อาถรรพ์ ‘เรือดำน้ำ’ ดำไม่โผล่ ทางแพร่ง ‘ลูกประดู่-พญามังกร’ จับสัญญาณ ‘ไปต่อ’ หรือ ‘พอแค่นี้’ ?

16 พ.ย. 2565 - 08:03

  • อาถรรพ์ ‘เรือดำน้ำ’ ดำไม่โผล่ ก่อนจะได้เดินเครื่อง สุดท้ายมาติดหล่ม ‘เยอรมัน’ ไม่อนุมัติขายเครื่องยนต์ให้จีน

  • ทร. คุยบริษัทจีน ยังไร้ทางออก เสนอเครื่องรุ่นอื่นให้ แต่ไทยไม่ยอมรับ จับ ‘สัญญาณ’ ไปต่อ หรือ พอแค่นี้ ?

Thai-Navy-CSOC-Submarine-MOU-Main
อาถรรพ์ ‘เรือดำน้ำไทย’ ยังคงถูกต้องคำสาป ไม่ได้เกิดง่ายๆ หลังติดหล่มปมเครื่องยนต์ดีเซลที่ทาง ‘เยอรมัน’ ไม่อนุมัติขายเครื่อง MTU396 ให้ทางบบริษัท CSOC รัฐวิสาหกิจของจีน ต่อเรือดำน้ำให้ไทย ซึ่งความคืบหน้าของการต่อเรือขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 50 ทว่าต้อง ‘หยุดชะงัก’ ชั่วคราว เพราะถึงขั้นตอนการใส่เครื่องยนต์ แต่ยังไม่มีเครื่องยนต์มาติดตั้ง ทำให้ทางกองทัพเรือต้องเจรจากับบริษัท CSOC  ในการหาทางออกเรื่องนี้ แต่ก็ยัง ‘ไร้ข้อยุติ’ และยืดระยะเวลาไปอีก 60 วัน

โดยเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เป็นประธานฝ่ายไทย และ Mr.Liu Song รองประธานบริษัท CSOC เป็นประธานฝ่ายจีน และมีรองผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ประจำสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเทพฯ ร่วมในการประชุมเพื่อหาทางออกปัญหา


โดยบริษัท CSOC แจ้งว่าได้ใช้ความพยายามในการเจรจากับบริษัท MTU เยอรมนี ทั้งในระดับ ‘บริษัท-บริษัท รัฐบาล-รัฐบาล’ และช่องทางทางการทูต ในการจัดหาเครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า MTU 396 แต่ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงได้

ทางบริษัท CSOC ได้เสนอเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารุ่น CHD 620 ให้กองทัพเรือพิจารณาทดแทนรุ่น MTU 396 แต่ฝั่งกองทัพเรือยังคงยืนยันเครื่องยนต์ MTU 396 ตามข้อตกลง เนื่องจากเครื่องยนต์ CHD 620 ที่บริษัท CSOC เสนอ ไม่เคยมีการใช้งานในเรือดำน้ำของประเทศใดมาก่อน

นอกจากนี้ ทร. ได้ย้ำถึงเงื่อนไขเครื่องยนต์ตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในข้อตกลง ให้ทางบริษัท CSOC รับทราบ 4 ข้อ ดังนี้
1. ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานการใช้งานจริงในเรือดำน้ำ
2. มีความปลอดภัยในการใช้งานจริง
3. มีการรับประกัน การบริการหลังการขาย และการซ่อมบำรุง
4. ตอบสนองด้านความต้องการใช้งานทางยุทธการของกองทัพเรือ

พร้อมขอให้ทางบริษัท CSOC จัดทำข้อเสนอแนวทาง ระยะเวลา และแผนงานการดำเนินการแก้ไขปัญหา ตลอดจนกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบเรือดำน้ำให้กองทัพเรือพิจารณา ภายใน 60 วัน หรือภายใน 9 สิงหาคม 2565

โดยในตัว ‘สัญญา’ มีการระบุชัดเจนว่าเป็นเครื่อง MTU 396 ทำให้เป็น ‘เงื่อนไขใหญ่’ ที่ไม่สามารถเปลี่ยนรุ่นเครื่องยนต์ได้ ดังนั้นความเป็นไปได้ที่จะต้อง ‘ยกเลิกสัญญา’ จึงมีโอกาสเกิดขึ้น ตามที่ ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เคยกล่าวตั้งแต่เกิดเรื่องขึ้นใหม่ๆ ช่วงต้นเดือนเมษายน 2565

