เงินดิจิทัลไร้หลักการ! ‘เจษฎ์’ แนะถอด‘เศรษฐา’ พ้นนายกฯ

28 ต.ค. 2566 - 05:18

  • ‘นักวิชาการ’ ค้านแจกเงินดิจิทัล ชี้ไร้หลักการ

  • ‘อ.เจษฎ์’ แนะแรงจี้ 3 พรรคร่วมรัฐบาล รับผิดชอบหากเกิดความเสียหาย

  • ผนึกเสียงยกมือโหวต ‘เศรษฐา’ พ้นนายกฯ ในศึกซักฟอกไม่ไว้วางใจ

Academics-oppose-giving-away-digital-money-point-out-without-principles-SPACEBAR-Hero.jpg

ในงานเสวนาหัวข้อ “หมุดประชานิยมอย่างไร ให้การเมืองไทยพัฒนา” ที่จัดโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชนวุฒิสภา (27 ตุลาคม 2566) นายเจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย กล่าวตอนหนึ่งถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่า ปัญหาของประชานิยมไม่ว่าทางเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้เกิดปัญหาทั้งสิ้น 

โดยประชานิยมทางการเมืองตำราบางเล่มบอกว่าเป็นความเลวร้ายทั้งสิ้น เนื่องจากในหลักการของประชานิยมที่ยึดประชาชนหมู่มากเป็นหลัก ซึ่งโครงการแจกเงินดิจิทัลตนมองว่าเป็นปัญหา อ้างเอาว่าเป็นเสียงข้างมาก หากนับฐานของพรรคเพื่อไทย (พท.) มีเพียง 10 ล้านโดยประมาณไม่ใช่เสียงข้างมากของสภาฯ และไม่เป็นอันดับหนึ่งของพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง 

ขณะเดียวกันในนโยบายประชานิยมเชิงสัญญา ที่ผ่านมาถือว่าเป็นปัญหากับการเมืองไทย นอกจากนั้นการกระทำอันเป็นประชานิยม ตนมองว่าคือการอัดฉีดเงิน ซึ่งอาจเจอปัญหาคือ ผิดกฎหมาย ผิดวินัยการเงินการคลัง หรือหากมีส่วนต่างอาจกลายเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบ

“นโยบายประชานิยมมักมากับการหาเสียงและผลักดันช่วงเป็นรัฐบาล แต่การนำมาปฏิบัตินั้นต้องมีแผนดำเนินการอย่างมีหลักเกณฑ์ที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างไร เช่น ใช้เงินจากไหน หากมีเงินจะใช้อย่างไร เหตุผลต้องใช้เงิน ความเสี่ยงคืออะไร หรือมีวิธีอื่นที่ดีกว่าหรือไม่”

อ.เจษฎ์ กล่าวต่อว่า เมื่อมองแล้วจะพบว่าไม่ว่าเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียง หากเป็นประชานิยมเชิงเศรษฐกิจพอได้หากจำเป็น หรือหากเป็นประชานิยมทางการเมืองนั้น ท้ายสุดจะพาประเทศตกต่ำ หรือภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ซึ่งจากสถิติประเทศในโลกที่ทำประชานิยมทางเศรษฐกิจหรือการเมืองมาใช้ มักเกิดความเสียหาย แต่หากจำเป็นต้องทำไม่ควรแจกอย่างไร้แผนหรือโครงการ

อ.เจษฎ์ กล่าวด้วยว่าในกรณีที่พรรคเพื่อไทยเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล หากอนาคตจะนำความเสียหายแก่บ้านเมืองจริง พรรคร่วมรัฐบาลต้องร่วมรับผิดชอบ ทั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)และ พรรคภูมิใจ (ภท.) หากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถอดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) ออกจากตำแหน่ง และหากพรรคเพื่อไทยใจถึงส่งสัญญาณไปถึงชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจด้วย

อ.เจษฎ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกติกาของการกำกับการหาเสียงของพรรคการเมืองตอนหาเสียงตามกฎหมายประกอบที่กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำกับ ตนมองว่าขณะนี้อธิบายไม่ได้ แต่ทำไมตอนยื่นนโยบายต่อ กกต. ถึงไม่ตรวจสอบ 

“ซึ่งหากเทียบกับฟุตบอล มีกฎฟีฟ่ากำกับว่าหากนักเตะถอดเสื้อเท่ากับได้ใบเหลือง แต่นักเตะคนดังกล่าวสัญญากับแฟนๆ ไว้ว่าจะถอดเสื้อ แต่เมื่อในสนามแข่งขันถือว่าผิดกฎ แต่เมื่อกรรมการให้ใบเหลือง แต่เถียงกรรมการ ทำให้กรรมการตัดสินให้ใบแดง ดังนั้นกติกาที่อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทำ คือให้กรรมการใช้การตัดสินใจที่เด็ดที่ขาดได้ ซึ่งในรายละเอียดที่เขียนไว้ในนั้นเป็นสารตั้งต้นเท่านั้น แต่ กกต.ต้องคิดต่อว่าจะมีประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์