“สิ้นสุดกันที ไม่ว่าชาตินี้ชาติไหน วันนี้คงสาแกใจ ซาบซึ้งทรวงในอกเรา”
ริงโทนรอสาย ‘น้ำตาจ่าโท’ ของ ‘กฤษฎา จีนะวิจารณะ’ สร้างความฉงนให้กับผู้สื่อข่าว ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ซึ่งตรงกับห้วงที่มีกระแสข่าว ‘ลาออก’ จากตำแหน่ง ‘รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง’ กระทั่งต่อมาได้มีการดำเนินการผ่าน ‘พิชัย ชุณหวชิร’ รองนายกฯ และ รมว.คลังในวันเดียวกัน
ผ่านไป 6 วันมีการเปิดเผยรายละเอียดของหนังสือลาออกจากของ ‘กฤษฎา’ ที่ส่งถึง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี (ลงวันที่ 8 พฤษภาคม) มีเนื้อหาระบุถึงสาเหตุของการตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกในครั้งนี้ ซึ่งมีข้อความบางประโยคเรียกว่า ‘แซ่บ’ แสดงให้เห็นนัยการเมืองหลังการปรับ ครม. เศรษฐา 1/1 ที่ดูกังขา
“อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีแนวคิดในการทำงานที่แตกต่างกัน รวมทั้งการไม่ให้เกียรติต่อกันในการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม กระผมจึงเห็นว่า คงไม่สามารถที่จะทำงานร่วมกันให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้”
เพียงเท่านี้ ก็ไม่จำเป็นต้องหาเหตุผล - ทำไมเจ้าตัวถึงตั้งใจ (หรือไม่ตั้งใจ) เลือกเพลงดังของสุรพงษ์ (สมบัติเจริญ) เป็นเสียงรอสาย ในวันที่ข่าวสะพัดไปทั่วบ้านเมือง
ตอนแรกผู้สื่อข่าว ตั้งสมมุติฐานการลาออก ว่ามาจากกรณีการจัดสรรหน่วยงานในกระทรวงการคลัง ‘แบบไม่สมเหตุสมผล’ ลดบทบาทหรือมองข้ามความสามารถของกฤษฎา ในการดูแลส่วนงานสำคัญหรือไม่
แต่เมื่อจดหมายลาออกถูกเปิดเผยออกมา ต่างจับใจความได้ 2 ประการ 'กฤษฎา ยืนยันว่า ในฐานะ รมช. คลัง ทำหน้าที่ตามที่รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ’ และ ‘การเปลี่ยนแปลง รมว.คลัง ที่มีแนวคิดการทำงานแตกต่างกัน รวมทั้งการไม่ให้เกียรติต่อกัน’ จึงกลายเป็นส่วนขยายเหตุผลแบบชนิด ‘ทิ้งบอมบ์’
ปรากฏการณ์จาก ‘จดหมายทิ้งบอมบ์’
เอาเข้าจริง การสื่อสารทางการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การใช้ ‘จดหมาย’ เพื่อส่งสารไปยังผู้รับ (อาจหมายถึงประชาชนด้วย) ในลักษณะของการ ‘ทิ้งทวน’ หรือที่กล่าวไว้ว่า ‘ทิ้งบอมบ์’ เป็นวัฒนธรรมที่เห็นได้อยู่เนื่องๆ
หากจำความได้ เอาแค่ในห้วงการเลือกตั้ง 2566 จะเห็นว่ามีหลายกรณี ที่นักการเมืองพยายามทำจดหมายสื่อสารกับผู้รับแบบ ‘เปิดผนึก’ ส่งต่อถึงสาธารณะ เพื่อมุ่งหวังให้ ‘เสียดแทง’ หรือ ‘แสดงอารมณ์’ มีให้เห็นหลายฉบับที่น่าสนใจ อาทิ ‘จดหมายลุงป้อม’ ที่เขียนโดย ‘พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ’ เผยแพร่ออกมาในช่วงบั้นปลายของ ‘รัฐบาลประยุทธ์’ หลายฉบับมีเนื้อหาเกี่ยวพันกับ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ที่แฝงนัยการขับเคี่ยวทางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ในฐานะ ‘คู่แข่งพี่น้องสองป.’
