"ผมกลับมาแล้ว ขอทวงคืนคะแนนเสียงจากพี่น้องชาวอุดร และพี่น้องชาวอุดรก็ให้อย่างชัดเจน เลือกตั้งคราวหน้าขอให้ชัดกว่านี้อีกหน่อย เราจะได้มั่นใจว่าเราจะได้อยู่กับพี่น้องชาวอุดรฯ ดูแลพี่น้องตลอดไป"
การสื่อสารส่วนหนึ่ง ผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่มอบให้แด่ ‘ศราวุธ เพชรพนมพร' ผู้สมัครหมายเลข 2 จากพรรคเพื่อไทย และชาวจังหวัดอุดรธานี หลังสามารถเอาชนะในศึกเลือกตั้ง นายกอบจ.อุดรฯ โดยมีคะแนนนำไม่คู่แข่งตัวฉกาจอย่าง 'คณิศร ขุริรัง' ผู้สมัครหมายเลข 1 จากพรรคประชาชน อยู่ที่ 58,812 คะแนน
แม้จะไม่ถึงขั้น ‘เส้นยาแดงผ่าแปด’ แต่ก็ห่างไกลกับ ‘ชนะขาดลอย’ สมรภูมิท้องถิ่นจึงถูกตั้งคำถาม ว่า ‘แบรนด์ทักษิณ’ ยังขายได้หรือไม่ ? ทว่าการออกมาตอกย้ำชาวอุดรฯ ของ ‘ทักษิณ’ ผ่านการพูดคุยทางไกลหลังปิดหีบ ย่อมแสดงให้เห็น ว่าต่อให้เป็น ‘เมืองหลวงคนเสื้อแดง’ ก็หาใช่จะง่ายในการเอาชนะ ‘กระแสพรรคส้ม’
‘พรรคส้ม’ ยังไม่ถือว่าทำสำเร็จ - 'เพื่อไทย' ยังคงครองแชมป์ต่อ
ยิ่งมองไปถึงฉากทัศน์การเลือกตั้งปี 2570 ที่หลายพรรคการเมืองเริ่มประกาศศักดาเดินหน้าทำนโยบายกันแล้ว หากไม่ถอดบทเรียนสนามท้องถิ่นสำคัญ ‘เพื่อไทย’ อาจต้องหืดขึ้นคอ
มันจะสอดประสานมากมายแค่ไหนแล้วแต่มุมคิด แต่ในสายตาของ ‘รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย’ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า แม้พรรคประชาชนจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทั้งๆ ที่ก็ระดมสรรพกำลังจากแกนนำเก่า - ใหม่ เต็มอัตราศึก แต่ตัวเลข 8 หมื่นกว่าๆ ที่เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2563 ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะบริบทการเลือกตั้งในวันนั้นกับวันนี้มีความต่าง
ประการแรก เมื่อปี 2563 ถือเป็นการเลือกตั้ง นายก อบจ. ครั้งแรก หลังมีการเปลี่ยนกติกา ประกาศใช้ ‘กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562’ ซึ่งถูกร่างขึ้นโดย ‘คสช.’ โดยขณะนั้นได้สร้างความสับสนอยู่ โดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติผู้ลงรับสมัคร - ช่วยหาเสียง
ประการที่ 2 การเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งที่ผ่านมา ยังมีกลิ่นอายการ ‘รัฐประหาร’ อยู่ ทำให้สนามท้องถิ่นมีตัวเลือกหลายคน ดังนั้นคะแนนจึงแบ่งออกไปหลายทาง หาใช่เป็นการขับเคี่ยวกันในลักษณะ 2 พรรคการเมืองอย่างชัดเจน เฉกเช่นการเลือกตั้งวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
