What If... สมมติว่าประชาชนเลือกตั้งตำรวจเองได้

26 ธ.ค. 2565 - 13:47

  • ปลายปี 2022 พรรคการเมืองในไทยพยายามจะผลักดันกฎหมายปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ข้อเสนอนี้ถูกปัดตกไปเมื่อซาวเสียงในรัฐสภา

  • ในญี่ปุ่นมีทั้งสำนักงานตำรวจท้องถิ่นแห่งชาติ (National Local Police) และสำนักงานตำรวจระดับจังหวัด (Prefectural Police)

  • แต่ละจังหวัดจะมีสำนักงานตำรวจของตัวเอง และตำรวจระดับจังหวัดจะรับนโยบายจากคณะกรรมาธิการความปลอดภัยระดับจังหวัด (PPSCs) ที่เลือกเข้ามาตามระบอบประชาธิปไตย

What-if-we-can-elect-local-police-Edit02-SPACEBAR-Thumbnail
ปลายปี 2022 มีความพยายามของพรรคการเมืองในไทยที่จะผลักดันกฎหมายปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ข้อเสนอนี้ถูกปัดตกไปเมื่อซาวเสียงในรัฐสภา แต่ถ้ามันได้รับการสนับสนุนจนการปฏิรูปเดินหน้าได้ในที่สุดมันจะเกิดอะไรขึ้นกับไทย? เรื่องหนึ่งที่หลายคนต้องการเห็นคือการเห็นท้องถิ่นมีอำนาจการจ้างตำรวจของตัวเองได้โดยไม่ต้องอาศัยตำรวจที่ตั้งจากรัฐบาลส่วนกลาง เพราะทุกวันนี้ ตำรวจถูกส่งจากส่วนกลางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปประจำยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งนี่คือรูปแบบหนึ่งของการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ทำให้ท้องถิ่นไม่มีอำนาจดูแลตัวเอง  

จะดีแค่ไหน ถ้าคนในท้องที่สามารถรับสมัคร เลือกสรร แต่งตั้ง และตรวจสอบกันเองได้ มันอาจจะทำให้ท้องถิ่นไม่ขาดแคลนตำรวจ และตำรวจรู้ความต้องการในท้องถิ่น ไม่ต้องวนเวียนโยกย้ายตามคำสั่ง จนขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน และยังต้องเสียเวลาวิ่งเต้นเพื่อตำแหน่งและท้องที่ที่ตัวเองต้องการ ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาคอร์รัปชันในวงการตำรวจ  

ลองดูตัวอย่างที่ญี่ปุ่นซึ่งน่าจะมีเงื่อนไขทางการเมืองใกล้เคียงกับไทยมากที่สุด ในญี่ปุ่นมีทั้งสำนักงานตำรวจท้องถิ่นแห่งชาติ (National Local Police) และสำนักงานตำรวจระดับจังหวัด (Prefectural police)  

แต่ละจังหวัดจะมีสำนักงานตำรวจของตัวเอง และตำรวจระดับจังหวัดจะรับนโยบายจากคณะกรรมาธิการความปลอดภัยระดับจังหวัด (PPSCs) ที่เลือกเข้ามาตามระบอบประชาธิปไตย ด้วยโครงสร้างนี้ทำให้ท้องถิ่นมีหน่วยตำรวจที่ตัวเองเลือกมาเองและกำหนดแนวทางได้เองและเป็นประชาธิปไตย 

นอกจากระดับจังหวัด ท้องถิ่นที่มีประชากร 5,000 คนขึ้นไปยังสามารถจัดหน่วยตำรวจท้องถิ่นของตัวเองได้ ตำรวจท้องถิ่นเหล่านี้รับคำสั่งจากผู้นำในท้องถิ่นที่เลือกตั้งเข้ามา แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติ ตำรวจทุกนายและทุกหน่วยอาจจะต้องรับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีแต่ผู้เดียว 

คำว่าตำรวจท้องถิ่นในภาษาญี่ปุ่น คือคำว่า “จิชิไท เคซัตสึ” คำๆ แรก คือ “จิชิไท” มีความสำคัญมาก เพราะมีความหมายว่า “หน่วยงานปกครองตนเอง” เมื่อรวมความหมายเข้าด้วยกันกับคำหลังก็จะกลายเป็นคำว่า “ตำรวจของหน่วยงานปกครองตนเอง” 

ถ้าไม่มีตำรวจของตัวเอง ท้องถิ่นจะปกครองตัวเองไม่ได้ และการปกครองท้องถิ่นจะทำไม่ได้ถ้าไม่มี “กำลังพล” ของตนเอง 

จิตวิญญาณของการกระจายอำนาจของญี่ปุ่นนั่นแข็งแกร่งมาก จนแม้แต่ชื่อของสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีชื่อทางการว่า “สำนักงานตำรวจท้องถิ่นแห่งชาติ” นั่นคือหน่วยงานตำรวจระดับชาติ แต่เจตนารมณ์ก็คือตอบสนองความจำเป็นของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น   
 

