็นจีโอด้านสิทธิแรงงานผู้เป็นคนไร้สัญชาติในเมืองเชียงใหม่ เดินทางไปทำโพลในที่ต่างๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ 

“เขาขโมยเสียงของเรา เอาจำนวนคนไร้สัญชาติไปเคลมในสมการการเลือกตั้ง แต่กลับไม่ให้สิทธิพวกเรา มันเหมือนกับว่าเราถูกขโมยสิทธิไปครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่ให้เรามีสิทธิเลือกตั้ง คุณต้องยกเลิกวิธีการคำนวณแบบนี้” ตี๋กล่าว ด้วยความคิดสามัญที่สุด ตรงไปตรงมาที่สุด 

เขาเดินทางไปทำโพลหลายแห่งในเมืองเชียงใหม่จนพบความแตกต่างของผู้คนที่พบเจอ  

“ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนรุ่นใหม่ตั้งแต่ระดับมัธยมไปจนถึงมหาวิทยาลัยจะเข้าใจปัญหาคนไร้สัญชาติมากกว่าครับ และเขาก็เห็นภาพว่าตัวตนคนไร้สัญชาติคือใคร เขาจะใช้เวลาไม่นานในการแสดงความคิดเห็น แต่ที่นี่คนส่วนมากจะเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาจะใช้เวลานานในการจะออกความเห็น นี่คือข้อแตกต่างกันของคนที่ประตูท่าแพกับที่ มช. ครับ อาจเพราะเราทำงานรณรงค์กับเด็กรุ่นใหม่มากกว่าด้วยครับ” ตี๋ กล่าว 

บางคนครุ่นคิดก่อนจะแปะสติกเกอร์ลงไปที่ช่อง ‘ไม่เห็นด้วย’ "ผมขออนุญาตนะครับ" ชายหนุ่มข้าราชการบอกก่อนจะติดสติกเกอร์ลงไปในช่องไม่เห็นด้วย 

“ตามสบายเลยค่ะ” ศิริศักดิ์ บอก เป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะเห็นต่างกัน 

แต่แล้วขบวนของนายกเทศบาลที่เดินมาเยี่ยมชมบูธสุขภาพต่างๆ ภายในงาน ได้เฉียดกรายมายังการทำโพลเล็กๆ ของตี๋กับศิริศักดิ์ที่ยืนกันเพียงสองคน คล้ายนาทีทองที่ผู้แสวงหาโอกาสต้องรีบคว้า ในที่นี้ทั้งสองกำลังแสวงหาพื้นที่ในการประกาศถึงความไม่เป็นธรรม ศิริศักดิ์จึงปรี่เข้ามาหานายกเทศมนตรีทันที มีกล้องของสื่อมวลชนติดตามจำนวนไม่น้อย 

“ท่านนายกฯช่วยแสดงความคิดเห็นหน่อยค่ะว่าคนไร้สัญชาติควรมีสิทธิเลือกตั้งไหม” พอนายกฯรู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้กระอักกระอ่วน เขาขอให้ตัวแทนตอบคำถามนี้แทนและผละจากไป 

“ผมคิดว่าควรจะให้เขามีสัญชาติก่อนที่จะมีสิทธิเลือกตั้ง” ตัวแทนของนายกฯแปะลงช่อง ‘ไม่เห็นด้วย’ 

แต่สำหรับศิริศักดิ์ คำถามของเขาที่ถามนายกเทศมนตรี ไม่ได้เป็นการสร้างสถานการณ์ที่ชวนให้กระอักกระอ่วน แต่เป็นโอกาสของนายกฯที่จะได้แสดงวิสัยทัศน์และจุดยืน ซึ่งประชาชนอย่างเขาต้องการรับฟัง 

“คุณเป็นนายกฯของเมืองนะ แล้วคนไร้สัญชาติก็จ่ายภาษีให้เมืองนี้นะ ทำไมไม่แสดงวิสัยทัศน์หน่อย คุณเป็นผู้นำ ไม่เห็นจะยากที่จะเลือกข้าง คุณจะอยู่ข้างประชาชนหรือข้างคะแนนเสียงที่มีผลกับคุณ” ศิริศักดิ์ กล่าวหลังเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นและจบลง 

เรื่องนี้ก็สิ้นสุดลงที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า การกำหนดจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 86 (1) ที่กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น คำว่า "ราษฎร" ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย 

ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ กกต. ต้องออกประกาศฉบับใหม่เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา โดยค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งลดลงเหลือ 162,766 คน/ส.ส. 1 คน จากเดิม 165,226 คน/ส.ส. 1 คน ส่งผลให้ 4 จังหวัดมี ส.ส. ลดลง ได้แก่ ตาก, เชียงราย, เชียงใหม่ และสมุทรสาคร ส่วนอีก 4 จังหวัดมี ส.ส. เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุดรธานี, ลพบุรี, นครศรีธรรมราช และปัตตานี 

เป็นอันว่า ตี๋ปกป้องสิทธิของตนและเพื่อนผู้ไร้สัญชาติในประเทศไทยได้สำเร็จ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3x4KqUU65rjNV82gHY4cVg/7f39b12bd94e290e6793ee6f102f108d/people-of-chiangmai-election-66Artboard_4
ฝนห่าใหญ่ต้นเดือนพฤษภาคมปัดเป่าฝุ่น PM2.5 ระเหิดหายไป อากาศแจ่มใสและฤดูกาลเพาะปลูกกำลังจะเริ่มต้น แต่ในช่วงฤดูฝุ่นควัน ไปป์-วัชรกร เจริญผล เป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและนักวิ่งเทรลที่ต้อง Off Season เพื่อหนีฝุ่น แต่ตอนนี้ “กำลังเวทขาเพื่อเตรียมกลับมาวิ่ง เตรียมตัวจะซ้อมครับ” 

ไปป์กำลังเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธ์ุข้าวโพดและเคลียร์พื้นที่ก่อนปลูกข้าวโพดล็อตใหม่ “หลังฝนลงก็จะปลูกเลยครับ แต่ตอนนี้ต้องถางหญ้า พ่นยาฆ่าหญ้าก่อน ช่วงนี้ก็กำลังอยู่ในช่วงเตรียมพื้นที่สำหรับรอบการผลิตใหม่ครับ” 

อำเภอแม่แจ่มกำลังคึกคัก ไม่ต่างจากเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ 

“บรรยากาศที่บ้านคึกคักมาก เพราะว่าที่อำเภอแม่แจ่มช่วงเลือกตั้งจะคึกคักเป็นพิเศษ ความคึกคักที่เกิดขึ้นมีส่วนมาจากกระแสของพรรคก้าวไกลด้วยครับ เพราะมีแนวโน้มว่าพรรคนี้จะมาแย่งคะแนนของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นเจ้าถิ่นเดิมไปบ้าง คนก็เลยเชียร์กันสนุก” ไปป์รายงานบรรยากาศที่แม่แจ่มให้ผมฟัง 

พรรคหนึ่งได้รับความสนใจจากชาวบ้านเพราะความชัดเจนในนโยบาย ขณะที่อีกพรรคเป็นเพราะการทำงานในพื้นที่ของผู้แทนราษฎรผู้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่มาหลายสมัย 

“นโยบายของ ก้าวไกล ชัดเจนครับ แต่ ส.ส.ของ เพื่อไทย เขาลงพื้นที่หาชาวบ้านเป็นประจำสม่ำเสมอ ผมคิดว่าความชัดเจนนี่แหละที่เปลี่ยนแปลงบรรยากาศและเป็นตัวเลือกให้ประชาชน ซึ่ง ก้าวไกล มีสิ่งนี้ ไม่ก้ำกึ่ง เขาบอกว่าจะแก้ไขก็แก้ไข บอกว่าจะยกเลิกก็คือยกเลิก เขาจะไม่แสดงอาการลังเลหรือบอกปัดๆ เขากล้าที่จะพูดเพราะนโยบายพรรคของเขาชัดเจน เขาไม่ต้องรอถามใคร จึงพูดได้เต็มปาก แต่พรรคอื่นดูมีความลังเลที่จะแสดงความเป็นตัวของตัวเอง” 

“คุณต้องการความชัดเจน” ผมถาม 

“ใช่ครับ เพราะเราถูกหลอกมาเยอะแล้ว” ไปป์ตอบ “ผมก็เลือกความชัดเจน อย่างบ้านผม ผู้สมัครคนหนึ่งเป็นเอ็นจีโอมาก่อน เขาทำงานช่วยชาวบ้านมาตลอด เขาผลักดันเรื่องที่ดินทำกินที่ทับซ้อนพื้นที่ป่า ซึ่งมันก็ทำให้ชาวบ้านเทคะแนนให้เขา” 

สถานการณ์ในที่ดินทำกินของชาวบ้านอำเภอแม่แจ่ม เพิ่งจะได้รับการปลอดล็อคไปเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช.ปลดล๊อคให้ชาวบ้านมีสิทธิในที่ทำกินพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1-2 

