วันที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณของ ‘พรรคเพื่อไทย’ เดินเกมทางการเมือง ผ่านรูปแบบ ‘พญาเยี่ยมเมือง’ เดินทัวร์ริ่ง ทั้งบ้านเกิด ‘เชียงใหม่’ เยี่ยมเยียนถิ่นเศรษฐกิจภาคใต้ ‘ภูเก็ต’ ล่าสุด บุกหัวเมืองใหญ่ที่ราบสูง ‘โคราช’ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
เชื่อว่าการทำเกมรอบนี้ มี 2 นัยแอบแฝงซ่อนอยู่ 1) กรุยทางเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและประเทศ ผ่านการสร้างสัมพันธ์ - กระชับมิตร ‘บ้านใหญ่’ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของพรรค 2) สร้างกระแสปลุกผี ‘กองเชียร์’ เพื่อหวังเรตติ้งทางการเมือง
แต่ดูเหมือนการขยับของ ‘นายใหญ่’ ยังไม่อาจสร้างแรงตกกระทบกับใจประชาชนได้มากนัก โดยเฉพาะข้อมูลที่เปิดเผยแบบ สดๆ ร้อนๆ จาก ‘สถาบันพระปกเกล้า’ โดย สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับเครือข่าย 76 จังหวัด สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ‘ความนิยมในพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรี : 1 ปีหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาฯ 2566’ ออกลูก ‘เป็นโทษ’ มากกว่า ‘เป็นคุณ’ ต่อ ‘พรรคเพื่อไทย’
อาทิ ข้อมูลที่ระบุว่า ‘ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงนี้ คนส่วนใหญ่ยังคงจะเลือกพรรคก้าวไกลมากเป็นอันดับ 1 ทั้งสองบัตร’ และ ‘คะแนนนิยมของก้าวไกลทิ้งห่างเพื่อไทย และอาจได้ ส.ส. มากกว่าเพื่อไทย เกือบ 2 เท่า’ ทำเอา นายกฯ ‘เศรษฐา’ ต้องออกมารับสภาพว่า เรื่องนี้เป็นการสะท้อนความเห็นของประชาชน พรรคต้องให้ความเคารพกับข้อมูลที่ได้มา อย่างที่บอกว่าไม่อยากอ้างเรื่องงบประมาณปี 2567 ที่เพิ่งได้นำออกมาใช้ ซึ่งวันนี้จะมีการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
“เรื่องดัดหลังกัน คงต้องพักก่อน เพราะเมื่อความนิยมออกมาแบบนี้ ยังไงก็ต้องจับมือไว้ ไปด้วยกัน ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว”
เป็นความเห็นของ ‘ดร.สติธร ธนานิธิโชติ’ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ที่อ่านนัยผ่านตัวเลข ที่พวกเขาลงมือสำรวจ ซึ่งการที่คะแนนความนิยมของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ และ ‘พรรคก้าวไกล’ มาเป็นอำดับที่ 1 ทิ้งห่างแคนดิเดตนายกฯ และพรรคการเมืองอื่นๆ ชนิด 2 เท่า ทำให้เห็นมิติของการเมืองเชิงคณิตศาสตร์ ในแบบที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ และ ‘พรรคอำนาจเก่า’ ยังคงจำเป็นต้องผนึกกำลังต่อไปในการต่อสู้กับพรรคก้าวไกลต่อำป แม้สถานการณ์ ณ ขณะนี้จะอึมครึมอยู่ในทุกจังหวะการก้าวย่าง
โดยเฉพาะมุมวิเคราะห์ต่อกรณี ‘ขั้วอนุรักษ์นิยม’ กำลังจะหักหลัง ‘เพื่อไทย’ จากปรากฏการณ์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คนได้ร่วมกันเข้าชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ และมีทีท่าว่า ‘ทักษิณ’ อาจจะเอาคืน ทุกอย่างคงต้อง ‘ยุติ’ ไปก่อนเป็นการชั่วคราว และมิเช่นนั้นจะไม่มีใครคอยสกัดคะแนนความนิยม ที่จะไปตกใน ‘ขั้วเสรีนิยม’ ในวันที่รัฐบาลยังไร้ผลงาน
