‘นักวิชาการ’ เตือนกินข้าวสารเก่า 10 ปี เสี่ยงมะเร็ง-ได้รับพิษจากเชื้อรา

8 พ.ค. 2567 - 04:16

  • ‘นักวิชาการ’ เบรกรัฐบาลจ่อประมูลขายข้าวสารเก่า 10 ปี ค้างโกดังให้ประชาชนบริโภค ชี้เสี่ยงได้รับพิษจากเชื้อรา เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็ง

  • ย้ำความร้อนจากการหุ้งข้าวฆ่าเชื้อราไม่ได้ แนะไม่ควรนำไปบริโภคโดยตรงหรือนำไปผลิตอาหารสัตว์ ควรนำไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์จะดีกว่า

academics-warn-eating-rice-that-is-10-years-old-risk-of-being-poisoned-by-fungi-SPACEBAR-Hero.jpg

ยังถูกนักวิชาการเตือนอย่างต่อเนื่อง หลัง ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โชว์กินข้าวเก่า 10 ปี ค้างโกดังจากโครงการรับจำนำข้าว ในสมัยรัฐบาลของ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ เพื่อพยายามทำให้เห็นว่าข้าวสารเก่าที่เก็บไว้ในโกดัง ที่ จ.สุรินทร์ ยังสามารถนำมารับประทานได้ และเตรียมเปิดประมูลขายเพื่อนำรายได้เข้ารัฐ 

ขณะที่นักวิชาการหลายคนได้ออกมาเตือนและแสดงความเป็นห่วงว่าการนำข้าวสารเก่า ที่ผ่านการรมยามาเป็นเวลา 10 ปี เสี่ยงจะทำให้ผู้ที่บริโภคเข้าไปได้รับสารพิษตกค้าง

academics-warn-eating-rice-that-is-10-years-old-risk-of-being-poisoned-by-fungi-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง โชว์กินข้าวเก่าค้างโกดัง จากโครงการรับจำนำข้าว สมัยรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อพยายามชี้ให้เห็นว่าข้าวสารที่ถูกเก็บในโกดังมา 10 ปี ยังคงรับประทานได้ (เมื่อวันที่ 6 พ.ค.67)

ล่าสุด ‘รศ.พันทิพา พงษ์เพียจันทร์’ อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความห่วงใยและเตือนไปยังรัฐบาลว่า 

“จากกรณีที่เอาข้าวเก่า ค้าง 10 ปี มาหุงรัปทานโชว์กัน ขอบอกว่าท่านได้รับสารพิษจากเชื้อราไปแล้วไม่น้อย หลายตัวหลายชนิดด้วย และใครที่ไปร่วมชิมเป็นสักขีพยานว่า ข้าวนั้นทานได้ ก็รับเคราะห์ไปด้วยค่ะ

  1. ปกติอาหารสัตว์ เราจะเก็บพวกธัญเมล็ดต่างๆ (รวมถึงข้าว)ได้อย่างมาก 1 ปี ที่อุณหภูมิห้อง เช่นเดียวกับที่โรงสีที่โชว์เก็บ แต่ก่อนเก็บนอกจากรมควันแล้ว ความชื้นในเมล็ดธัญพืชจะต้องไม่เกิน 12% เพราะพวกนี้สามารถดูดซึมน้ำกลับได้ ซึ่งสภาพการเก็บของโรงสีที่เห็น ใส่ในกระสอบป่าน โอกาสดูดซึมน้ำกลับ ทำให้ความชื้นของเมล็ดข้าวสูงขึ้นแน่นอน หากจะเก็บไว้นานกว่านี้ต้องเก็บในสภาพเย็นแบบแห้ง (Cold dry processing)* อุณหภูมิต้องไม่เกิน 13 °C ทำให้แมลงไม่ฟักออกเป็นตัว*
  2. กระสอบป่านที่เก็บข้าว สภาพที่เห็น วางทับซ้อนกันสูงมาก อากาศไม่ถ่ายเท ส่งเสริมการดูดซึมน้ำกลับ ความชื้นในเมล็ดข้าวสูงขึ้น ส่งเสริมการเจริญของมอดแมลงต่างๆ
  3. แม้จะรมยาแต่สถาพการวางทับกระสอบ รมยาไม่ทั่วถึงแน่นอน เพราะข้าวที่เอามาหุงแสดง ขณะล้างฟ้องอยู่แล้วว่ามีมอดข้าว ด้วง
  4. การที่เมล็ดข้าวมีความชื้น ส่งเสริมการเติบโตของมอด แมลงต่างๆ* หลักฐานประจักษ์ขณะซาวข้าว (15ครั้ง ตามข่าว ซึ่งข้าวปกติเราล้างไม่ถึง 3 ครั้ง)
  5. การมีมอดแมลง มูลของแมลงเหล่านี้นำมาซึ่งการเจริญของเชื้อรา และแบคทีเรีย* ทำให้เน่าได้รับสารพิษโดยไม่รู้ตัว
  6. จากสภาพข้าวที่หุงออกมา จะมีข้าวจำนวนไม่น้อย ที่มีสีน้ำตาลตรงปลายเมล็ด นั่นคือเม็ดข้าวที่ขึ้นรา อย่างน้อยต้องตรวจพบสารพิษอะฟลา 1 ตัว ตรวจง่ายๆโดยใช้เทคนิค บี จี วาย ฟลูโอเรสเซนท์ (Bright Greenish-Yellow Fluorescent) ** ซึ่งสารนี้ทนอุณหภูมิได้ถึง 250°C *** และยังจะมีสารพิษอื่นๆตามมาอีกหลายตัว อุณหภูมิข้าวที่เราหุงน้ำเดือด 100°C ไม่สามารถทำลายพิษจากเชื้อราได้ อาจได้แค่แบคทีเรียจากมูลของแมลง