“นี่คือกระดุมเม็ดแรกเลยครับ” ไปป์ กล่าวอย่างมีความหวัง 

อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวอย่างของปัญหาพื้นที่ทำกินที่ทับซ้อนอยู่ในเขตพื้นที่ป่า 
  • พื้นที่กว่า 80% ของอำเภอแม่แจ่มเป็นเขตพื้นที่ป่า ที่เป็นทั้งเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม 1,351,110 ไร่ หรือ 79.6% 
  • เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง รวม 317,773 ไร่ หรือ 19% 
  • มีพื้นที่เพียง 23,815 ไร่ หรือ 1.4% เท่านั้น ที่มีเอกสารสิทธิทางราชการ 
  • ขณะที่มีการใช้ประโยชน์พื้นที่จริง 437,712 ไร่ หรือ 25.6% 
ดังนั้น พื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์อยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับสิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินอย่างถูกต้อง และทับซ้อนอยู่กับพื้นที่ป่า 

แม้ว่าการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม หรือ ‘แม่แจ่มโมเดล’ จะเกิดขึ้นจากกลไกสนับสนุนอย่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 และความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่ต้องการแก้ไขปัญหาให้กับราษฎรอย่างจริงจัง พลังหนึ่งที่สำคัญคือภาคประชาสังคมที่เกาะติดปัญหานี้และอยู่ข้างชาวบ้านมายาวนาน 

“พรรคที่ชัดเจนเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินก็จะได้คะแนนชาวบ้านแถบนี้ไป แต่ถ้านโยบายที่เจาะจง ผมเป็นเกษตรกรปลูกข้าวโพด อย่างแรกเลยผมอยากให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้สิน อยากให้ปรับโครงสร้างหนี้ในระบบอุตสาหกรรมเกษตร อยากให้แก้ไขส่วนนี้ก่อน 

“โครงสร้างหนี้ที่พะรุงพะรังตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ พ่อแม่ตายไปแล้ว ลูกก็มาสืบทอดมรดกหนี้ อยากให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ พอแก้ตรงนี้ได้แล้ว ราคาผลผลิตอะไรก็ไม่ต้องกลัวแล้ว เพราะภาระหนี้ของเกษตรกรเบาลงแล้ว มันก็จะเเบ่งเบาเกษตรกร” ไปป์ กล่าว
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/666vy60KESldx4ZfCu1tPh/7a29e9bd05e321192b70045283916f36/people-of-chiangmai-election-66Artboard_5
ทนวินท วิจิตรพร เป็นสถาปนิกแห่งใจบ้านสตูดิโอ สตูดิโอออกแบบที่ทำงานสถาปัตยกรรมชุมชน ทำงานออกแบบและงานพัฒนาเมือง ทำให้เขามองเห็นข้อจำกัดของสถาปนิกในการทำงานออกแบบเพื่อสังคม งานออกแบบไม่ได้ถูกจำกัดในศาสตร์ของงานสถาปัตยกรรม แต่เกี่ยวโยงกับเงื่อนไขมากมายที่ล้วนแล้วเกี่ยวข้องกับการเมือง 

“ผมอยากทำงานออกแบบที่ดี แต่มันทำไม่ได้ เพราะโครงสร้างของกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ จริงๆ เราอยากทำแค่เรื่องที่อยู่อาศัยที่ดีให้คนริมคลอง แต่ทำไม่ได้ครับ เพราะมันติดเรื่องอื่นๆ ถ้าไม่จัดการเรื่องอื่นๆ เราก็ไม่สามารถทำที่อยู่อาศัยที่ดีให้คนริมคลองได้” 

เขาหมายถึงงานพัฒนาที่อยู่อาศัยให้คนริมคลองแม่ข่าที่ ใจบ้านสตูดิโอ เข้าไปมีส่วนในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาคลองแม่ข่า ร่วมกับเครือข่ายชุมชนริมคลองแม่ข่า และหน่วยงานท้องถิ่น 

“ถ้าไม่จัดการเรื่องที่ดิน ถ้าไม่จัดการเรื่องพื้นที่สาธารณะ ถ้าไม่จัดการเรื่องกฎหมาย ถ้าไม่จัดการเรื่องโบราณสถาน ถ้าไม่จัดการเรื่องระบบน้ำเสีย เราก็ออกแบบที่อยู่อาศัยให้คนริมคลองไม่ได้ครับ มันเป็นการพัฒนาเมือง พัฒนาคุณภาพชีวิตคน พัฒนาระบบที่อยู่อาศัยของคน จริงๆ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของท้องถิ่นมากๆ แต่จากประสบการณ์ที่ทำงานมันเกี่ยวกับการเมืองภาพใหญ่อยู่มากครับ 

