ปัดฝุ่น ‘ทัวร์นกขมิ้น’ สร้างความนิยมให้ ‘เพื่อไทย’ ได้หรือไม่ ?

13 พ.ค. 2567 - 08:20

  • วิเคราะห์การปัดฝุ่น ‘ทัวร์นกขมิ้น’ หมัดเด็ดของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ กับการทำการเมืองแบบ ‘คลุกวงใน’ และความเห็นเรื่องการเพิ่มคะแนนนิยมให้กับ ‘พรรคเพื่อไทย’ ผ่านมุมคิดของ ‘ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

Analysis-of-the-politics-of-the-Canary-Tour-SPACEBAR-Hero.jpg

“เจ้านกขมิ้นเหลืองอ่อน ค่ำลงแล้วจะนอนที่รังไหน”

เป็นจำกัดความตัวตนของ ‘นกขมิ้น’ ที่มักโยกย้ายถิ่นฐานอยู่เป็นประจำ ค่ำไหนนอนนั่นอยู่ร่ำไป กลายเป็นที่มานิยาม ‘การลงพื้นที่ทางการเมือง’ ในยุครัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่คลับคล้ายกับพฤติกรรมนกน้อย และถือเป็นการพบปะประชาชนแบบ ‘เข้าถึง’ ครั้งแรกๆ ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

คอการเมืองรุ่นลายคราม (หลายคน) เคยนิยาม ‘ทัวร์นกขมิ้น’ ว่าเป็น ‘เรียลลิตี้แก้จน’ เพราะมีการถ่ายทอดสดผ่านทีวีดาวเทียม มีแบบแผนการปฏิบัติไม่ซับซ้อน หมุดหมายหลักคือการ ‘คลุกวงใน’ ตามพื้นที่อันมีเป้าหมาย เพื่อ ‘รักษาฐานเสียง’ หรือ ‘กรุยทางเรียกคะแนน’ ก่อนทำการใหญ่  

เรียกได้ว่าเป็น ‘หมัดเด็ด’ ของ ‘ทักษิณ’ ก็ไม่เกินจริง 

มาวันนี้ผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี เข้าสู่การเมืองยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นำโดย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ และพลพรรค ‘ไม่เอาก้าวไกล’ ดำเนินยุทธวิธีแบบออนทัวร์ ถือเป็นการนำกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง พอดิบพอดีกับห้วงจังหวะที่ นโยบายเรือธงของ ‘พรรคเพื่อไทย’ อย่าง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ระงมไปทั่ว รวมถึงสถานการณ์หลังการปรับคณะรัฐมนตรี ‘เศรษฐา 1/1’ ที่หลายคนเชื่อว่า มีรอยร้าวอยู่หลังรอยยิ้มของบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลายแหล่  

ทัวร์นกขมิ้นจึงมีนัยทางการเมืองซ่อนเร้นอยู่หลายประการ 

ประการแรก คือการพยายามฉายภาพให้เห็น การทำงานร่วมระหว่าง ‘รัฐบาล’ กับ ‘สส.พื้นที่’ ท่ามกลางความขัดแย้งแฝงลึกในรัฐบาลที่เต็มไปด้วย ‘บ้านใหญ่’ ของพรรคการเมืองต่างๆ  

มีการต้อนรับขับสู้จากกลุ่มการเมืองสำคัญ อาทิ ‘นายน้อยเมืองสุพรรณฯ’ อย่าง ‘วราวุธ ศิลปอาชา’  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ‘บ้านใหม่เมืองกาญจน์’ ของ ‘สุรพงษ์ ปิยะโชติ’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ ‘เจ้าตลาดเมืองราชบุรี’ อย่าง ‘นภินทร ศรีสรรพางค์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 

ประการที่สอง การขยายอิทธิพลของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ในจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ฝั่งตะวันตก หรือ ‘จังหวัดสี่บุรี’ (สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี) ซึ่งมีทั้งพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย และบ้านใหญ่พรรคร่วมรัฐบาลปะปนอยู่ เชื่อกันว่าเป็นการพยายาม ‘ฉีกนโยบาย’ ของตัวเอง ให้มีความแตกต่างจากกลุ่มบ้านใหญ่ เป็นการเจาะฐานเสียงในพื้นที่ต่างๆ - ซาวน์เช็กความเป็นไป เพื่อปูทางเลือกให้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้า  

ประการที่สาม คือการตอกย้ำเรื่อง ‘พันธสัญญา’ เรื่องงบประมาณ หรือโครงการที่ภาครัฐจะมอบให้กับประชาชน ชนิดที่อ่านแล้วเป็นการ ‘โปรยยาหอม’ เหมือนๆ กับยุคของรัฐบาลทักษิณ ที่มีการชูจุดแข็งของจังหวัดนั้นๆ เป็นการให้คำมั่นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาปากท้องของชาวบ้าน โดยเฉพาะ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่นายกฯ แทบจะเอ่ยถึงชื่อโครงการในทุกๆ เวที 

