ประชาธิปัตย์ ต้นตำรับนักแจกเงินที่ไม่เคยสมหวังทางการเมือง

4 เม.ย. 2566 - 04:03

  • บทวิเคราะห์นโยบายแจกเงินหรือสวัสดิการของพรรคการเมือง ตอนที่ 2

  • ว่าด้วยการแจกเงินของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่เคยได้ผลในทางการเมือง

TAGCLOUD-why-handing-out-money-by-democrat-party-failed-to-win-SPACEBAR-Hero

แจกครั้งแรก 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2542 รัฐบาลที่นำโดยประชาธิปัตย์ โดยมี ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี กู้เงิน 53,000 ล้านบาท จากธนาคารพัฒนาเอเชียและกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลแห่งญี่ปุ่น ที่เรียกว่า ‘โครงการเงินกู้มิยาซาวา’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทยหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน ปี 2540
  • โครงการมิยาซาวาไม่ใช่การแจกเงินเสียทีเดียว แต่เป็นการกู้เงินให้รัฐใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการริเริ่มโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ หรือจ้างประชาชนทำงาน (เช่น โครงการบัณฑิตอาสา) แนวทางนี้ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ‘เคนเซี่ยน’ (Keynesian) เพื่อให้รัฐทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เอกชนทำไม่ไหว  
  • ผลก็คือเศรษฐกิจไทยจากที่เคยติดลบ 10.1% ในปี 2541 กลับมาขยายตัวเป็นบวก 4.2% ในปี 2542 และปี 2543 ก็ยังขยายตัวต่อไป ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อ ‘รัฐบาลชวน 2’ แต่กรากฏว่าประชาธิปัตย์ต้องพ่ายให้กับนักการเมืองหน้าใหม่ที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ผู้พาพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลครั้งแรกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นในปี 2544

แจกครั้งที่สอง 

ต่อมาในปี 2552 ตอนที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลครั้งสุดท้าย โดยมี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ในเวลานั้นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ริเริ่มนโยบายแจกเงินแบบตรงไปตรงมา ที่เรียกว่า ‘ไทยเข้มแข็ง’ ที่กู้เงินมาถึง 400,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ไทยได้รับผลกระทบต่อวิกฤตการณ์การเงิน 2550–2551 ด้วยการแจก ‘เช็คช่วยชาติ 2,000 บาท’  
  • กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัฐบาลประชาธิปัตย์กล่าว่าเช็คช่วยชาติช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ แลเป็นเรื่องจำเป็นในแง่นโยบายแบบ ‘เคนเซี่ยน’ แต่พิชัย นริพทะพันธุ์ เป็น รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรคเพื่อไทยแย้งว่า เศรษฐกิจไทยติดลบ 6 เดือนติดกันหลังจากแจกเช็คช่วยชาติ  
  • การแจกเงินของประชาธิปัตย์ควรจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น และหากประชาธิปัตย์หวังผลการเมือง (อย่างที่บางคนวิเคราะห์ว่านี่คือการแจกเงินเพื่อหวังประชานิยม) มันก็ไม่เป็นอย่างที่หวังอีก เพราะในการเลือกตั้่งปี 2554 ประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ให้กับพรรคเพื่อไทย

จะแจกครั้งที่สาม 

แต่ไรมา พรรคประชาธิปัตย์ถูกมองว่าเป็นพรรคที่เคร่งครัดในเรื่องการคลังแบบอุนรักษ์นิยม นั่นคือจะไม่ยอมควักแม้แต่แดงเดียวเพื่อแจกเงินประชาชน แต่ค่อนข้างจะเอนเอียงไปทางอุ้มภาคธุรกิจมากกว่า ทุกอย่างเปลี่ยนไปในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และแม้ว่าการเปลี่ยนจุดยืนจะไม่ช่วยให้พวกเขาชนะเลือกตั้งปี 2554  ในการเลือกตั้งปี 2562 พวกเขายังยืนหยัดกับแผนการแจกเงินต่อไป 
  • ในการเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์ยังชูนโยบายแจก (ประชานิยม/สวัสดิการ) ราวกับว่าไม่ต้องการตกขบวนกระแสการแจกเงินเหมือนพรรคอื่นๆ เช่น สัญญาว่าจะอุดหนุนเงินให้ประชาชนเดือนละ 800 บาทไปใช้จ่ายอย่างอิสระ (ทั้งๆ ที่ประเทศไม่มีวิกฤตเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา) แจกเบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อเดือน (เหมือนพลังประชารัฐ)  
  • อาจเป็นเพราะนโยบายแจกของประชาธิปัตย์ไม่ได้ต่างจากพรรคอื่นๆ และยังถูกครอบงำจากการแจกแบบไร้เหตุผลอันควรหากจะเทียบว่าจากการแจกในรัฐบาลประชาธิปัตย์รุ่นก่อนๆ เน้นแจกเมื่อประเทศเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ยังไม่นับความนิยมที่ลดลงมาก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ประชาธิปัตย์ไม่อาจเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ทั้งยังมีจำนวน ส.ส. ลดลงอย่างฮวบฮาบ

หวังแจกครั้งที่สี่ 

การเลือกตั้งปี 2566 ดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยิ่งหนักมือกับการแจกจนแทบไม่เหลือเค้าพรรคที่เคยขึ้นชื่อในความภักดีต่อนโยบายเศรษฐกิจแบบอนุรักษ์นิยมยิ่งชีพ นอกจากนี้ นโยบายแจกยังลามไปถึงภาคเกษตร ที่แต่ก่อนประชาธิปัตย์จะเน้นแค่นโยบายอุดหนุนภาคเกษตร (Agricultural subsidy) แต่ตอนนี้หันมาแจกกันแบบตรงๆ  
  • นโยบายชาวนารับ 30,000 บาทต่อ 1 ครัวเรือน (ต่างจากปี 2562 ที่ประกันราคาข้าวเท่านั้น)  
  • ให้เงินอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรประมง กลุ่มละ 100,000 บาทต่อปีทุกกลุ่ม ทั้ง 2,800 กลุ่ม (การเลือกตั้งครั้งที่แล้วไม่ได้เน้นกลุ่มประมง อาจสะท้อนว่านี่เป็นฐานเสียงสำคัญในภาคใต้ที่ยังคงอยู่)  
  • ธนาคารหมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาททั้งประเทศ (นโยบายที่เน้นท้องถิ่นสะท้อนว่าประชาธิปัตย์หมดความมั่นใจในฐานเสียงเดิม คือคนชั้นกลางในเมืองที่เทใจให้พรรคอื่น)

สรุป

ถึงแม้ว่าผลของการใช้ ‘นโยบายแจก’ ครั้งที่สี่ของประชาธิปัตย์จะยังไม่ออกมา แต่ดูเหมือนว่าที่ผ่านๆ มานโยบายแบบนี้จะไม่ช่วยประชาธิปัตย์มากนัก และเพราะปัจจัยอื่นๆ (เช่น ความนิยมที่ลดลงมากต่อพรรคนี้) ทำให้ที่นั่งในสภาลดลงไปเรื่อยๆ บางทีสิ่งที่อาจกอบกู้ประชาธิปัตย์ได้อาจไม่ใช่ความยึดติดนโยบายแบบเดิมๆ แต่อาจจะต้องเป็นการโละของเดิมๆ ในพรรคออกไป ก็เป็นได้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5PHZ0IVJYG5yRaIm6nNuUw/e2a3e9817bf7ec398541bbf3876d8081/TAGCLOUD-why-handing-out-money-by-democrat-party-failed-to-win-SPACEBAR-Photo01

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์