นายกฯ คนนอกอีกแล้ว? เปิดความเป็นได้ที่เมืองไทยจะอยู่ในวังวนเดิมๆ

7 เม.ย. 2566 - 05:40

  • วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการจับขั้วทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง

  • โอกาสที่แคนดิเดตต่างๆ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีและฟอร์มรัฐบาลใหม่

TAGCLOUD-the-possibility-of-thailand-would-have-an-unelected-pm-SPACEBAR-Thumbnail
ในเวลาที่บทวิเคราะห์นี้ถูกเขียนขึ้น การเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น ยังไม่มีวี่แววว่าพรรคไหนจะคะแนนเสียงเท่าไร และยิ่งไม่มีทางรู้ได้ว่าพรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาลบ้าง 

แต่เราควรพูดถึงทุกความเป็นได้กันก่อน ว่าด้วยการฟอร์มรัฐบาล เพราะถ้าว่ากันด้วยสถิติแล้ว รัฐบาลไทยส่วนใหญ่เป็น ‘รัฐบาลผสม’ ซึ่งเกิดจากการฟอร์มทีมของพรรคต่างๆ หลังการเลือกตั้งที่ไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมากแบบเด็ดขาด  

เรื่องสมมติที่อาจเกิดขึ้นจริง 

ในการเลือกตั้งปี 66 ควรมีความเป็นไปได้ดังต่อไปนี้ 
  1. พรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมาก สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียว  
  2. มีพรรคการเมือง 2 พรรคได้เสียงก้ำกึ่งกัน และแย่งกันฟอร์มรัฐบาลพรรคร่วมให้ได้ก่อน 
  3. มีพรรคการเมืองมากกว่า 2 พรรคที่ได้คะแนนก้ำกึ่งกัน การฟอร์มพันธมิตรพรรคร่วมจะดุเดือดมาก 
ในการเลือกตั้งปี 62 สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือแบบที่ 2 เมื่อ 2 พรรคที่ได้คะแนนก้ำกึ่งกัน แย่งกันฟอร์มรัฐบาลให้ได้ก่อน  

คงไม่พ้นนายกฯ คนนอก 

ทำไมถึงมีโอกาสสูงที่จะได้นายกฯ คนนอก? นั่นก็เพราะแคนดิเดตของพรรคใหญ่ๆ ล้วนแต่อยู่นอกปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย (แพทองธาร ชินวัตร) พรรคพลังประชารัฐ (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) พรรครวมไทยสร้างชาติ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)  

มีกรณียกเว้น คือ พรรคประชาธิปัตย์ (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) พรรคก้าวไกล (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) และพรรคภูมิใจไทย (อนุทิน ชาญวีรกูล) ที่หัวหน้าพรรคอยู่ในปาร์ลิสต์ ทั้ง 3 พรรคนี้ ไม่น่าจะเป็นพรรคที่ได้คะแนนสูงขนาดเป็นแกนนำฟอร์มรัฐบาลผสมได้ แต่มีโอกาสไม่น้อยที่จะเป็นตัวแปรที่จะทำให้พรรคใหญ่สามารถตั้งรัฐบาลได้ 

พูดง่ายๆ ก็คือ พรรคใหญ่อาจจะเป็น King แต่จะปราศจากอำนาจเด็ดขาด เว้นแต่จะได้ Kingmaker มาช่วยหนุน นั่นคือ ก้าวไกล ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย

แต่ King ก็ยังเป็น King

ในบรรดา 3 พรรคหลักที่เป็นตัวแปร ดูเหมือนว่า ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล จะเนื้อหอมเป็นพิเศษในหมู่พรรคการเมืองต่างๆ เพราะต่างทราบดีว่า ภูมิใจไทยต้องเป็น Kingmaker แน่นอน แต่พรรคใหญ่ก็ยังคงเป็นพรรคใหญ่ โอกาสที่พรรคระดับ King จะเป็นแกนนำรัฐบาลใหม่ย่อมมีมากกว่าอิทธิพลของพรรคระดับ Kingmaker  

ในการเลือกตั้งปี 66 มีบางพรรคตั้งความหวังที่จะได้คะแนนเสียงแบบ 'แลนด์สไลด์' ซึ่งคิดเป็นอื่นไม่ได้นอกจากหวังจะตั้งรัฐบาลพรรคเดียว แต่นี่เป็นแค่ความคาดหวัง ส่วนความเป็นจริงยังต้องรอดูกันต่อไป 

ความเป็นจริงก็คือ แต่ละพรรคต่างแสดงท่าทีญาติดีกัน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยขัดแย้งกันรุนแรง ซึ่งสะท้อนถึงการเตรียมพร้อมแต่เนิ่นๆ ที่จะร่วมมือกันหากไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งทำ 'แลนด์สไลด์' ได้สำเร็จ 

