อ่านนัย 13 ปี ไร้ ‘คนดีศรีสภา’ กับ ‘นันทนา นันทวโรภาส’

27 ธ.ค. 2566 - 08:55

  • ถอดนัยการเมือง 13 ปี ไร้ ‘คนดีศรีสภา’ กับ ‘รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส’ คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก กับแนวคิด ‘นักการเมืองดี’ อาจไม่ใช่คำตอบเท่ากับ ‘นักการเมืองคุณภาพ’

Analysis-of-political-journalists-Title-of-the-House-of-Representatives-SPACEBAR-Hero.jpg

เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของสื่อมวลชนสายการเมืองที่จะ ‘ตั้งฉายา’ ให้กับคนการเมืองที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ ในทุกๆ ช่วงสิ้นปี รอบนี้ถือเป็นการให้ฉายาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งใหญ่ผ่านพ้นไป โดยนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ออกฉายาให้รัฐบาลว่า แกงส้ม ‘ผลัก’ รวม สะท้อนภาพนิยามความหมายทางการเมือง หลังพรรคก้าวไกลโดนพรรคเพื่อไทย ฉีกสัญญา MOU ถูกผลักออกจากการร่วมรัฐบาล จนก่อเกิดวาทกรรมแบบ ‘ตระบัดสัตย์’ จับมือข้ามขั้วเป็น 'รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน'

ขณะที่ฝากฝั่ง นักข่าวประจำรัฐสภา ก็ได้ให้ฉายาสภาผู้แทนราษฎร์ว่า สภาลวงละคร แฝงความหมายการชิงไหวชิงพริบ เพื่อเป็นเจ้าของอำนาจ มีการเจรจาจับมือกันหลายฝ่าย โดยในครั้งแรกพรรคเพื่อไทยเล่นตามบทเป็นมวยรอง แต่สุดท้ายใช้สารพัดวิธีพลิกกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีแต่การหักเหลี่ยมเฉือนคม ตั้งแต่การเลือกนายกรัฐมนตรี จนถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร แม้กระทั่งการหักหลังฝ่ายเดียวกันเอง เปรียบเสมือนละครโรงใหญ่ ที่มีแต่ฉากการหลอกลวง 

ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่ผู้สื่อข่าวสายการเมือง ได้มีลงเห็นร่วมกันในการตั้งฉายาของรัฐบาล - รัฐสภาตลอดปี 2566 เป็นธรรมเนียมที่จะปฏิบัติในทุกๆ สิ้นศักราช ในฐานะที่ติดตามการทำหน้าที่ของรัฐบาล สส. และ สว.อย่างใกล้ชิด เพื่อสะท้อนความคิดเห็น และการทำหน้าที่ของผู้มีอำนาจ อย่างไร้อคติ อันจะเป็นการย้ำเตือนความบกพร่องต่อการทำหน้าที่ ให้ทบทวน ปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชน

info-AKA.jpg
Photo: ฉายารัฐบาล 2566 'แกงส้มผลักรวม'
ai-Info-Rattasapa Thai.jpg
Photo: ฉายาสภา 2566 'สภาลวงละคร'

กระนั้น สิ่งที่น่าจับสังเกตประการหนึ่งคือตำแหน่ง ‘คนดีศรีสภา’ ที่ถูกว่างเว้นมาต่อเนื่องถึง 13 ปี โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนสุดท้ายที่ได้รับตำแหน่ง คือ ‘ทิวา เงินยวง’ สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดีศรีสภาคนสุดท้าย (ตั้งแต่ปี 2553)

จึงไม่น่าแปลกใจที่จะถูกตั้งคำว่า เหตุฉะไหนตำแหน่งนี้จึงถูกว่างเว้น ไม่มีใครได้ครอบครองยาวนานหลายปี ทั้งๆ ที่กลไกของรัฐสภายังเดินหน้าต่อไปอยู่เรื่อยๆ ‘รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส’ คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ได้แสดงความเห็นเรื่องนี้กับ ทีมข่าว SPACEBAR ว่า คำว่า ‘คนดี’ เป็นคำที่มีนัยอธิบายได้หลายมุมมอง และขึ้นอยู่กับว่า ใครจะเป็นผู้นิยาม ถือเป็นคำที่เป็นนามธรรมสูง ส่วนตัวมองว่า ฉายานี้ จริงๆ มันไม่ควรจะมีแล้ว แต่ควรนิยามไปในทางเชิดชูความรู้ความสามารถ เพราะคำว่า 'ความดี' บางขณะก็กลายเป็น 'วาทกรรม' ที่ใครๆ ก็หยิบยื่นให้กันได้

"คนดีเป็นคำที่นิยามในแบบสากลได้ยาก เพราะขึ้นอยู่กับมุมมองของใคร อย่างช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองหนักๆ ผู้ชุมนุมบางกลุ่มก็นิยามว่าตัวเองเป็นกลุ่มคนดี ซึ่งคนทั่วไปจะรู้สึกอย่างนั้นหรือไม่ ก็อาจแตกต่างกันไป มันเป็นมุมมองทางการเมืองด้านเดียวเท่านั้นเอง และไม่สามารถหยิบยกขึ้นมาเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน ดังนั้นการไม่มีฉายาคนดีศรีสภา มาตลอด 13 ปี จึงไม่ใชเรื่องที่เราควรโฟกัส เพราะอันที่จริงก็ไม่ได้มีความสำคัญเท่าไหร่”