“การต่อสู้ครั้งที่ผ่านมา เปรียบเสมือนการปะทะกันของ 2 พรรคการเมือง ไม่สามารถเทียบได้กับเมื่อปี 2563 ฉะนั้นการที่พรรคประชาชนได้คะแนนเพิ่มแค่ 8 หมื่น จริงๆ ผมยังคิดว่าไม่น่าใช่เรื่องน่าพอใจเท่าไหร่ และอาจไม่ถึงขั้นประสบความสำเร็จเลยด้วยซ้ำ เพราะพรรคเพื่อไทยยังสามารถรักษาฐานเสียงสำคัญของตัวเองได้เกือบหมด”
ในมุมของยุทธพรกับการเปรียบเทียบฉากทัศน์การเลือกตั้ง 2570 กับผลคะแนนเลือกตั้ง นายก อบจ. อุดรฯ ที่ผ่านไปหมาดๆ เป็นไปได้ว่าจะมีหลายพรรคการเมืองมาช่วงชิงพื้นที่เพราะเป็นจังหวัดใหญ่ แต่อย่างไรเสียการที่ ‘เพื่อไทย’ จะทวงแชมป์แบบเบ็ดเสร็จ ชนิดเอาทุกเขต เพื่อทวงคืนศักดิ์ศรีความเป็นเมืองหลวงคนเสื้อแดงนั้น ‘เป็นไปได้ยาก’ แต่มีความเป็นไปได้สูง ที่จะเป็น ‘แชมป์จังหวัด’ (ได้รับเลือกมากที่สุด) เพราะหากดูองค์ประกอบต่างๆ ก็นับว่าเป็นต่อพรรคการเมืองอื่นๆ อยู่อีกหลายๆ โดยเฉพาะการมีกลุ่มบ้านใหญ่คอยหนุนอย่าง ‘ตระกูลขาวขำ’ ซึ่งยังภักดีกับ ‘ตระกูลชินวัตร’ อยู่
ยิ่งวิเคราะห์จากการเดินเกมของ ‘ทักษิณ’ ก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย มีเป้าหมายสำคัญในการเดินทางมาอุดรฯ หาใช่แค่ช่วยผู้สมัครหาเสียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป้าหมายหลักคือการ ‘กระชับพื้นที่’ ทั้งในแง่ของการเข้าหาฐานเสียงที่เคยให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทย หรือเพื่อการสร้างความมั่นใจให้กับตระกูลการเมือง - ผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในภาคอีสานดังนั้นเป้าหมายสำคัญจริงๆ คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มการเมืองและกลุ่มทุนในพื้นที่ ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อสนามเลือกตั้งใหญ่
“ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาชน ต่างก็มุ่งที่จะพิชิตพื้นที่อีสาน เพื่อให้เกิดโดมิโน่ทางการเมือง แต่เอาเข้าจริงคู่แข่งที่สำคัญของคุณทักษิณจริงๆ ไม่ใช่สีส้ม แต่เป็นพรรคสีน้ำเงิน ที่มีฐานเสียงเหมือนกัน ซึ่งเขาก็พร้อมเก็บเกี่ยวผลที่ล่วงหล่นในวันที่ช้าง 2 ตัวกำลังฟาดงวงฟาดงาใส่กัน”
ยุทธพร กล่าวทิ้งท้าย
สนาม ‘ท้องถิ่นอุดรฯ’ อาจส่งผลต่อเลือกตั้งใหญ่ ‘ แบบ 'เชียงใหม่โมเดล’
ขณะที่ ‘จตุพร พรหมพันธุ์’ อดีตแกนนำคนเสื้อแดง ในฐานะวิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน มีมุมมองสวนทางกลับนักรัฐศาสตร์ ในมิติของการเลือกตั้งใหญ่ ‘พรรคประชาชน’ อาจได้ สส. เขตในจังหวัดอุดรธานีเพิ่มขึ้น โดยเทียบเคียงกับการเลือกตั้งนายก อบจ. จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2563 ซึ่ง ณ ขณะนั้น ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้ส่ง ‘พิชัย เลิศพงศ์อดิศร’ ลงแข่งขัน และได้รับชัยชนะจาก ‘บุญเลิศ บูรณุปกรณ์’ แชมป์เก่า แต่เมื่อการเลือกตั้งใหญ่ ปี 2566 มาถึง ผู้ที่ได้รับอนิสงค์คือ ‘พรรคก้าวไกล’ (ณ ขณะนั้น) ที่ได้ สส.จังหวัดเชียงใหม่ 7 จาก 10 เขต ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้เพียง 2 เขต และเสียพื้นที่ซึ่งเป็นฐานเสียงให้พรรคมาอย่างยาวนาน