ดังนั้น เราจึงเห็นคนที่เคยแสดงท่าทีดุดันต่อ ‘ระบอบ 3ป.’ อย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส แสดงท่าทีว่าพร้อมจะ ‘เอาป้อม’ แต่จะ ‘ไม่เอาตู่’ 

จับตา Kingmaker ตัวจริง 

นอกจากพรรคการเมืองระดับประชาธิปัตย์ ก้าวไกล และภูมิใจไทยแล้ว สิ่งที่จะกำหนดตัวนายกฯ และผู้ตั้งรัฐบาลยังมีสมาชิกวุฒิสภาด้วย (ดูหมายเหตุ 1) ว่ากันตามตรงแล้ว ทั้ง ส.ว. และรัฐธรรมนูญปี 60 เป็นตัวชี้ขาดที่ทรงพลังกว่าพรรคการเมืองไหนๆ ในกรณีที่คะแนนของแต่ละพรรคก้ำกึ่งกันอย่างมาก  

พลังของ Kingmaker ของ ส.ว. จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อเกิดสถานการณ์ที่พรรคใดพรรคหนึ่งไม่ได้เสียงข้างมากในสภา 376 เสียง ซึ่งเป็นจำนวนเสียงที่จะรับประกันพลังของพรรคการเมืองในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง 

สูตรเลือกนายกฯ ด้วยมาตรา 272 ตามรัฐธรรมนูญปี 60 มีดังนี้ (ดูหมายเหตุ 2) 

• สมาชิกวุฒิสภา (จากการแต่งตั้ง) 250 คน  



• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (จากการเลือกตั้ง) 500 คน  

= จำนวน 750 คน 

• การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องใช้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียงขึ้นไป  

ดังนั้น ถ้าไม่มีพรรคไหนได้เสียงถึง 376  อาจจะเกิดสถานการณ์สมมติแบบนี้  
  1. พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าที่จะกวาดถึง 310 เสียง แต่จะหาพรรคร่วมมาเพิ่มอีก 66 เสียงขึ้นไป ก็จะสามารถออกเสียงเลือกนายกฯ ของตัวเองได้ ซึ่งอาจเป็นคนนอกพรรคอย่าง แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคที่ไม่ได้อยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ 
  2. พรรคเพื่อไทยได้เสียงไม่ถึง 376  เสียง แต่อาจต่ำกว่านั้นมาก สมมติว่าได้ประมาณ 200 กว่าเสียง ก็อาจต้องจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้ได้ 'ไฟเขียว' จาก ส.ว. ในกรณีนี้คนที่เป็นนายกฯ ก็ยังเป็นคนนอก แต่มีโอกาสที่จะเป็น พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ 
  3. พรรคเพื่อไทยไม่ได้เสียงข้างมาก แต่เลือกที่จะจับมือกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งหวังจะได้ 80 - 90 เสียง ในกรณีนี้ นายกฯ อาจยังเป็นคนเพื่อไทย แต่ตำแหน่งสำคัญๆ ในคณะรัฐบาลอาจต้องยกให้ภูมิใจไทยทั้งหมดตามที่ขอ แต่ถึงขนาดนี้แล้วเสียงก็ยังไม่ถึง 376 จึงต้องไปลุ้นกันต่อว่า ส.ว. จะยอมรับแคนดินเดตของเพื่อไทยหรือไม่? 
  4. พรรคเพื่อไทยได้คะแนนน้อยมากและสูสีกับพรรคที่เป็นพันธมิตรกับ ส.ว. (พลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ) การแย่งชิงพรรคต่างๆ มาตั้งรัฐบาลผสมจะรุนแรงมาก และเพราะ ส.ว. มีอำนาจชี้ขาดมาก พรรครองๆ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเข้าหาพลังประชารัฐ ในสถานการณ์แบบนี้ อาจจะได้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกฯ  

‘เกี้ยเซียะ’ คือคีย์เวิร์ด 

ใครที่สนใจเรื่องการสลายและสนร้างพันธมิตรการเมืองย่อมจะคุ้นหูกับคำว่า ‘เกี้ยเซียะ’ คำๆ นี้เป็นภาษาจีนแต้จิ๋วที่อยู่คู่การเมืองไมยมานาน มันแปลว่า การรอมชอม การประณีประนอม แต่มันไม่ใช่การรอมชอมธรรมดาๆ เพราะเป็นการยอมเป็นพวกเดียวกันของฝ่ายที่เคยเป็นศัตรูกัน เพื่อหวังผลร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง 