เห็นเจตนาดีของท่านที่จะหาเงินกลับคืน ขอแนะนำว่า

  1. อย่าขายให้คนหรือสัตว์นำไปบริโภค ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเราจะมีคนป่วยด้วยมะเร็งมากขึ้น สำหรับผู้บริโภคโดยตรง
  2. กรณีนำไปเลี้ยงสัตว์ เราจะได้ผลิตภัณฑ์ เนื้อ นม ไข่ ที่มีสารพิษจากเชื้อราตกค้างในอาหาร ทำให้เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น
  3. การนำไปขายให้อัฟริกา ชื่อเสียงข้าวเน่าเสียของไทยจะกระจายไปทั่วโลก คู่แข่งเราจะได้เปรียบ  กว่าเราจะกู้ชื่อเสียงกลับคืนมาคงหลายปี เสียตลาดข้าวให้คู่แข่ง โดยเขาไม่ต้องออกแรงเลย และที่สำคัญบาปตกอยู่กับผู้คิด ผู้ขาย แน่นอน
  4. ขอแนะนำให้นำข้าวเหล่านี้ ไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ หรือน้ำส้มสายชู จะดีกว่า สอบถามนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การอาหารต่อไปค่ะ

หมายเหตุ: การตรวจสอบสารพิษเหล่านี้ มีตามมหาวิทยาลัยที่มีห้องแลปตรวจอาหารทั่วไปหรือกรมปศุสัตว์หรือบริษัทรับตรวจสารพิษในอาหาร”

academics-warn-eating-rice-that-is-10-years-old-risk-of-being-poisoned-by-fungi-SPACEBAR-Photo04.jpg

สอดคล้องกับความเห็นของ ‘รศ.วีรชัย พุทธวงศ์’ หรือ ‘อ.อ๊อด’ อาจารย์สาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่โพสต์เฟซบุ๊กเตือนว่า 

ข้าวเก่า 10 ปี หากตรวจสอบแล้วปลอดภัยก็เอามาทำประโยชน์ได้ครับ แต่มันจะคุ้มหรือไม่ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีอาจารย์อ๊อดเป็นห่วงอยู่ตัวเดียวคือสารตัวนี้ สาร “อะฟลาท็อกซิน” สารก่อมะเร็งที่มีอันตรายมาก องค์การอนามัยโลกกำหนดให้สารอะฟลาท็อกซินเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง

สารอะฟลาท็อกซินมักพบได้ในวัตถุดิบทางการเกษตรที่นำมาแปรรูปและเก็บอย่างไม่เหมาะสม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประเภทแป้ง ผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มันสำปะหลัง ผักและผลไม้อบแห้ง ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กะปิ มะพร้าวแห้ง หัวหอมแห้ง กระเทียมแห้ง พริกแห้ง พริกไทย งา”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์