มองฉากทัศน์ของ ‘สุทิน’ และบทบาท ‘พญาคชสีห์’ นานาชาติ

4 ก.ย. 2566 - 06:21

  • อ่านปรากฏการณ์พลเรือน ‘สุทิน’ รั้งตำแหน่ง ‘แม่ทัพกลาโหม’ กับบทบาท ‘พญาคชสีห์’ ของประเทศนานาชาติ

Abdullah_Minister_of_Defense_a_civilian_internationally_SPACEBAR_Thumbnail_766a4c54b4.jpeg
การเตรียมเข้ารับตำแหน่ง ‘พญาคชสีห์’ ของ ‘สุทิน คลังแสง’ แปดเปื้อนไปด้วยความนึกคิดที่หลากหลาย บ้างก็ว่าเป็น ‘ความกังวล’ เพราะไม่รู้ว่า ‘อดีตครู’ ผู้เป็น สส.หลายสมัย จะสามารถเข้าไปควบคุมดูแลบุคคลากร ‘ชายชาติทหาร’ ได้มากน้อยแค่ไหน บ้างก็ว่าเป็น ‘ความหวังใหม่’ เพราะในอดีต ‘กระทรวงกลาโหม’ แทบจะไม่เคยมีรัฐมนตรีที่เป็น ‘พลเรือน’ เข้ารั้งกระทรวง ถามว่ามีไหม ก็มีให้เห็นบางพอนับหัวได้บ้าง แต่ทั้งสิ้นล้วนควบตำแหน่ง ‘นายกรัฐมนตรี’ มิอาจเข้ามาปรับเปลี่ยน - พัฒนาองคาพยพได้อย่างทั่วถึง  

แต่นั่นแหล่ะ ไม่มีใครจะสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้แบบฟันธง แต่เชื่อเถิดตามวิสัยทั่วไปของพลเรือน และอดีตครูสอนผู้พิการอย่าง ‘บิ๊กทิน’ อย่างน้อยอาจสามารถปรับเปลี่ยนกองทัพให้เข้ารูปเข้ารอยกับ ‘ประชาชน’ ได้ง่ายกว่า บุคคลลายพรางกระทำเองเสียอีก  

ชวนทุกท่าน ลองอ่านความคิดจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านมุมของ ‘ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการที่เข้าใจปัญหาด้านความมั่นคง ผู้นำเสนอแนวคิดด้านการปฏิรูปกองทัพ เพื่อสนับสนุนการสร้าง ‘สันติภาพ’ โดยเฉพาะ ‘ชายแดนใต้’ และเรื่องราวของ ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม’ ระดับนานาชาติ 

ข้าพเจ้าเคยสนทนากับจรัญ หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นมาสักพัก ในหัวข้อ ถอดสมการ ‘ไฟใต้’ กับบทบาทรัฐไทยปลายด้ามขวาน - SPACEBAR | Binding Culture บางประเด็นจึงขอต่อยอดให้เข้ากับสถานการณ์ ไม่ให้ปัญหาถูกมองข้ามอย่างขาดตอนด้วย 

สิ่งแรกที่แหล่งข่าว (อาจารย์จรัญ) กล่าวให้ความเห็นคือ แนวโน้มปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนตัวเขาเชื่อว่า เป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของกองทัพ หากดูในระดับสากลประเทศไทยกำลังเข้าสู่ วัฒนธรรมการเมืองแบบชาติตะวันตก อาทิ สหรัฐอเมริกา ที่ รัฐมนตรีฯ มาจากพลเรือน ซึ่งสามารถบริหารกิจการภายในได้อย่างลงตัว  ส่งผลให้วงการทหารประเทศยักษ์ใหญ่ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะสงครามและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร้อุปสรรค  แต่สำหรับเมืองไทยเอง อาจเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการ ‘ลุ้น’ ว่าจะถูกครอบงำ - แทรกแทรงจากทหารในองค์กรหรือไม่ เพราะตามวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สืบเนื่องมายาวนาน ที่จะให้โอกาสบุคคลสำคัญทางทหารเป็นผู้ดูแลกองทัพมาโดยตลอด 

กรณีของสุทิน ที่อดีตเคยเป็นครูบาอาจารย์ ผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ จรัญเชื่อว่าหากได้ศึกษาวิธีการและทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมองค์กร จากผู้เชี่ยวชาญย่อมไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งหากเป็นไปตามที่ส่วนตัวคาดหวังทุกกระบวนความ ย่อมทำให้ทหารและภาคพลเมือง สามารถเดินร่วมเส้นทางเดียวกันได้อย่างไร้ที่ติ  

“เหมือนเรามีผู้ปกครอง (นายกฯ) ที่เป็นพลเรือนเหมือนกับเรา มาดูแลบริหารกระทรวงต่าง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ทหารเข้ามามีบทบาท มันเป็นการเปลี่ยนผ่านที่น่าเรียนรู้ และคิดว่ากองทัพจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้เขา (สุทิน) เข้ามาทำงานโดยไม่แทรกแทรง” 

