‘ส.ส.อ่อนพรรษา’ คุมเกมรัฐสภา

26 พฤษภาคม 2566 - 03:16

War-Speaker-Of-Parliament-Less-Experience-Possible-SPACEBAR-Hero
  • ศึกชิงเก้าอี้ประมุขคุมเกมสภาฯ ยังดุเดือด ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ความอ่อนประสบการณ์

  • ‘อุทัย พิมพ์ใจชน’ เชื่อ ส.ส.รุ่นใหม่นั่งประมุขสภาฯ ได้

  • ‘นักวิชาการรัฐศาสตร์’ มอง ประธานสภาฯ ยุคการเมืองไม่ปกติ ควรเป็น ส.ส.มาแล้ว 2-3 สมัย

ศึกชิงประมุขคุมเกมสภา ‘ส.ส.อ่อนพรรษา’ มีผลจริงหรือ? 

‘ประธานสภาผู้แทนราษฎร’ ตำแหน่งอันหอมหวานในระบบการเมือง ที่ทำให้ 2 พรรคใหญ่อย่าง ‘ก้าวไกล’ และ ‘เพื่อไทย’ ต้องเปิดศึกช่วงชิงกันดุเดือด ด้วยความสำคัญของเก้าอี้ทองตัวนี้ นอกจากควบคุมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังมีหน้าที่ ‘ประธานรัฐสภา’ โดยตำแหน่ง ที่ต้องคุมเกมทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา  

ศึกครั้งนี้ ‘เพื่อไทย’ ย้ำชัด ประสบการณ์มีมากกว่า ทำงานมานานกว่า 20 ปี ขณะ ‘ก้าวไกล’ ไม่ยอมถอย ด้วยความเป็นพรรคอันดับหนึ่ง แถมมีวาระสำคัญที่ขับเคลื่อน  

ท่ามกลางการช่วงชิงครั้งนี้ ‘ก้าวไกล’ ยังถูกมองว่า ‘อ่อนพรรษา’ เพราะส่วนใหญ่เป็น ส.ส.หน้าใหม่ แต่เมื่อย้อนดูอดีตประธานสภาฯ ของประเทศไทย พบว่า มีหลายคนที่นั่งตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติตั้งแต่อายุยังน้อย  

อย่าง ‘อุทัย พิมพ์ใจชน’ ประธานสภาฯคนที่ 13 ของไทย ดำรงตำแหน่งเมื่อ 19 เมษายน 2519 ขณะอายุ 36 ปี ถือว่า น้อยที่สุด รองลงมา คือ ‘พึ่ง ศรีจันทร์’ ประธานสภาฯ คนที่ 7 ของไทย ดำรงตำแหน่งขณะอายุ 38 ปี ตามมาด้วย ‘เกษม บุญศรี’ ประธานสภาฯ คนที่ 6 ของไทย ดำรงตำแหน่งขณะอายุ 39 ปี ซึ่งล้วนอายุน้อยกว่าว่าที่นายกฯ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ วัยอายุ 42 ปีทั้งสิ้น ขณะที่ ‘ยงยุทธ ติยะไพรัช’ ประธานสภาฯ คนที่ 23 ก็ดำรงตำแหน่งขณะอายุยังไม่มาก เพียงแค่ 45 ปี ใกล้เคียงกับ ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานสภาฯคนที่ 15 ที่ดำรงตำแหน่งครั้งแรก เมื่ออายุ 47 ปีเท่านั้น 

ท่ามกลางข้อถกเถียงทั้งเรื่องอายุและประสบการณ์ของว่าที่ ส.ส.ก้าวไกล ทำให้อดีตประธานสภาฯ ที่เด็กที่สุด อย่าง ‘อุทัย พิมพ์ใจชน’ ถึงกับออกมาบอกว่า “ส.ส.สมัยใหม่ มีความเก่ง ขยันหาข้อมูล ไม่จำเป็นต้องเอาคนที่อาบน้ำร้อนมาก่อน เพียงแค่ค้นหาข้อมูลได้เยอะกว่า ก็มีประสบการณ์ได้เช่นกัน ไม่ควรกังวลเรื่องอายุของผู้ที่จะมาทำหน้าที่ เพราะคนอายุน้อย ทำตัวเป็นผู้ใหญ่ก็มี คุณภาพ ส.ส.สมัยนี้ ไม่ได้ขี่ควายเข้าสภาแล้ว เป็นผู้มีการศึกษา แค่ข้อบังคับการประชุมสภาฯ ไม่เกิน 100 หน้า เชื่อว่า สมาชิกก็อ่านและทำความเข้าใจได้”