เมื่อถามว่า อะไรคือเหตุผลที่คะแนนนิยมของ ‘เพื่อไทย’ ตกต่ำถึงเพียงนี้ ทั้งๆ ที่ ‘นายใหญ่’ เปิดหน้าทำเกมเอง สติธร เชื่อว่า การลงพื้นที่ของทักษิณ หรือการจัดอีเวนต์แบบออนทัวร์ของเศรษฐา ยังเป็นการเดินหมากในช่วงต้นอยู่ เสมือนการ ‘ไถหว่านพวนดิน’ และ ‘กระชับความสัมพันธ์’ กับการเมืองบ้านใหญ่ เพื่อเหนี่ยวนำฐานคะแนนนิยมให้ยังคงอยู่กับพรรคเพื่อไทย -ไม่ตีตนออกห่าง หรือไปสนับสนุนขั้วตรงข้าม (พรรคก้าวไกล)
ดังนั้น การขยับเขยื่อนในช่วงแรกจึงยากต่อการสำรวจหาผลลัพธ์ หรืออีกนัยคือรูปธรรมที่มาในรูปแบบเชิงนโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับรัฐบาล แตกต่างกับพรรคก้าวไกล ที่ยังคงทำหน้าที่ฝ่ายค้านต่อเนื่องมา 2 สมัย และยังคงรักษามาตรฐานได้ดี
การที่ประชาชนบางส่วนเทคะแนนมาให้เ พราะเบื่อหน่ายการเมืองแบบเดิมๆ รวมถึงยังไม่สามารถสลัดภาพ ‘การตระบัตย์สัตย์’ ช่วงเลือกตั้ง 66 ออกไปได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทิศทางคะแนนนิยม จากฐานแฟนคลับเพื่อไทย ไหลบ่าออกมาสนับสนุนก้าวไกล อย่างชัดเจน ตรงนี้คือโจทย์สำคัญที่ 'นายใหญ่' ต้องอ่านให้ขาด ว่าจะหยุสภาวะเลือดไหลออก ได้เช่นไร
“คะแนนนิยมเพื่อไทยจะดีขึ้น มันขึ้นอยู่กับผลงานขณะที่เป็นรัฐบาล แต่วันนี้หนึ่งปีผ่านไปประชาชนอาจมองว่า ยังไม่ค่อยเห็นผลงาน โดยเฉพาะนโยบายเรือธง ที่ยังไม่เป็นรูปธรรมเสียที ส่วนคุณทักษิณก็อาจมีส่วนแค่ใช้ยี่ห้อตัวเอง ในการขายความเชื่อมั่นว่าสุดท้ายต้องทำได้”
สติธร ธนานิธิโชติ กล่าว
โพลก็คือโพล ?
ส่วนกรณีที่ผลสำรวจฉายภาพการเลือกตั้งในอนาคต ออกมาในแบบที่ ‘คะแนนจากบัตร 2 ใบ’ จะตกไปอยู่กับพรรคก้าวไกลเยอะขึ้น และทิ้งห่างลำดับที่สองอย่างพรรคเพื่อไทย ถึงร้อยละ 17.6 (แบ่งเขต) และร้อยละ 24.7 (บัญชีรายชื่อ) สติธร อธิบายถึงปรากฏการณ์ต่อว่า มันเป็นกระแสต่อเนื่อง ในเมื่อประชาชนไม่สามารถให้ความหวังกับรัฐบาลได้ แต่สำหรับ ‘สส.แบบแบ่งเขต’ แบบสำรวจก็อาจสะท้อนได้ระดับหนึ่ง เพราะมีข้อจำกัดตามสภาพความเป็นจริงบางประการอยู่
สำหรับการทำแบบสอบถามชิ้นนี้ ถูกจัดทำ ณ วันที่ 7-18 พฤษภาคม 2567 ทำให้ความเห็นสอดคล้องกับ ‘คะแนนนิยมพรรค’ หรือ ‘บัญชีรายชื่อ’ ที่ ณ วันนี้จะคล้อยตามก้าวไกล ตามสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ กลับกันหากเข้าสู่ฤดูเลือกตั้ง มีการเปิดตัวผู้สมัครแบบแบ่งเขต ทิศทางก็จะขึ้นอยู่กับ ‘บุคคล’ ที่ถูกส่งลงสนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อไทย ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ ที่มี ‘บ้านใหญ่’ เป็นฐานอำนาจหลักอยู่แล้ว ซึ่ง
ที่สำคัญแม้ก้าวไกลจะมีคะแนนนิยมนำพรรคอื่นแบบ 2 เท่า แต่ตัวเลขไม่ได้แตกต่างกับผลสำรวจก่อนหน้านี้มากนัก โดยเฉพาะตั้งแค่ช่วงหลังเลือกตั้ง 66 เป็นต้นมา เพราะการเมืองยังไม่มีจุดหักเหที่สำคัญขนาด ซึ่งถึงเวลา ผลสำรวจอาจเปลี่ยนแปลงไปตามการสถานการณ์
“โพลมันก็คือโพล แต่สนามจริงมันคือการเลือกตั้ง ยังมีเวลาให้ทำงานกันทั้งสองฝ่าย”