นักวิชาการมอง ‘รมต.ต่างประเทศ’ คนใหม่ ต้องฟื้นบทบาทไทยบนเวทีโลก

30 เม.ย. 2567 - 09:14

  • นักวิชาการด้านความมั่นคง จุฬาฯ เปิด 12 คุณสมบัติ ‘รมต.ต่างประเทศ’

  • ชี้ไม่จำเป็นต้องควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

  • มอง ‘รมว.ตปท.’ คนใหม่ ต้องฟื้นบทบาทไทยบนเวทีโลก

Academics-recommend-Minister-of-Foreign-Affairs-must-restore-Thailand's-role-on-the-world-stage-SPACEBAR-Hero.jpg

สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ (30 เม.ย.2567) ต่อการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (รมว.ต่างประเทศ) ภายหลังการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สุรชาติ กล่าวว่า ในมิติของตำแหน่งที่มองว่า รมว. ต่างประเทศต้องควบกับรองนายกรัฐมนตรี นั้น มองว่าการเจรจาระหว่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ผูกติดกับตำแหน่งรองนาย​กฯ อีกทั้งตำแหน่งรองนายกฯ ที่ผูกกับ รมว.ต่างประเทศ ไม่ใช่ข้อได้เปรียบการเจรจา โดยตำแหน่งรองนายกฯ ในความรับผิดชอบต้องคุมบอร์ดต่างๆ ดังนั้นการควบตำแหน่งอาจไม่เหมาะ เพราะ รมว.ต่างประเทศเรื่องใหญ่ต้องเดินทางบ่อย

สุรชาติ กล่าวต่อว่า  “ตำแหน่งรองนายกฯ ควบกับ รมว.ต่างประเทศ นั้น ที่ผ่านมาเกิดขึ้นในรัฐบาลรัฐประหาร เพราะเขาส่งทหารเข้ามาคุมราชการ ดังนั้นหากยึดว่าต้องควบนั้นอาจทำให้กลายเป็นตำแหน่งพิเศษทางการเมืองไทยได้ นอกจากนั้นทุกยุค รมว.ต่างประเทศไม่มี สส.หรือ มุ้งของตนเอง และมาโดยอำนาจของนายกฯ”

สำหรับสเปคของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ตามงานวิจัยปริญญาเอกที่ศึกษามา มี 12 ข้อ ประกอบด้วย

1.มีความรู้และเข้าใจการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อไม่แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม 

2.ต้องนำนโยายของรัฐไปปฏิบัติได้จริง

3.ต้องขับเคลื่อนนโยบายได้ รวมถึงผลักดันนโยบายรักษาผลประโยชน์ของรัฐไทยในเวทีสากล

4.ดำเนินการลดทอนปัญหา ผลประทบเชิงลบต่อรัฐในเวทีสากล

5.ต้องควบคุมระบบราชการภายในกระทรวงให้ได้ การเป็น รมว.ต้องไม่ถูกหลอก

6.ประสานกับนายกฯ และทำงานเป็นทีมกับนายกฯได้

7.นายกฯ ต้องฟังและเชื่อใจ รมว.ต่างประเทศที่ดำเนินนโยบาย เพราะเป็นงานนอกบ้าน

8.ต้องเข้าใจระบบราชการ กฎระเบียบ และสิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบาย

9.มีทีมในการทำงาน เพราะงานต่างประเทศทำส่วนเดียวหรือคนเดียวไม่ได้

10.ต้องสร้างความมั่นใจให้กับรัฐบาลในการผลักดันนโยบายของประเทศในเวทีโลก

11.ต้องกล้าคิดตัดสินใจดำเนินนโยบาย และผลักดันนโยบาย

12.สร้างความศรัทธาในหน่วยงานในฐานะเจ้ากระทรวง ไม่ใช่ต้องให้บุคลากรรัก 100% แต่ต้องสร้างศรัทธา พากระทรวงไปสู่อนาคต

สุรชาติ กล่าวด้วยว่า นโยบายต่างประเทศแยกไม่ออกจากนโยบายความมั่นคง เพราะมีความทับซ้อนในหลายเรื่อง เช่น วันนี้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเมียนมา หรือท่าทีของไทยต่อสงครามที่เมียนมา ตกลงเป็นนโยบายต่างประเทศหรือนโยบายความมั่นคง

“ผมคิดว่าลึกๆ ถือว่าเป็นนโยบายความมั่นคงระหว่างประเทศ ทั้งนี้ขณะนี้มีโจทย์ใหญ่อีกชุด คือ สงครามเย็น หรือ การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ รมว.ต่างประเทศต้องเล่นให้เป็น โดยช่วง 10 ปีหลังรัฐประหาร ถึง ปี 66 บทบาทของกระทรวงลดหายไปจากจอเรดาร์โลก ดังนั้น รมว.ใหม่ต้องผลักดันมากขึ้นเพราะสถานการณ์เวทีโลกเข้มข้น และส่วนหนึ่งเราไม่เกี่ยวแต่เกี่ยวด้วยเงื่อนไขในสถานการณ์โลก เช่น ฉนวนกาซาที่คนไทยส่วนหนึ่งยังไม่ได้กลับ ปัญหาในทะเลแดง เป็นต้น” สุรชาติ กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์