“ถ้าเครื่องยนต์นี้ไม่ได้ หาเครื่องยนต์ใหม่ ยอมรับได้หรือไม่ ก็ยังไม่รู้ ก็ไปหามาไม่ได้ ก็ยกเลิกสัญญา แล้วจัดหาใหม่ทำนองนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 4 เมษายน 2565

ทำให้มีการมองอนาคต หากมีการ ‘ยกเลิกสัญญา’ เกิดขึ้น จะมีการแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะกองทัพเรือจ่ายงบประมาณไปแล้ว 5 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี 2560-2564 ส่วนงบปี 2565 ยังติดขัดในเรื่องเครื่องยนต์ ยังไม่มีการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยงบประมาณที่กองทัพเรือจ่ายไปแล้ว อยู่ที่ราว 7,700 ล้านบาท จากทั้งหมด 13,500 ล้านบาท

ดังนั้นยังเหลืออีก 2 ปีงบประมาณ ปี 2565-2566 ที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายงบประมาณ สำหรับงวดแรกปี 2560 จำนวน 700 ล้านบาท ส่วนปีที่ 2561-2566 ชำระเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท รวม 7 ปีงบประมาณ แบ่งเป็น 17 งวด

ทั้งนี้ ในระดับกำลังพลของกองทัพเรือต่างคุ้นชินกับเครื่อง MTU ที่มีใช้กับเรือผิวน้ำของกองทัพเรือ จึงมีความรู้ในการซ่อมบำรุงได้เอง หากไปเปลี่ยนไปเป็นเครื่องรุ่นอื่น ก็ต้องเริ่มศึกษาใหม่ อีกทั้งเครื่องยนต์รุ่น CHD 620 ที่บริษัท CSOC เสนอให้พิจารณา ก็ยังไม่เคยมีการใช้งานในเรือดำน้ำของประเทศใดมาก่อน ทำให้กองทัพเรือยืนกรานต้องเป็นเครื่อง MTU จากเยอรมันเท่านั้น

แนวทางการแก้ปัญหา หากไม่ใช่การ ‘ยกเลิกสัญญา’ ก็อาจเป็นการ ‘แก้สัญญา’ แทน แต่อีกสิ่งที่เริ่มมีการพูดถึง คือเรื่อง ‘การชดเชย’ ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งเพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย ซึ่งที่ผ่านมาทางจีนก็ ‘อะลุ่มอะหล่วย’ ให้ไทยมาตลอด หลังกองทัพเรือขอชะลอโครงการเรือดำน้ำ ลำที่ 2-3 มาแล้ว 4 ปีงบประมาณ (ปีงบประมาณ 2563-66)

ทั้งนี้ ‘บิ๊กเฒ่า’ พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวยืนยันว่า “ยังเป็นไปตามเดิม” หลังสื่อถามถึง ‘สัญญา’ ที่ลงนามระหว่าง ทร. กับบริษัท CSOC รัฐวิสาหกิจจีน จะแก้ไขหรือไม่

ส่วนได้เตรียมทางออกของเรื่องนี้ไว้แล้วหรือไม่ หากภายใน 60 วัน ทางบริษัท CSOC ไม่สามารถทำตามสัญญาได้ จะถึงขั้นยกเลิกสัญญาหรือไม่ พล.ร.อ.สมประสงค์ กล่าวว่า “ยังมีขั้นตอนและยังมีเวลา” จากนั้นสื่อถามว่าหากเกิดกรณีที่มีการยกเลิกสัญญา ทางประเทศจีนจะคืนเงินให้เราหรือไม่ พล.ร.อ.สมประสงค์ กล่าวว่า “ยังไม่ได้ไปถึงตรงนั้น เพราะยังอยู่ในขั้นตอนและคงต้องพูดคุยกันก่อน”

จึงต้องจับตาวันที่ 9 สิงหาคมนี้ ที่กองทัพเรือขีดเส้นจีนเอาไว้ 60 วัน ทางบริษัท CSOC จะมี ‘ข้อเสนอ’ ใหม่หรือไม่ อย่างไร แต่ไม่ว่า ‘คำตอบ-บทสรุป’ จะออกมาในรูปแบบใด ต้องเผชิญกับ ‘สึนามิทางการเมือง’ ลูกใหญ่ แน่นอน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์