(คน) ท้องถิ่นไร้ตัวเลือก ? วิเคราะห์มุมเลือกตั้ง ‘นายก อบจ.’ ผ่านมหกรรม ‘บัตรเสีย’

3 ก.พ. 2568 - 10:33

  • ถอดสนามความคิดของประชาชน ผ่านการเลือกตั้ง ‘อบจ.68’ เมื่อตัวเลือกท้องถิ่นมีน้อย ‘บัตรเสีย - โหวตโน’ คือคำตอบ

  • พร้อมสังเคราะห์วาทกรรม ‘ทักษิณสิ้นมนต์ขลัง - พรรคประชาชนสถาปนาหัวหาด’ อะไรคือจุดเปลี่ยนของเกมนี้

Analysis-of-Local-Elections-2025-SPACEBAR-Hero.jpg

แม้ภาพรวมการเลือกตั้ง สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เลือกตั้ง ในรอบล่าสุดจะดูคึกคักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะจากภาคการเมือง และประชาชนที่ดูให้ความสนใจมากขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น เมื่อปี 2563 พบว่าตัวเลขต่างกันอยู่อย่างมีนัยสำคัญ

คราวก่อน มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น จำนวน 29,016,536 คน (จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 46 ล้านคน) หรือเท่ากับ ร้อยละ 62.25 ขณะที่ ‘การเลือก อบจ. 2568’ มีผู้มาใช้สิทธิ์จำนวน 26,418,754 คน (จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 47 ล้านคน) คิดเป็นร้อยละ 56.06 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากเทียบตามสมการจะพบว่าเปอร์เซ็นต์ดูลดน้อยลงไป 

ขณะเดียวกัน ‘ยอดบัตรเสีย’ และ ‘โหวตโน’ ก็ดูจะพุ่งทะยาน รวมๆ คิดออกมาเป็นตัวเลขแทบจะร้อยละ 10 ของบัตรเลือกตั้งทั้งหมด

ไม่เว้นแม้แต่จังหวัดที่มีการแข่งขันทางการเมืองสูงๆ ก็พบว่า มียอดบัตรเสียและไม่ประสงค์ลงคะแนนอยู่ตั้งแต่ 5 หมื่นถึง 1 แสนใบเลยทีเดียว

ดังนั้นควันหลงของสนามท้องถิ่นครั้งนี้ คงไม่ใช่แค่การวิเคราะห์ถึง ‘ผลลัพธ์’ ที่ปรากฎออกมาในรูป ‘การกรำชัยชนะ’ หรือ ‘ความพ่ายแพ้’ เท่านั้น แต่ยังออกมาในรูปการสังเคราะห์ ‘พลวัตรของประชาชน’ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมกับปรากฏการณ์ระดับชาติ !

‘บัตรเสีย - โหวตรเยอะ’ เพราะประชาชน ‘ไม่อยากเลือกใคร’

‘รศ.ดรยุทธพร อิสรชัย’ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ไม่ได้รู้สึกแปลกใจที่การเลือกตั้งท้องถิ่นรอบนี้ จะมีตัวเลขบัตรเสีย - โหวตโนพุ่งสูง แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วมมีปัจจัยต่างๆ เข้ารองรับ

42 ใน 47 สนามการเลือกตั้ง ผู้สมัครเป็น ‘แชมป์เก่า’ ซึ่งโหวตเตอร์หลายคนล้วน ‘เบื่อหน่าย’ กับหน้าเดิมๆ แต่เมื่อมีตัวเลือกน้อยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องกาช่อง 'ไม่ประสงค์ลงคะแนน' หรือทำให้ 'บัตรเสีย' เพื่อรักษาสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยให้เห็นในหลายจังหวัดใหญ่ๆ  อาทิ ชัยชนะของ ‘ยลดา หวังศุภกิจโกศล’ หรือ ‘มาดามหน่อย’ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ที่เอาชนะคู่แข่งในจังหวัดนครราชสีมาชนิดถล่มทลาย สะท้อนภาพของ ‘การไม่มีตัวเลือก’ ได้อย่างชัดเจน

ยุทธศาสตร์การลงคะแนนของประชาชน มีความแตกต่างจากเดิม เพราะเมื่อก่อนหากไม่ชอบนักการเมืองคนไหน ก็จะโหวตให้คู่แข่ง ในเชิงรัฐศาสตร์เรียกว่า ‘vote against’ คือการโหวตตอบโต้เพื่อไม่ให้คนที่ไม่ชอบได้รับชัยชนะ (โดยไม่คำนึงว่าผู้สมัครคู่แข่งจะเป็นใคร) แต่เมื่อตัวเลือกในสนามน้อยทำให้ทางเลือกน้อยลง ผนวกกับกติกาการเลือกตั้งกำหนดไว้ว่า ‘ผู้ชนะ’ จะต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่า ‘โหวตโน’ หลายคนจึงเลือกที่จะไม่ประสงค์ลงคะแนน เพื่อหวังจะได้เลือกตั้งใหม่

