‘คนสมัคร สว.’ น้อย เป็นเพราะ ‘รัฐธรรมนูญ 60’ ไม่เห็นหัว ‘ประชาชน’

23 พ.ค. 2567 - 09:37

  • ไขข้อสงสัย ‘ทำไมคนสมัคร สว.’ น้อย กับรอยด่างของ ‘กกต.’ และ ‘ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 60’ ที่จะส่งผลต่อประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้ากับ ‘ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข’ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Analysis- People-reasons-Few-Senate-applicants-SPACEBAR-Hero.jpg

เป็นปฐมฤกษ์สำหรับศักราชของการเลือก ‘สมาชิกวุฒิสภา 2567’ อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤาภาคมที่ผ่านมา หลังประชาชนจำนวนหนึ่งต่างทยอย แสดงเจตจำนงค์ก้าวเข้าสู่ระบบการ ‘คัดเลือก’

แต่หากมองในความหมายด้านคณิตศาสตร์การเมือง ก็สร้างความตกใจไม่ใช่น้อย สำหรับตัวเลขผู้สมัคร 3 วันที่ผ่านมา มีจำนวนเพียง 20,683 คน แตกต่างกับการคาดการณ์ของ ‘คณะกรรมการการเลือกตั้ง’ ที่เคยเปิดเผยว่า อาจมีประชาชนร่วมแสน จะเข้าร่วมกระบวนการในครั้งนี้  

กอปรกับข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ‘การรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือก สว. 2567’ (จาก 1,620 กลุ่มตัวอย่าง) โดย ‘สถาบันพระปกเกล้า’ เปิดเผยผลเชิงสถิติออกมาว่า ‘คนไทยเกือบ 1 ใน 4 ยังไม่ทราบว่า กำลังจะมีการเลือก สว.ชุดใหม่’

ทั้งหมดทั้งมวลแสดงให้เห็นนัยบางประการ ที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังของมหกรรมการเลือกสรรหา ‘สภาสูง’ จนคำถามสารพัดชนิด ถูกโต้กลับไปที่ ‘กกต.’ โดยเฉพาะรูปแบบการเลือกที่สร้างความฉงน และดูไม่เอื้อต่อการตรวจสอบปมทุจริต พร้อมกับตั้ง ปุจฉาถาม ‘ผู้ออกแบบกติกาพิสดาร’ อันเป็นมรดกที่วางไว้แล้วใน **‘รัฐธรรมนูญปี 2560’ ** ต้นน้ำสำคัญของความมึนงง และความไม่มั่นใจของประชาชน ในการเฟ้นหาสว. รอบนี้ 

“มันเป็นตุ๊กตาที่ถูกวางไว้แต่แรกแล้ว ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้การเลือกสว.ออกมาในแบบที่เราเห็น ซึ่งตอนนี้ผมกำลังรวบรวมความเห็นของคนที่มีส่วนร่วมในการร่าง รธน. ฉบับนี้อยู่ เพราะกระบวนการที่เขาออกแบบ มันไม่เคยมีประชาชนอยู่ในสมการมาตั้งแต่แรกแล้ว”

เป็นความเห็นของ ‘ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข’ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สะท้อนแรงตกกระทบกลับหลัง ไปถึงผู้มีส่วนร่วมในการร่าง รธน. 60 กรณีที่หลายคนพยายามแก้ต่างระบบการเลือก สว. ฉบับพิสดารว่า ‘ไม่มีระบบใดสามารถป้องกันการฮั้วได้จริง แต่ขึ้นอยู่กับประชาชนเองที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือ’

ปุรวิชญ์ มองว่า ตั้งแต่ระเบียบผู้สมัคร ขั้นตอนรับสมัคร ไปจนถึงห้วงการคัดเลือก ถูกจงใจทำให้เกิดประชาชนเกิดความงงงวย ส่งผลให้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการน้อย (มาก) สามารถจำแนกแบ่งออกเป็น 3 ปัจจัย คือ 1) กติกาที่ซับซ้อน ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก 2) ความไม่มั่นใจของประชาชน ต่อกรณีการ ‘ฮั้ว’ หรือ การ ‘ล็อกผลโหวต’ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และ 3) การปรากฎของ ‘ตัวละครลับ’ หรืออีกนัย คือบุคคลที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วในทางการเมือง อาทิ ‘สมชาย วงษ์สวัสดิ์’ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งมวลทั้งมวล ล้วนเป็นปัจจัยให้ภาคประชาชนรู้สึกว่า ‘ขาดโอกาส’ ทั้งสิ้น 