“มันเหมือนเป็นจุดเริ่มต้น เพราะผมไม่ได้มองว่าจะต้องชนะเพียงแต่สนามนายกอบจ. ศราวุธเขาแบเบอร์มาแต่ต้น จริงๆ ไม่ต้องแข่งขันเลยก็ได้ เพียงแต่เมื่อคุณทักษิณลงพื้นที่ทำให้กระตุ้นทั้งพรรคส้มและประชาชน จนกระทั่งพรรคประชาชนได้คะแนนมากกว่าที่คิด”
จตุพร มองมุมต่างว่า การที่ ‘ทักษิณ’ แสดงวิสัยทัศน์บนเวทีปราศรัย กลับเป็นผลดีให้กับพรรคประชาชน โดยเชื่อว่าฐานเสียงเพื่อไทยบางส่วน ที่ได้รับฟังการช่วยหาเสียง มีแนวคิดไม่ตรงกับพรรคเพื่อไทย จึงหันมาเลือกผู้สมัครที่พรรคประชาชนให้การสนับสนุน แต่หากทักษิณไม่เคลื่อนไหว เกมของเพื่อไทยที่อุดรธานีจะสะดวกโยธินมากกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องคะแนนเสียง จะทิ้งห่างพรรคส้มโดยสมบูรณ์ และปรากฏการณ์ที่เกิด โดยมีทักษิณ เป็นตัวเปลี่ยนเกมอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งใหญ่ สอดรับกับความเห็นข้างต้นที่คิดว่า ‘อุดรฯ’ จะมีแนวทางคล้ายคลึงกับ ‘เชียงใหม่’
ดังนั้น หากให้วิเคราะห์ถึงชัยชนะของพรรคเพื่อไทย จึงไม่ได้มีผลพวงมาจากการลงพื้นที่ของทักษิณ แต่เป็นเพราะฐานเสียงเดิมที่ให้การสนับสนุนศราวุธมีอยู่แล้วมีเหลือล้น ส่วนการเดินหมากของผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย มีเป้าหมายหลักคือ ‘การส่งสัญญาณรอบทิศ’ เพื่อรักษาฐานเสียงดั้งเดิมเท่านั้น เพราะ ‘แบรนด์ทักษิณ’ แม้จะยังหลงเหลืออยู่ ก็ไม่ได้มีพลังเฉกเช่นแต่ก่อน โดยเฉพาะฐานเสียงที่เป็น ‘แดงอุดมการณ์’ ย่อมไม่สามารถรับการกระทำที่ผ่านมาได้ ซึ่งการตอบรับในลักษณะดังกล่าว ก็ส่งผ่านมายังผลลัพธ์ในสนามท้องถิ่น แม้จะไม่เพียงพอต่อการส่ง ‘พรรคส้ม’ ให้เอาชนะได้ก็ตามที
“ในทางการเมืองสัดส่วนมันออกมาแบบนี้ ถ้าพรรคเพื่อไทยมองเป็นผลดี ผมว่ามันเป็นการเข้าข้างตัวเอง มันอาจเป็นแค่การชนะในสนามอบจ. (ที่ยังไงก็ชนะอยู่แล้ว) เพียงแต่สนามเลือกตั้ง สส. ผมว่าเขาจะแพ้ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะแพ้พรรคส้มหรือพรรคสีอื่นๆ ที่พยายามเตรียมสอดแทรกอยู่ อบจ. เป็นเพียงสถานการณ์เฉพาะหน้า เราต้องให้กาลเวลาทำหน้าที่ของมันไป เราต้องไม่ลืมว่าทั้งคุณทักษิณ และคุณอุ๊งอิ๊ง (แพทองธาร ชินวัตร) ยังมีอีกหลายหลายมรสุมที่ต้องเผชิญอีกหลายเรื่อง”
จตุพร กล่างทิ้งท้าย