“ถ้าอำนาจแยกส่วนและกระจายไปตามที่ต่างๆ ท้องถิ่นจะมีข้ออ้างในการไม่ทำ หรืออีกมุมหนึ่งก็เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของท้องถิ่น เราไม่ได้ขาดทรัพยากร แต่ระบบทำให้ทรัพยากรเหล่านั้นไม่เกิดประสิทธิภาพที่ดีเพียงพอ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าถ้าท้องถิ่นทำเองแล้วมันจะดีนะครับ ท้องถิ่นทำเองก็อาจจะไม่พอ มันต้องการการมีส่วนร่วมกับคนที่เกี่ยวข้อง 

“ผมมีความหวังกับการกระจายอำนาจ กระจายอำนาจแล้วต้องบาลานซ์อำนาจด้วย ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นแค่การย้ายอำนาจมาไว้อีกที่ แล้วมีคนกลุ่มหนึ่งมาบอกว่าฉันรู้ดีที่สุด ในอดีตเราไม่ได้พัฒนาเมืองด้วยความรู้ ถ้าเราย้ายอำนาจมาไว้ที่ท้องถิ่น เราต้องสร้างกลไกด้วยความรู้ แล้วมีการตรวจสอบได้ มันจึงจะพัฒนาเมืองได้ ในอดีตอำนาจกับความรู้มันไม่ได้อยู่ด้วยกัน 

“เชียงใหม่เป็นเมืองที่อยู่ด้วยต้นทุนในอดีต คนนอกจะมองว่าเชียงใหม่ดีจังเลย อากาศดี มีศิลปะ ภาพเหล่านี้มันถูกสร้างมานานมากแล้ว แล้วเราก็ขุดมันมาใช้จนจะหมดแล้ว ความพยายามใหม่ๆ ก็มีการพยายามทำสมาร์ทซิตี้ แต่มันไม่ได้เป็นภาพใหญ่ระดับเมืองเพื่อชดเชยสิ่งที่ถูกใช้ไป 

“เมืองเชียงใหม่แม้จะมีความเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่โอกาสของผู้คนที่อาศัยในเมืองลดลงเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ทำอะไรมันจะพัง เราจะต้องเติมต้นทุนเข้าไปในกระบวนการใหม่ๆ มันน่าจะมีการพัฒนาทักษะคนในเมือง กระจายโอกาสที่เท่าเทียมให้ผู้คนในเมือง รักษาผู้คนที่อาศัยในเมือง ไม่อย่างนั้นเชียงใหม่ก็จะกลายเป็นเมืองที่คนอื่นมาลงทุน คนในเมืองไม่ได้ประโยชน์ เราไม่มีนโยบายอุ้มชูคนตัวเล็กๆ เราส่งเสริมอุ้มชูผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ แต่คนที่เป็นภาคแรงงานขับเคลื่อนเมืองอยู่ในเงา พวกเขาไม่ได้ถูกมองเห็น เชียงใหม่ไม่มีนโยบายที่อยู่อาศัยสำหรับคนในเมือง หรือระบบการศึกษาก็ไม่มีหลักสูตรท้องถิ่น 

“ผมอยากเห็นระบบที่แข็งแรงไม่ยึดโยงกับตัวบุคคล เรามีกฎหมายเก่าๆ มากมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือกฎหมายเชิงอนุรักษ์บางครั้งมันเป็นอุปสรรค มันควรจะปรับให้เข้ากับบริบทของพื้นที่นั้นๆ คำว่าอนุรักษ์อาจไม่ต้องทำเหมือนกันหมดทั้งประเทศก็ได้ แต่อนุรักษ์เพื่อสร้างโอกาสใหม่ อนุรักษ์เพื่อเพิ่มพื้นที่สาธารณะหรืออะไรก็ได้ แต่ตอนนี้นิยามคำว่าอนุรักษ์ของเราคือการห้ามแตะต้อง พอห้ามแตะมันก็เสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ 

“สุดท้ายมันก็โยงกลับมาที่การกระจายอำนาจและการสมดุลอำนาจในท้องถิ่น ท้องถิ่นควรจะเป็นคนกำหนดว่าจะพัฒนาเมืองไปในทางไหน” ทนวินท กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์