ขณะที่ ‘ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์’ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์จากการสังเกตการณ์หน่วยเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่ที่ติดตามสถานการณ์เป็นจุดเลือกตั้งแถบบ้านจัดสรร ผู้ใช้สิทธิ์เป็นคนชนชั้นกลาง ที่มีมุมคิดทางการเมือง และทราบระเบียบการลงคะแนนอยู่แล้ว แต่หลายคนเลือกจะตั้งใจ ‘ทำบัตรเสีย’ อาจเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ ‘ไม่ต้องการจะเลือกใคร’

“บางคนไม่กาหรือกาเกิน ไม่ใช่ไม่ทราบว่าจะเป็นบัตรเสีย ผมเห็นกับตาเลย (นับคะแนน) หลายคนกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน แต่ก็ไปกาเบอร์อื่นเพิ่ม อาจเป็นการแสดงออกบางอย่าง แต่เจตจำนงจริงๆ คือไม่เลือกใคร เพราะไม่รู้จะเลือกใคร บางคนตีความว่าเพราะไม่มีใครชอบทั้งแดงทั้งส้ม อันนี้คือสิ่งที่เห็นจากในหน่วย ซึ่งผมก็คิดว่ายอดรวมมันก็สูงนะ”

นักรัฐศาสตร์ มช. กล่าว

‘ทักษิณ’ เสื่อมมนต์ขลัง ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่สร้างความฮือฮามากที่สุด ในการเลือกตั้งนายกฯ อบจ. ครั้งนี้ คือปรากฏการณ์ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครพรรคเพื่อไทยหาเสียง 10 จังหวัด แต่ผลปรากฏว่าพลาดไปถึง 4 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ชนะเลือกตั้ง หลายจังหวัดพบคะแนนห่างกับคู่แข่งไม่มาก ทำให้เกิดการตั้งคำถามจากสังคมว่า ‘มนต์ขลังเสื่อม’ ลงหรือเปล่า

ในมุมของ ‘ณัฐกร’ ที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคเหนือมาอย่างต่อเนื่อง มองว่า อาจมีส่วนเรื่องความนิยมที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะมีคนเชียงใหม่หลายคนพูดคุยกันในทำนองว่า ‘หากทักษิณไม่เข้ามาช่วยหาเสียง พรรคเพื่อไทยก็จะพรรคประชาชนขาดแล้ว’ ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อน แต่ขณะเดียวกันก็มีอยู่ประปรายที่สะท้อนมุมว่า ‘ถ้าทักทักษิณไม่มาช่วย ก็แพ้พรรคส้มไปแล้ว’

อย่างไรก็ดี นักรัฐศาสตร์ มช. วิเคราะห์การลงสนามช่วยหาเสียงของอดีตนายกรัฐมนตรีออกมาว่า การเดินเกมช่วยปราศรัยของทักษิณเป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่คุ้นชิน คือการลงพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้รับเลือก สส. ทำให้กระแสความนิยมในตัวของทักษิณ ในจังหวัดเชียงใหม่แตกออกเป็น 2 สาย ‘เป็นได้ทั้งคุณและโทษ’

ขณะที่ ‘ยุทธพร’ มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทยและเครือข่าย ไม่ได้ทำให้เห็นชัดเจนว่า ‘มนต์เสื่อม’ เพราะหากหยิบยกจากตัวเลขผลลัพธ์จากการเลือกตั้ง อบจ. รอบแรก 29 จังหวัด ได้มา 11 คน และรอบสอง 47 จังหวัด ก็ได้มา 10 คน (จากการส่งผู้สมัครในนามพรรคและเครีอข่าย 16 คน) โดยรวมๆ ตีเป็นตัวเลขได้ร้อยละ 70 ไม่ถือว่าเสียหายเท่าไหร่ 

ขณะที่ ‘พรรคประชาชน’ ส่ง 17 จังหวัด แต่ได้มาแค่จังหวัดลำพูน 1 ที่นั่ง ก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าประชาชนเสื่อมศรัทธาด้วยเช่นกัน เพราะแต่ละสนามเลือกตั้งล้วนมีแผนการเล่นและยุทธวิธีที่แตกต่างกัน 

อย่าง ความพ่ายแพ้ที่จังหวัดเชียงรายของพรรคเพื่อไทย ก็อาจมีผลมาสืบเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม ที่ ‘กระทรวงมหาดไทย’ ภายใต้การนำของ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เข้ามามีบทบาทสำคัญในการไขปัญหา จึงทำให้ผู้สมัครจากเครือข่าย ‘ภูมิใจไทย’ สามารถเอาชนะแชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทยได้ไม่ยาก

“มันคงไม่สามารถบอกได้ทันทีว่ามนต์เสื่อม การเลือก อบจ. มันมีปัจจัยเกี่ยวเนื่องหลายอย่าง แต่แน่นอนพรรคเพื่อไทยก็มีการบ้านต้องกลับไปทบทวน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การหาเสียง ที่จะมายึดโยงกับคุณทักษิณคนเดียวไม่ได้ แต่จะต้องเปิดที่ให้กับคนรุ่นใหม่ในพรรคด้วย”

นักรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าว

‘ปชน.’ สถาปนาหัวหาด ‘ท้องถิ่น’ - ‘ภท.’ ยังเป็นศัตรูที่น่ากลัวของ ‘เพื่อไทย’

“ขณะเดียวกัน พรรคประชาชนก็มีโจทย์ที่ต้องกลับไปทำการบ้าน กับชัยชนะที่ได้มา 1 แห่ง เขาจะทำอย่างไรให้เกิดแซนด์บ็อกซ์ เพื่อโชว์ศักยภาพ - การทำการเมืองท้องถิ่นแบบใหม่ ท้ายที่สุดแล้วเราต้องไม่ลืมว่าพรรคประชาชนมีจุดอ่อนคือ ยังไม่เคยมีอำนาจรัฐทั้งท้องถิ่นและระดับประเทศ”

นักรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าว

‘ยุทธพร’ กล่าวถึงปัญหาใหม่ที่ ‘พรรคประชาชน’ จะต้องแสดงให้คนเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้เก้าอี้นายก อบจ.เพียงเก้าอี้เดียว ซึ่งบางมุมคนอาจมองว่า ‘พลาดเป้า’ แต่ในมุมของเขามองเป็น ‘โจทย์ใหม่’ ที่จะต้องสร้างรูปธรรมจากนโยบายที่ผลักดันการมีส่วนร่วมของประชาชนและท้องถิ่น โดยเริ่มจากการสร้าง ‘ลำพูน’ ให้กลายเป็น ‘แซนด์บ็อกซ์’ ในเชิงยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ

แต่หากเทียบกับการเลือกตั้งใหญ่ มีหลายพื้นที่ที่เป็นสีส้มทั้งจังหวัด ซึ่งเป็นจุดหวังผล กลับกันในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก็ยังพ่ายแพ้ ‘ระบบเครือข่าย’ ซึ่งส่วนที่ได้มา 1 ที่นั่ง ก็มาอาจมาจากผลพวงของบ้านใหญ่ด้วย ซึ่งส่วนตัวคิดว่าการเอาชนะในสนามลำพูนได้ มาจากการทำพื้นที่เอง มากกว่าได้จากแรงสนับสนุนจากส่วนกลาง 

ขณะที่ ‘พรรคภูมิใจไทย’ ที่หลายฝ่ายมองว่า ‘มาเงียบๆ แต่กินเรียบ’ ก็ต้องปรับตัวไปกับสถานการณ์ โดยเฉพาะความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มฐานเสียงใน ‘เขตเมือง’ มากขึ้น แม้จะได้เปรียบทางการเมืองการเมืองด้วยระบบ ‘บ้านใหญ่’ อยู่แล้วก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่าปัจจุบัน ‘เพื่อไทย’ คือพรรคที่มียุทธศาสตร์ใกล้เคียงกับภูมิใจไทยมากที่สุด เสมือนต้องแข่งขันกันเองอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มสัดส่วนของ สส.แบบบัญชีรายชื่อ ยังเป็นโจทย์ใหญ่ของพรรคอยู่ 

สอดคล้องกับมุมวิเคราะห์ของ ‘ณัฐกร’ ที่มองว่า การสถาปนาหัวหาดใหม่ของพรรคประชาชน มีความจำเป็นต้องวางลากฐานการเมืองท้องถิ่นที่ชัดเจน แบบที่เคยนำเสนอกับภาคประชาชนมาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งหากทำได้จะถือเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้ในระดับท้องถิ่นมีการแข่งขันกันมากขึ้น โดยยกระดับลำพูนให้เป็นพื้นที่ตัวอย่าง นำไปสู่การมีส่วนร่วมของคนในระดับภูมิภาคด้วย

“อย่างตอนนี้เชียงใหม่อาจไม่ได้มองแต่ตัวเองแล้ว แต่อาจต้องมองไปที่ลำพูน หรือคนจังหวัดใกล้เคียง ก็จะต้องมีการเปรียบเทียบกันแล้ว เพราะจังหวัดภาคเหนือเหล่านี้มักไปมาหาสู่กัน มันจึงเป็นข้อดีที่จะเห็นการแข่งขันในระดับนโยบายขององค์กรท้องถิ่นมากขึ้น”

ณัฐกร กล่าวทิ้งท้าย

ท้ายที่สุดไม่ว่าเราจะมองจากมิติไหน สิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันสื่อสารออกไปคือ การผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบเลือกตั้ง - ข้อกำหนดต่างๆ ที่จะให้สิทธิประชาชนทุกคน ได้มีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ‘การเลือกตั้งท้องถิ่น’ ที่เป็นกระบวนการประชาธิปไตยใกล้ตัวทุกคนมากที่สุด 

ดังนั้น ‘กกต.’ ควรทำ ‘การบ้าน’ ไปพร้อมๆ กับ ‘ภาคการเมือง’ เช่นกัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์