สมมติว่าไทยใช้โมเดลแบบญี่ปุ่น 

มันอาจจะยากสักหน่อย แต่ไม่เกินจะจินตนาการได้ ก่อนอื่น เราต้องแยกหน่วยงานตำรวจออกเป็น 2 ส่วนก่อน คือ “ตำรวจแห่งชาติ” กับ “ตำรวจองค์กรปกครองตนเอง”  

เริ่มจากให้ตำรวจที่มีอยู่แล้วยังคงสังกัดตำรวจแห่งชาติต่อไป แต่ตำรวจแห่งชาติจะค่อยๆ ลดกำลังคนลงตามลำดับ 

จากนั้นให้การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ก่อตั้งสำนักงานตำรวจองค์กรปกครองตนเอง หรือ “ตำรวจท้องถิ่น” ของตนเอง จำนวนตำรวจจะอิงกับจำนวนประชากรและงบประมาณภาษีท้องถิ่นที่เก็บได้ (และได้รับภาษีจากส่วนกลางมาสนับสนุนด้วย)  

การคัดเลือกตำรวจ การกำหนดแนวทางการทำงาน และกระบวนการตรวจสอบการทำงานจะทำโดยคณะกรรมาธิการความปลอดภัยท้องถิ่น (แบบเดียวกับญี่ปุ่น) คณะกรรมาธิการนี้จะเข้ามาผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้น องค์กรตำรวจท้องถิ่นจะมีความโปร่งใสมาก และอาจเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของคนไทยไปตลอดกาล 
 

อนาคตอาจไม่เป็นอย่างที่ฝัน 

ปัญหาที่ตามมาของการกระจายอำนาจหน่วยงานตำรวจของญี่ปุ่น คือ ท้องถิ่นมีงบประมาณไม่พอ จนในที่สุดหน่วยงานตำรวจท้องถิ่นค่อยๆ ถูกยุบลงไปเรื่อยๆ แล้วขอรับตำรวจจากสำนักงานตำรวจท้องถิ่นแห่งชาติ จนกระทั่ง ปัจจุบัน ท้องถิ่นที่มีตำรวจของตัวเองได้ คือ เมืองใหญ่ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และเก็บภาษีได้มาก  

อิสรภาพของการปกครองท้องถิ่นจึงมีต้นทุนที่สูงมาก โดยเฉพาะประเทศที่ปกครองด้วยรูปแบบ “รัฐเดี่ยว” เช่น ญี่ปุ่นกับไทย ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากส่วนกลาง ในขณะที่การปกครองแบบสหพันธรัฐจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าสำหรับรัฐ แต่จะมีต้นทุนที่สูงกว่าสำหรับประชาชน  

นั่นก็เพราะสหพันธรัฐจะมีการเก็บภาษีหลายชั้น เช่น ในสหรัฐอาจจะมีการเก็บภาษีรายได้บุคคลถึง 3 ชั้น คือ ระดับรัฐบาลกลาง ระดับรัฐบาลมลรัฐ และระดับการปกครองท้องถิ่น (การปกครองในระดับเคาน์ตี้ หรือ ซิตี้) และในบรรดาภาษีรายได้ชั้นต่างๆ ยังมีรูปแบบการจัดเก็บที่ซับซ้อนลงไปอีก ขึ้นอยู่กับว่ารัฐ/ท้องถิ่นนั้นต้องการใช้เงินมากแค่ไหน 

โดยสรุปก็คือ การปกครองตัวเองมีต้นทุนของมัน ไม่ใช่แค่กระจายอำนาจแล้วทุกอย่างจะราบรื่นไปหมด 
 

แต่การกระจายอำนาจเป็นเรื่องใกล้ตัว 

เมื่อพูดถึงคำว่า “กระจายอำนาจทางการเมือง” อาจฟังดูแล้วเครียด ไม่เห็นจะเกี่ยวกับชีวิตผู้คนตรงไหน มันฟังดูเหมือนเรื่องของการชิงอำนาจกับเรื่องวุ่นๆ ทางการเมืองมากกว่า  

แต่ถ้าบอกว่า การกระจายอำนาจจะทำให้คนหมู่บ้านเรา ตำบลเรา เขตเรา อำเภอเขา แขวงเรา และจังหวัดเรา สามารถเลือกสวัสดิการชีวิตด้วยตัวเองได้  

สามารถเลือกได้ว่าใครจะมาเป็นตำรวจคอยคุ้มครองเรา ไม่ต้องรอตำรวจจากส่วนกลางที่เราอาจจะไม่ไว้ใจ  

สามารถเลือกหลักสูตรการศึกษาที่ดีที่สุดหรือครูที่ดีที่สุดให้กับลูกหลานในท้องถิ่นของเรา, สามารถเลือกได้ว่าค่าไฟและค่าน้ำควรจะแพงหรือถูก และสามารถนำเงินภาษีที่เก็บกันเองในท้องถิ่นมาใช้ได้อย่างเต็มไม้เต็มมือ โดยไม่ต้องแบ่งให้ที่อื่นเอาไปใช้ 

ถ้าเป็นแบบนี้ คงจะไม่รู้สึกแล้วว่าการกระจายอำนาจเป็นเรื่องไกลตัว 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์