หรือแม้แต่ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนกรณีกฤษฎาจะลาออก อย่าง การทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีของ ‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ระบุที่อยู่ผู้ส่ง ‘บ้านเลขที่ 101 ถนนพหลโยธิน 5 (ราชครู)’ ซึ่งนักวิเคราะห์การเมืองหลายคนเชื่อว่า เป็นการแสดง ‘ศักดิ์ศรีชาติตระกูล’ ว่ามีบทบาทสำคัญที่ทางการเมืองและสังคมอยู่ใน ‘บ้านซอยราชครู’ ไม่ใช่เด็กใน ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’
เครื่องมือแฝง ‘นัยการเมือง’
‘รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้แสดงความเห็นเรื่อง ‘จดหมายการเมือง’ ผ่านปรากฏการณ์ของ ‘กฤษฎา - ปานปรีย์’ ว่า ในทางการเมือง หนังสือหรือจดหมาย ‘ลาออก’ ในอดีต ผู้เขียนมักระบุเหตุผลอยู่ 3 เรื่อง 1) ปัญหาสุขภาพ 2) ภารกิจส่วนตัว และ 3) เรื่องครอบครัว ทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ ซึ่งประชาชนต่างก็รู้ว่าไม่เป็นเหตุผลอันแท้จริง
แต่สำหรับยุคนี้ (จากสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการปรับ ครม.) เปรียบดั่งการ ‘ยิงหมัดตรง’ โดยการมุ่งสู่ประเด็นให้เข้าเป้า เพื่อหวังให้เกิดแรงตกกระทบกับผู้มีอำนาจ ถือเป็นพัฒนาการด้านสื่อสารการเมือง ซึ่งกลายเป็นเทคนิคหรือเครื่องมืออีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งในทุกๆ ตัวอักษรที่ปรากฏในจดหมายลาออก ล้วนมีนัยซ่อนอยู่ทั้งสิ้น
“มันมีนัยทางการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น และยังเป็นการแสดงศักยภาพบทบาทของตัวผู้เขียนเอง หรือเป็นการแสดงออกทางจุดยืนทางการเมือง ทางความคิด แม้กระทั่งความคับข้องใจ ทุกอย่างจะเป็นประเด็นตกกระทบ ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ทางผู้เขียนจดหมาย ไม่ได้แค่ต้องการสื่อถึงผู้มีอำนาจเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งหวังให้สาธารณชนรับทราบความด้วย”
ยุทธพร อิสรชัย กล่าว
ยุทธพร กล่าวต่อว่า การใช้จดหมายเป็นวิธีการตอบโต้ทางการเมืองที่ยังคง ‘คลาสสิค’ อยู่ตลอดกาล ไม่ว่าเทคโนโลยีการสื่อสารจะพัฒนาไปไกลแค่ไหน เพราะรูปแบบการเขียน ที่ยังคงมีพลังในทางการเมือง และสามารถถ่ายทอดความรู้สึกได้อย่างนุ่มลึก ซึ่งไม่จำกัดแค่จดหมายลาออกอย่างเดียว
แต่อาจเป็นจดหมายอื่นๆ ที่สื่อถึงความในใจตามวาระต่างๆ อย่าง ‘จดหมายของลุงป้อม’ หลายฉบับที่บรรยายถึงความในใจของตนเอง เพื่อหวังให้ได้มาซึ่งเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้ง ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ที่เป็นแรงขับให้ผู้คนเข้าถึงเนื้อหาได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางขึ้น
ส่วนจดหมายลาออกของรัฐมนตรีทั้ง 2 คนจะส่งผลกระทบต่อนายกฯ ในฐานะผู้นำและผู้พิจารณาการปรับ ครม. รอบนี้ด้วยหรือไม่ ยุทธพรมองว่า ไม่ว่าจะนายกฯ หรือรัฐบาลต่างล้วนได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แม้จะไม่ถึงขั้นสร้างความสั่นคลอน - ไปต่อไม่ได้
กระนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปประโยคหรือข้อความวรรคทอง ในจดหมายลาออกของทั้ง ‘ปานปรีย์’ และ ‘กฤษฎา’ ล้วนมีถ้อยคำที่ทำให้สังคมตั้งคำถาม ถึงหลักเกณฑ์ในการปรับ ครม. ครั้งนี้ รวมถึงกรณีที่มีบุคคลคอยบงการอยู่เบื้องหลังด้วย
“จดหมายของทั้ง 2 ท่าน ล้วนส่งผลต่อเครดิตของคุณเศรษฐา ในฐานะผู้นำรัฐบาลไม่น้อย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการจะนำไปขยายผลอื่นๆ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตถึงศูนย์อำนาจภายในพรรคเพื่อไทย ที่มีหลายศูนย์หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องภาวะการตัดสินใจของตัวนายกฯ เอง ”
ยุทธพร อิสรชัย กล่าวทิ้งท้าย