ประการที่สี่ คือความสอดคล้องกับการทำงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ที่สนับสนุนงบประมาณในจังหวัดต่างๆ มีรายงานว่า ในจังหวัดที่เกิดทัวร์นกขมิ้น จะได้รับการอนุมัติงบฯ มากกว่าปีที่ผ่านมา จนเชื่อได้ว่าจะมีผลต่อการ ‘เลือกตั้งนายก อบจ.’ ที่จะเกิดขึ้นในต้นปีหน้าด้วย 

อย่างไรก็ดี หากอ่านมุมมองตามหลักรัฐศาสตร์ จะเห็นได้ว่า รูปแบบการเดินกลยุทธ์แบบดั้งเดิมของพรรคเพื่อไทย มีความสอดคล้องกับแนวคิดของ ‘พรรคอนุรักษ์นิยมใหม่’ หรือที่เรียกว่าสายปฏิบัติ ซึ่งย่อมถูกนำไปเปรียบเทียบกับการเดินเกมของ ‘พรรคเสรีนิยม’ อย่าง  ‘พรรคก้าวไกล’ ที่ใช้จังหวะการทำทัวร์นกขมิ้นของรัฐบาล ลงพื้นที่ในฝากฝั่งตะวันออกห้วงเวลาเดียวกัน

“การทำทัวร์นกขมิ้นของฝ่ายรัฐบาล ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับการลงพื้นที่ของฝ่ายค้านเหมือนกัน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่เดินทางไปตะวันออก เพื่อไทยไปตะวันตก ข้อดีของปรากฏการณ์นี้ ประชาชนได้เห็นวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาท้องถิ่นของทั้งคุณพิธา และคุณเศรษฐาไปพร้อมๆกัน”

เป็นความเห็นของ ‘ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ต่อกรณีการจัดกิจกรรมทัวร์นกขมิ้นของรัฐบาล ช่วงวันที่ 10 - 14 พฤษภาคม 2567 โดยฉายภาพควบคู่ไปกับการลงพื้นที่ของพรรคก้าวไกล ในจังหวัดภาคตะวันออก ว่า การดำเนินกลยุทธ์ของพรรคเพื่อไทย ยังคงรูปแบบดั้งเดิม เหมือนๆ กับเมื่อ 20 กว่าปีแล้ว เพราะ ‘ไม่มีอะไรใหม่’  

ดังนั้น ภาพการจัดทำกิจกรรมยังดูตามหลังพรรคฝ่ายค้าน ในมิติ ‘ความฉีก’ เนื่องจากพรรคก้าวไกลพยายามเสนอแนวคิด ‘นำจุดที่มองข้ามมาเป็นจุดแข็ง’ ต่างจากพรรคเพื่อไทย ที่ใช้แต่สิ่งที่มีอยู่มาต่อยอดเพียงเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นโครงการเพียงชั่วครั้งคราว ‘แบบมาแล้วไป’ ทำให้ประชาชนอาจไม่ได้รับการพัฒนาที่ยั่งยืนได้  

อาจารณ์ประจำคณะรัฐศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์ที่จะมีผลพวงไปถึงการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ จากปรากฏการณ์ทัวร์นกขมิ้น ว่าอาจล้าหลังและอาจไม่ตอบโจทย์ฐานเสียงอีกต่อไป โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ‘นายกฯ อบจ.’ ในเมื่อนโยบายของรัฐบาลและท้องถิ่น ไม่มีความสอดคล้องกัน ก็ไม่อาจเปลี่ยนใจชาวบ้านได้ เพราะบางขณะท้องถิ่นอาจมีความเข้มแข็งอยู่เป็นทุนเดิม ในแง่คะแนนนิยมส่วนตัว  

ทว่า ‘โครงการดิจิทัลวอลเล็ต’ อาจสร้างแรงกระเพื่อมได้ไม่มากก็น้อย หากสามารถดำเนินโครงการในพื้นที่ได้เร็วขึ้น ก็จะส่งผลต่อการเลือกตั้งนายกฯ อบจ.ต้นปีหน้าด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครลงเข้าแข่งขัน แต่หากโครงการต้องสะดุดหรือไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจลดทอนความเชื่อมั่นของชาวบ้านได้ด้วยเช่นกัน 

โดยจะเห็นภาพชัดเจน ในการเลือกตั้งใหญ่ ปี 2570 ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายของ ‘ทัวร์นกขมิ้น’ ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่นั้นๆ ได้แบบถอนรากถอนโคน

“คืออย่าลืมว่าคนในพื้นที่จะเป็นผู้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ มีแนวโน้มที่แนวคิดของประชาชนจะเปลี่ยนไป ทั้งเรื่องความนิยมส่วนตัว หรือความถูกต้องทางการเมือง มากกว่าการเอางบประมาณมาหว่านแล้วจะได้รับความนิยมมากขึ้น อย่างการวางกลยุทธ์แบบทัวร์นกขมิ้น อนาคตมันอาจไม่เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วครับ” 

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง กล่าวทิ้งท้าย

ดอกเอ๋ย เจ้าดอกขจร นกขมิ้นสีเหลืองอ่อน

เมื่อไหร่เจ้าจะนอน ‘ทำเนียบฯ’ เสียที เอย...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์