อย่างเช่น พรรคการเมืองที่มีจุดยืนเป็นเสรีนิยมแต่กลับร่วมมือกับรัฐบาลทหาร เพื่อที่จะมีที่ทางในรัฐบาล หรือพรรคการเมืองที่บอกว่าเป็นพรรคของประชาชนคนชั้นรากหญ้าและจะต่อสู้กับชนชั้นนำ แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว เพื่อรักษาอำนาจกลับยอมประนีประนอมกับชนชั้นนำ  

การเกี้ยเซียะในการเมืองไทยมีหลายรูปแบบจนเราคาดไม่ถึง นั่นเพราะการเมืองไทยไม่ได้ถูกชี้นำโดยอุดมการณ์ แต่ชี้นำด้วยผลประโยชน์ ตรายใดที่ผลประโยชน์ลงตัว การเกี้ยเซียะก็จะเกิดขึ้น โดยผู้ที่เคยเป็นศัตรูกันมาก่อนแทบจะลืมไปเลยว่าเคยอาฆาตแค้นกันมาขนาดไหน 

และคำๆ นี้เองที่จะทำให้ความเป็นไปได้ทั้ง 4 ข้อที่สมมติขึ้นมาข้างต้น มีความเป็นไปได้ขึ้นมา ดังนั้น ผู้ที่มองการเมืองแบบผลประโยชน์ชี้นำหรือมองด้วยความเป็นจริง (เรียกว่าพวก Realpolitik) จะพร้อมรับสถานการณ์การเกี้ยเซียะ ในขณะที่คิดว่าการเมืองต้องเป็นแบบอุดมคติสวยหรู (พวก Idealist) จะผิดหวังอย่างแรง เมื่อเกิดสถานการณ์อย่างที่ทสมมติขึ้นมา 

ทำไมไม่อยู่ในปาร์ตี้ลิสต์? 

มาถึงตอนนี้คงต้องสงสัยกันบ้างแล้วว่าทำไมพรรคใหญ่ๆ ระดับ King ถึงไม่ส่ง King (หรือ Queen) ของพวกเขาในปาร์ตี้ลิสต์ และทำให้มีโอกาสที่เราจะได้นายกฯ คนนอก (ปาร์ตี้ลิสต์หรือนอกรัฐสภา)? เรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับการมืองการเมืองแบบผลประโยชน์ชี้นำ (Realpolitik) แบบหนึ่งเหมือนกัน 

คำตอบอยู่ที่อำนาจที่แท้จริงของการเมืองไทยไมได้มีแค่ในสภา และ Kingmaker ไม่ได้มีแค่พรรครองๆ (เช่น ก้าวไกล หรือภูมิใจไทย) เอาเข้าจริง Kingmaker ที่จะชี้ขาดในสถานการณ์ที่ไร้ภาวะแลนด์สไลด์ คือ ส.ว., คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ  

ตัวแปรแรก (ส.ว.) จะไปชี้ขาดในสภา ส่วนตัวแปรหลัง (กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ) จะไปชี้ขาดนอกสภา ในกรณีที่มีการร้องเรียนให้ยุบพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือพิจารณาตัดสิทธิทางการเมืองบุคคลหนึ่งๆ ซึ่งเป็นไม้ตายที่ใช้กันบ่อยๆ  

ภยันตรายที่เกิดจากตัวแปรเหล่านี้มีสูงมาก เพราะมีตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ในระยะหลัง ดังนั้น พรรคการเมืองใหญ่จะเสี่ยงเอาตัวเข้าแลกทั้งกระดานไม่ได้ จึงต้องแยก ‘ขุน’ (King/Queen) ออกจากกระดาน  

เพื่อรับประกันว่าหากกระดานถูกล้ม พวกเขายังมี ‘คนนอก’ เอาไว้ต่อรองต่อไป 

หมายเหตุ 
(1) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดพิเศษ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง โดยดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ วันที่ 11 พฤษภาคม 2562 ดังนั้น วาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว. ชุดนี้จะหมดลงในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 โดยที่การเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 แม้ว่า ส.ว. จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้วเมื่อถึงวันเลือกตั้งและวันที่ผลเลือกตั้งออกมา แต่ ส.ว. ชุดนี้จะสามารถทำหน้าที่ได้ต่อไป จนกว่าจะมีการเลือก ส.ว. ชุดใหม่มาแทนที่ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 109 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า “เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้สมาชิกวุฒิสภาอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่” 

(2) ตามปฏิบัติตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 วรรคสอง บัญญัติว่า “หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้”
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7zqGBr0qQ99xAZgj6KWEjZ/39d9c05b98a503c009029b34c72d36dc/_____________________-__________-________________1_

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์