‘รุ่นพี่’ มอง ‘หยก’ นักสู้ ‘รุ่นน้อง’

18 มิ.ย. 2566 - 03:30

  • ‘อานนท์’ มองสังคมไม่ชินเด็กฮึดสู้ ชินกับเด็กที่ตกเป็นเหยื่อร้องไห้

  • ‘มายด์ ภัสราวลี’ สนับสนุนการเคารพสิทธิในเนื้อตัว-ร่างกาย

  • ‘ไผ่ ดาวดิน’ มองคนรุ่นใหม่ก้าวพ้นการกดทับ จินตนาการโลกใหม่ได้ และยืนหยัดแสดงออก

Yok-Mind-Pai-Arnon-Culture-School-Authoritarianism-SPACEBAR-Thumbnail
‘อานนท์ นำภา’ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณี ‘หยก’ เยาวชนนักเคลื่อนไหว ว่า หยก คือเหยื่อความอยุติธรรมที่ฮึดสู้ เราเลยไม่ค่อยชิน เราชินกับเด็กที่ตกเป็นเหยื่อที่ต้องร้องไห้ ฟูมฟาย ไปขอความช่วยเหลือกับมูลนิธิเด็ก มี NGO ขาใหญ่ออกมาแถลงข่าว 

หยก กำลังใช้ทุกอย่างที่มี ต่อสู้กับความอยุติธรรมที่เขาเจอ เด็กอายุ 14 ลุกขึ้นมาถามถึงปัญหาของสังคม โดนคดี 112 ถูกออกหมายจับ ถูกขังกว่า 2 เดือน หยกเจออะไรมามากมายในทางที่เขาเลือก 

ผมไม่เห็นด้วยในหลายเรื่องของหยก แต่ผมก็เป็นกำลังใจ และหนุนเสริมในส่วนที่ผมทำได้ 

ถามว่าข้อบกพร่องในการสู้ของเธอมีมั้ย ต้องตอบว่ามี แต่ถ้าเราเห็นถึงสิ่งที่เขาสู้ เห็นความฝันของหยก และเห็นด้วยในความฝันของเขา เราควรช่วยให้ความฝันของเขาสำเร็จ หรือบั่นทอนทำลายฝันเขาไปเสีย 

ผมเคารพในหลายความห่วงใย ทั้งที่ให้กำลังใจและท้วงติง รวมทั้งที่แสดงจุดยืนสนับสนุนหยก ผมเชื่อว่าหยกรับฟัง และมั่นคงในความฝันของเธอ ฝันของเราไม่ต่างกัน 

ขณะที่ ‘มายด์’ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนกลุ่มคณะราษฎร ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ตนเองสนับสนุนการเคารพสิทธิในเนื้อตัว และร่างกาย อีกส่วนคือเรื่องการไม่แต่งกายไปเรียน ก็มีมาตลอด ซึ่งมีหลายโรงเรียนที่ปลดล็อกเรื่องนี้ไปแล้ว จะแต่งชุดนักเรียนไปเรียน ก็ไม่เกี่ยวว่าจะได้รับความรู้หรือไม่ เพราะฉะนั้นการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องช่วยกันทำให้สังคมเข้าใจ ว่า นักเรียนมีสิทธิที่จะกำหนด ว่าตัวเองจะแต่งกายอะไรไปเรียนก็ได้ รวมทั้งชุดนักเรียนก็เป็นที่ถกเถียงกันมาเยอะว่า จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองหรือไม่ โดยสังคมต้องทำความเข้าใจไปด้วยกัน ส่วนเรื่องท่าทีต่างๆ ก็เป็นเรื่องของสังคมจะวิพากษ์วิจารณ์ แต่ขอให้เคารพสิทธิของหยกด้วย 

นอกจากนี้ ‘ไผ่ ดาวดิน’ จตุภัทร บุญภัทรรักษา ให้สัมภาษณ์ว่า ตนมองว่าเรื่องนี้เราผ่านอะไรมากมากเช่นกัน เราจินตนาการถึงชุดนักเรียน คุณครู ประเพณีที่กดทับมา แต่เราไม่สามารถจินตนาการถึงโลกใหม่ สังคมใหม่ที่เราอยากเห็นได้ แต่คนรุ่นใหม่เขาก้าวพ้น จินตนาการโลกใหม่ได้ และยืนหยัดแสดงออก สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการท้าทายและตั้งคำถามกับสังคมไทยในการเปลี่ยนแปลง ที่ไม่ใช่แค่สถาบันการเมือง แต่รวมถึงจารีตวัฒนธรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ถกเถียงต่อไป เพื่อสร้างความเข้าใจในสิ่งที่เคยกดทับมา หาแนวทางปฏิรูปการศึกษาของไทย ให้สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน ให้เด็กทุกคนภูมิใจในการเข้าระบบการศึกษา ได้เป็นตัวเองในแบบที่อยากเป็น ไม่ต้องเหมือนคนอื่น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์