ส่วนข้อกังวลที่สังคมกำลังตั้งคำถามถึงสุทิน และ ‘พรรคเพื่อไทย’ ในการเซ็นเซอร์ตัวเอง ทำให้ไม่สามารถ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ได้แบบที่เคยหาเสียงไว้นั้น จรัญมองว่า ในความเป็นจริงการปฏิรูปกองทัพไม่ว่าจะเป็นนโยบายของ ‘พรรคก้าวไกล’ (ที่อดีตเกือบได้เป็นแกนนำรัฐบาล) และพรรคเพื่อไทย ทุกวันนี้เปรียบดั่ง ‘เทรนด์ใหม่ของโลก’ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่เฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น  

เนื่องปัจจัยด้านการเกิดสงคราม โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย แทบจะไม่มีข้อกังวลที่จะเกิดความขัดแย้ง จนถึงขั้นห่ำหันกันเอง สืบมาจากนโยบายทางการเมืองที่ทุกประเทศพยายามปรับตัวให้อยู่ร่วมกันได้แบบหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ประเทศสังคมนิยม หรือประเทศโลกมุสลิม ที่มีการปกครองแบบเฉพาะ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อนาคตความจำเป็นด้านการทหาร หรือการเข้าสู่ภาวะสงคราม จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบยุทธวิธีต่างจากเดิม กำลังทหารอาจไม่สำคัญเท่ายุทธวิธีที่ล้ำยุค สอดคล้องกับเหตุการณ์ของประชาคมโลกที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้น 

“เป็นที่เข้าใจได้ว่าการเกณฑ์ทหาร หากยึดกับความเป็นจริงแล้ว คิดว่าทหารน่าจะรับได้กับการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ตามการที่พรรคเพื่อไทย ไปทำงานร่วมกับพรรคที่ยังมีบรรยากาศการปกครองแบบทหาร อาจเป็นอุปสรรคต่อการปรับโครงสร้างกลาโหม ดังนั้นทุกฝ่ายต้องปรับตัวเข้าหากัน ทางที่เป็นไปได้ที่สุด ณ ตอนนี้ คือพบกันครึ่งทาง อาจยังไม่สามารถยกเลิกได้ทันที แต่ดูเรื่องความสมัครใจเป็นหลัก แต่ไม่ใช่ต้องเกณฑ์อีกต่อไปครับ” 

ในส่วนการแก้ไขปัญหาภายในราชอาณาจักร ที่เกิดขึ้นมายาวนาน อย่างกรณีความขัดแย้งชายแดนใต้ จรัญเชื่อว่า ด้วยความที่สุทินเป็นครูบาอาจารย์มาก่อน เคยสอนผู้พิการมาแล้วย่อมมีพื้นฐานและทัศนคติแบบ ‘ผู้ให้’ ถ้ามีการปรับตัวและทำความเข้าใจกับพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งผู้คนในพื้นที่มองว่าการทหารของรัฐไทย เป็นอุปสรรคการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดยเฉพาะกฎเกณฑ์และวิธีการที่ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมความเชื่อ รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ก็จะสามารถลดอุณหภูมิความร้อนแรงได้ 

ดังนั้น การที่มีพลเรือนเข้าสู่ตำแหน่งการควบคุมดูแลกองทัพ จะมีส่วนช่วยเรื่องนโยบายด้านความมั่นคง และเชื่อว่าสุทินจะใช้ลดวิธีการทางทหารในการดูแลสถานการณ์ ซึ่งน่าจะมีส่วนคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นให้เบาบางลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างกรณีของประเทศตุรกี ที่ก่อนหน้านี้ทหารมีบทบาทในทุกๆ ด้าน แต่เมื่อเกิดรัฐบาลพลเรือนและค่อย ๆ วิธีคิดแบบพลเรือนบริหารการทหาร จนในทุกสุดวิธีการทางทหารก็ถูกแยกออกจากการปกครอง ทำให้ประเทศในระยะหลังกลายเป็นรัฐบาลพลเรือนอย่างสมบูรณ์ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 

หยิบเรื่องนี้มาบอกเล่าก่อน ให้พอหอมปากหอมคอ เพราะมีเวลาสนทนากับท่าน (จรัญ) ไม่มาก รอทุกอย่างตกผลึก บรรยากาศทางการเมืองเข้า เอื้อให้สามารถขุดคุ้ยเรื่องราวได้ต่อเนื่อง ผู้เขียนสัญญาว่าจะนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้เพิ่มเติม เพราะการทหารไม่ได้เป็นแค่เรื่องภายในประเทศ แต่มันคือความสัมพันธ์ระดับนานาชาติ...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์