แก้ กม.ประชามติ! ตัวประกันที่สองแก้ รธน.

20 พฤศจิกายน 2566 - 06:44

Amending-the-referendum-law-Second-hostage-to-amend-the-constitution-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ก่อนปีใหม่ได้ข้อสรุปแนวทางทำประชามติแก้ รธน.‘ภูมิธรรม’ ชี้ 24 พ.ย.นำผลหลังเดินสายรับฟังความคิดเห็นมาสรุป

  • ยันสิ้นเดือน ธ.ค.จบกระบวนการแน่ ส่ง ครม.พิจารณาต้นปีหน้า

ความพยายามในการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการเริ่มต้นจากการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติของรัฐบาล ถูกมองเป็นการดึงเกมให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องล่าช้าออกไป

บางคนมองเป็นการจับรัฐธรรมนูญเป็นตัวประกันด้วยซ้ำ เพราะที่ผ่านมาได้ผ่านการตกผลึกเรื่องการแก้ไขไปแล้ว รอเพียงทำประชามติถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น

แต่เมื่อถอยไปไกลถึงขั้นตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา และต้องใช้เวลาดำเนินการเบ็ดเสร็จรวมไปถึงการยกร่างกฎหมายลูกขึ้นใหม่ ต้องใช้เวลากลมๆ ไม่น้อยกว่า 3 ปีครึ่งถึง 4 ปี เท่ากับอายุของรัฐบาลพอดี

จึงถูกมองเป็นการจับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นตัวประกันให้รัฐบาลอยู่ครบเทอม

ต่อมายิ่งมีข้อเสนอจากคณะกรรมการชุดใหญ่และอนุกรรมการทั้งสองคณะ รวมทั้ง พรรคก้าวไกล ให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 เพราะเห็นว่าหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นที่วางไว้นั้น สุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การตกม้าตาย 

โดยเสนอให้ทบทวนเหลือเสียงข้างมากแบบชั้นเดียว หรือร้อยละ 25 ของผู้มีสิทธิก็พอ ไม่ต้องถึงขนาดสุดลิ่มทิ่มประตู ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงเห็นชอบต้องเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ที่มาใช้สิทธิ

ในขณะที่บางรายเสนอให้แก้ไขแบบยืดหยุ่น คือ ยังคงรักษาหลักการเดิมไว้ สำหรับการจัดทำประชามติในเรื่องที่มีความสำคัญแบบยิ่งยวด แต่ให้ปรับเกณฑ์สำหรับกรณีอื่นที่มีระดับความสำคัญรองลงไป 

วันนี้ (20 พ.ย.66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพใหญ่ศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขกฎหมายประชามติ ว่า ขอให้รอการประชุมคณะกรรมการใหญ่ในวันที่ 24 พ.ย.ที่จะมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้

ส่วนจะมีการเสนออะไรเพิ่มเติมเข้ามาหรือไม่ โดยเฉพาะจากนายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการฯ ภูมิธรรม ย้ำว่า ทั้งหมดเป็นไปตามที่มีการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งต้องรอข้อสรุปทั้งหมด โดยในวันที่ 24 พ.ย. จะเป็นวันประชุมใหญ่ ให้ไปรอในวันนั้นเลยว่าข้อสรุปต่างๆ เป็นอย่างไร 

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ จะมีการเคาะเลยหรือไม่ว่าจะมีการจัดทำประชามติกี่ครั้ง จะใช้งบประมาณเท่าไหร่ และทุกอย่างจะเบ็ดเสร็จในวันนั้นหรือไม่ ภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าผลสรุปจะเป็นเช่นอะไร แต่ก็ได้ยืนยันไปแล้วว่าภายในสิ้นเดือนธันวาคม น่าจะจบกระบวนการทุกอย่าง โดยสามารถที่จะรวบรวมสรุป และเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในไตรมาสแรก ซึ่งพยายามจะทำให้เกิดได้ในเดือนมกราคม 2567

ทั้งนี้ แม้ทุกอย่างจะเป็นไปตามกรอบเวลาข้างต้น แต่กระบวนการแก้ไขกฎหมายประชามติ ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูป ในหมวดที่ 16 ของรัฐธรรมนูญ จะต้องนำไปพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของสองสภา หรือที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งมีกระบวนการรายละเอียดที่กำหนดไว้แตกต่างจากการพิจารณากฎหมายทั่วไป

ดังนั้น การนำเรื่องแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 มาเป็นประเด็นเพิ่มเติมของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเหมือนกึ่งๆ ตัวประกันตัวที่สอง ที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องล่าช้าออกไปอีก

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์