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า  นอกจากปัจจัยในเชิงเทคนิคแล้ว 2 องค์ประกอบสำคัญ ที่ทำให้ประชาชนไม่สนใจกับการเลือก สว. อย่างแรกคือ การออกแบบให้ผู้สมัครต้องเสียเงิน 2,500 บาท ซึ่งเป็นเป็นต้นทุนที่สูงมากสำหรับหลายคน รวมถึงการกำหนดลักษณะต้องห้าม ต้องไม่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกต้ัง เพราะ ‘ขาดการเลือกตั้ง’ ซึ่งตาม รัฐธรรมนูญ 60 มีการระบุว่า หากไม่ได้ไปเลือกตั้งจะถูกตัดสิทธิ์ทันที 2 ปี  

ส่วนประเด็นที่ดูจะเป็นที่กังวลที่สุด อย่างการทุจริตด้วยเม็ดเงิน โดยวิเคราะห์จากสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถเกิดได้ในทุกระดับของการคัดเลือก ไม่ว่าจะภายในกลุ่มอาชีพ หรือกลุ่มคัดเลือกระดับพื้นที่

“ถ้าตอบคำถามนี้ตามสถานการณ์จริง ผมเชื่อว่ามันจะเกิดการฮั้ว - การบล็อกได้ตั้งแต่ระดับอำเภอแล้ว และเมื่อเข้าสู่ 200 คนก็จะอาศัยชื่อกลุ่มการเมืองใหญ่ กระบวนการมันจะไม่เหมือนในระดับอำเภอซึ่งเป็นเรื่องของเครือข่าย ซึ่งอันนี้เป็นข้อมูลเก่าที่เคยมีการทดลองเลือกแล้วในปี 2561 มีการบอกราคาด้วย ว่าจ่ายกันเท่าไหร่ นึกไม่ออกให้คุณลองนึกภาพตอนปี 2540 ที่เรียกว่า สภาผัวเมียได้เลย”

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข กล่าว

เมื่อถามว่า การที่ประชาชนมีส่วนร่วมเยอะ จะส่งผลอย่างไรกับการทุจริตในการเลือกแบบระบบปิด ปุรวิชย์ เชื่อว่า ถ้าในระดับอำเภอ (ในกลุ่มอาชีพ) มีผู้สมัครน้อย จะง่ายต่อการบล็อกโหวต  แต่ถ้ามีตัวแทนจากประชาชน ที่ไม่ได้เป็นกลุ่มตัวแทนของพรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วม ย่อมทำให้กระบวนการในการทุจริตเกิดยากขึ้น เสมือนเป็นการเพิ่มตัวแปรในสมการ 

ส่วนการที่ตัวเลขผู้ประสงค์ลงรับสมัคร สว. มีจำนวนมาก - น้อย จะเป็นการฉายมิติทางสังคมด้านใดนั้น ปุรวิชย์ มองว่า หากในวันพรุ่งนี้ (24 พฤษภาคม) ซึ่งเป็นวันรับสมัครวันสุด ปรากฎตัวเลขที่น้อยกว่าระดับคาดการณ์ ย่อมถูกตั้งคำถามได้ ว่า สว. ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในอีก 5 ปีข้างหน้า ผ่านระบบการคัดเลือกอย่างเป็นทางการ มีชอบธรรมหรือไม่  

เพราะในเมื่อรัฐธรรมนูญระบุชัดว่า ‘สว.คือผู้แทนปวงชนชาวไทย’ แต่เมื่อกติกาออกมาแบบนี้ แล้วตัวเลขการสมัครออกมาแค่หลักหมื่น ย่อมจะถูกถามกลับว่า ‘คุณคือตัวแทนของใคร’ ซึ่งมันก็ย้อนกลับไปที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ที่บอกว่าประชาชนคือผู้ตัดสิน ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 จะถูกพูดถึงอีกในระยะยาว เพราะประชาชนเห็นปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้น

“ไอเดียใหญ่ของรัฐธรรมนูญปี 2560 คือการกีดกันประชาชน ผ่านการทำให้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ เลือกตั้ง สว. ครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งหมากกล ที่ซ่อนเอาไว้โดยคณะรัฐประหาร และเมื่อกระบวนการได้มาซึ่งวุฒิสภามันมีปัญญหา มันก็จะเกิดคำถามต่อเนื่องถึง ถึงการมีอยู่ของระบบสภาสองสภา และก็จะนำไปสู่โจทย์ต่อไป คือการแก้ไขรัฐธรรมในที่สุด แต่สำหรับเรื่องเฉพาะหน้าก็อยากให้ประชาชนไปสมัครกันเยอะๆ เพราะพรุ่งนี้ก็วันสุดท้ายแล้ว”

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์