นันทนา กล่าว

นันทนา กล่าวต่อว่า การให้ฉายาคนดีศรีสภา เป็นการนำเอาคุณธรรมจริยธรรมนำความสามารถ ยิ่งการเมืองไทยมีการแบ่งข้างชัดเจน ต่อให้บุคคลที่ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างดีที่สุด (ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน) ก็ต้องมีคนไม่พอใจ ดังนั้นควรมีการให้ฉายานักการเมือง ในรูปแบบที่ผนวกทั้งเรื่องคุณธรรมจริยธรรม เข้าสอดแทรกกับเรื่องการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงฉิน และไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ที่จะต้องนำมาขบคิดมาก หากจะไม่เห็นการตั้งฉายาในลักษณนี้ เพราะการให้นิยามความหมายแค่ ‘ความดี’ มันอาจไม่ตอบโจทย์สังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปแล้ว  ในปัจจุบัน

การเปลี่ยนผ่าน ณ ที่นี้ เห็นได้จากสื่อตะวันตก จะมีรางวัลประจำปี ให้กับบุคคลที่โดดเด่นในทุกๆ องค์ประกอบ อาทิ Person of the year นิตยสารไทม์ (TIME)  

นันทนา ได้อธิบายลักษณะการเป็นนักการเมืองที่ดี ว่าต้องมองในลักษณะการสำรวจดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (Key Performance Indicators หรือ KPI)  พร้อมๆ กับนำความหมายทางรัฐศาสตร์เข้าไปประมวลผลด้วย ควบคู่ไปกับคุณธรรมจริยรรม คือ ‘การรักษาผลประโยชน์ของประชาชน’ ซึ่งเป็นแก่นสารจริงๆ ของการเป็นนักการเมือง

นันทนา นักสื่อสารการเมือง.jpg
Photo: ‘รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส’ คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

“หน้าที่ของผู้แทนฯ คือการแสดงบทบาทในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน หรือทำหน้าที่แทนประชาชนได้มากน้อยแค่นี้ อันนี้คือสิ่งที่ควรจะนำมานิยามคุณภาพของบุคลากรทางการเมือง ถ้าเขาทำบทบาทของเขาเต็มที่ สามารถผดุงเจตจำนงของประชาชนได้จริงๆ นี่จึงเหมาะสมกับการเป็นนักการเมืองแห่งปี”

นันทนา กล่าว

สำหรับการตั้งฉายาสภาลวงละคร ที่สื่อมวลชนได้นิยามการทำงานของ สส. ในปี 2566 ที่ผ่านมา นันทนา มองว่าเป็นการให้ฉายาที่สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองได้ดีที่สุด อีกทั้งยังคล้องจองกับฉายาที่สื่อทำเนียบฯ ตั้งให้กับรัฐบาลด้วย (แกงส้ม ‘ผลัก’ รวม) เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญต่อกลไกประเทศ แต่ที่ผ่านมาเข้าทำนอง ‘ผู้ชนะเลือกตั้ง แพ้จัดตั้ง’ สวนทางกับความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียง คือผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศ จนเกิดเป็นความงุนงงในสังคมไทยและสากล  พร้อมกันนี้ ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรูปแบบทางการเมืองระบอบรัฐสภา ที่ สส. มีส่วนในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐบาลด้วย

“มันสอดคล้องกันทั้งฉายารัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร เพราะปรากฏการณ์หลังเลือกตั้ง เป็นการบ่งชี้ให้เห็น ถึงบทบาทของนักการเมือง อันมีทิศทางกอบโกยผลประโยชน์ของพรรคหรือส่วนตัว มากกว่าประโยชน์ของประชาชน ในรูปแบบที่ทำให้ใครๆ มองว่าเขากำลังรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมอยู่ แต่อันที่จริงมันเปรียบเสมือนละครลวงโลก ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง เพราะประชาชนรับรู้เหตุการณ์มาตลอด โดยเฉพาะการจับมือข้ามขั้วเพื่อจัดตั้งรัฐบาล การไม่ทำตามนโยบายการหาเสียง และการออกมายอมรับความจริงว่าสิ่งที่แสดงไปตอนหาเสียงไม่ใช่ของจริง แต่มันคือการแสดงละครโรงใหญ่ ดิฉันจึงเห็นด้วยกับฉายานี้ เพราะทำให้เห็นว่า นักการเมืองไม่มีความจริงใจต่อประชาชน ในการที่จะรักษาผลประโยชน์ของประชาชน”

นันทนา นันทวโรภาส กล่าวทิ้งท้าย

ท้ายที่สุดก็หวังว่า 'ฉายา' ที่สื่อมวลชนตั้งให้กับบุคลากรทางการเมืองไทย จะไม่ใช่แค่การสร้างสีสันส่งท้ายปี แต่ขอให้ท่านผู้ทรงเกียรติ จงตระหนักถึงภาระรับผิดชอบอันใหญ่หลวง พร้อมกับการปรับปรุง และทำหน้าที่ตามบทบาทของตนเองให้ดีที่สุด ในฐานะผู้แทนราษฎร ที่ต้องมุ่งสร้างและรักษาผลประโยชน์ ให้กลับประชาชนและประเทศนี้อย่างจริงจัง และจริงใจ เยี่ยงนักการเมืองคุณภาพพึงจะเป็น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์