ต่างจากนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อย่าง ‘ยุทธพร อิสรชัย’ ที่มองว่า ‘ประสบการณ์’ มีผลอย่างยิ่งกับตำแหน่งดังกล่าว ท่ามกลางการเมืองที่ไม่ใช่ภาวะปกติ เพราะวันนี้หากเป็นการเมืองในภาวะปกติ พรรคก้าวไกล รวบรวมเสียงได้เกินกว่ากึ่งหนึ่ง ของสภาผู้แทนราษฎร ก็สามารถเป็นรัฐบาลได้แล้ว แต่เมื่อการเมืองไม่ใช่ภาวะปกติ ต้องอาศัยเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาร่วมโหวตด้วย วันนี้จึงต้องแสวงหาเสียงสนับสนุนถึง 376 เสียง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ ส.ส.เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ก็ดี หรือการต้องไปอาศัยเสียงของ ส.ว.เพื่อมาร่วมโหวตก็ดี สิ่งเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยประสบการณ์ทางการเมืองของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความไว้วางใจ และการแสดงสปิริตทางการเมืองต่างๆ ในพรรคร่วมรัฐบาลด้วย ไม่ใช่แค่เฉพาะพรรคเพื่อไทยเท่านั้น เพราะฉะนั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลท่ามกลางการเมืองภาวะไม่ปกติ 

นักวิชาการ เห็นว่า ‘คนรุ่นใหม่ๆ’ ก็สามารถเป็นประธานสภาฯได้ แต่คงต้องดู ‘ประสบการณ์ทางการเมือง’ และ ‘บริบททางการเมือง’ ด้วย ในสมัยที่ อุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาฯ เวลานั้นท่านอาจจะอายุเพียงแค่ 36 ปี แต่การเมืองในเวลาดังกล่าว ไม่มีกลไกทางรัฐธรรมนูญที่ซับซ้อนเหมือนเวลานี้ โดยเฉพาะการให้ ส.ว.มาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี การเมืองในเวลานั้น ค่อนข้างเป็นการเมืองภาวะปกติมากกว่าปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อรวบรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้เกินกึ่งหนึ่ง ก็ไม่มีปัญหา แต่ ณ วันนี้ ยังมีกลไก ส.ว.ที่จะคอยเข้ามาตรวจสอบและถ่วงดุลกับ ส.ส.ด้วย ดังนั้น ตรงนี้ก็คงไม่ง่าย เพราะกลไกที่ซับซ้อน ตั้งแต่การเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว.สามารถขอเปิดอภิปรายทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลได้ หรือแม้กระทั่งบทบาทร่วมแก้รัฐธรรมนูญ ที่ปรากฎใน MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค  

สิ่งเหล่านี้ จึงต้องอาศัย ‘ประสบการณ์มากพอสมควร’ ในการเมืองที่เป็นภาวะไม่ปกติ 

“คำว่า ประสบการณ์มากพอควร คือ ควรเป็น ส.ส.มาแล้วไม่น้อยกว่า 2-3 สมัย และต้องมีประสบการณ์ในการทำงานสภาฯ เป็นที่รู้จักของสังคม เป็นที่ยอมรับของคนทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพราะอย่าลืมว่า เรื่องของกระบวนการทางการเมือง สภาพความเป็นจริง มีเรื่องลูกเล่นมากมาย ถ้าประธานสภาฯไม่ได้รับการยอมรับของผู้คนในสภาฯ ก็จะเดินต่อได้ยาก และความ ‘เก๋าเกม’ ก็สำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมการประชุมให้ราบรื่นได้ ถ้าพูดถึงก้าวไกล ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าจะมีบุคลากรที่มีคุณภาพ มีความรู้มากมาย แต่ที่พรรคก้าวไกลต้องหาเพิ่มเติมคือ ประสบการณ์และไหวพริบทางการเมืองที่ต้องอาศัยการเรียนรู้มากพอสมควร เพราะประสบการณ์การเมืองมีผลอย่างมากสำหรับการเมืองในยุคนี้ แม้แต่ ‘ชวน หลีกภัย’ ที่เป็น ส.ส.มาหลายสมัย ยังต้องอาศัยวิทยายุทธ์มากมาย แล้วเจอประธานสภาฯ รุ่นหลาน ก็อาจจะไม่ง่ายนักที่จะรับมือ” นักวิชาการ กล่าวย้ำ 

เมื่อพูดถึงอายุและประสบการณ์ จะพบ ช่องว่างความแตกต่างในรัฐสภามากพอสมควร ด้วยลักษณะประชากรศาสตร์ที่หลากหลายมาตั้งแต่สภายุคที่แล้ว ทำให้ ‘ชวน หลีกภัย’ เกือบเอาไม่อยู่มาหลายครั้ง  

งานนี้ ครูใหญ่ที่จะมาคุมให้นักเรียนทั้ง 750 คนเชื่อฟังจะเป็นใคร จะทำให้เกมการเมืองราบรื่นหรือไม่  

หากสุดท้าย ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องมาจาก ‘ส.ส.อ่อนพรรษา’ จริง แล้วจะคุมเกมผู้แทนรุ่นใหญ่ลายครามได้อย่างไร  

คงต้องลุ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์